มติคณะรัฐมนตรี จัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ในปีงบประมาณ 2556 ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) วงเงิน 5,000 ล้านบาท


กองทุนตั้งตัวได้ 


1. ความเป็นมาของกองทุนตั้งตัวได้
รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างวิสาหกิจนวัตกรรม และแนวทางเศรษฐกิจใหม่ และนโยบายข้อ 1.10.3 กำหนดว่าจะจัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ในวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อสถาบันการศึกษาที่ร่วมโครงการ ในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา สนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อให้สามารถกู้ยืม ร่วมกับการสร้างกลไกของ “หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ” ในสถานศึกษา โดยมุ่งให้เกิดวิสาหกิจนวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
2. กรอบวงเงินงบประมาณของกองทุนตั้งตัวได้
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ให้จัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ในปีงบประมาณ 2556 ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) วงเงิน 5,000 ล้านบาทในปีแรก และกำหนดแผนสนับสนุนงบประมาณภาพรวมต่อเนื่อง 4 ปี คือ
(1) ปี 2556 จำนวน 5,000 ล้านบาท
(2) ปี 2557 จำนวน 5,000 ล้านบาท
(3) ปี 2558 จำนวน 10,000 ล้านบาท
(4) ปี 2559 จำนวน 20,000 ล้านบาท รวมทั้งหมด 4 ปีงบประมาณเป็นจำนวนเงิน 40,000 ล้านบาท
โดย สกอ. กำหนดให้กองทุนตั้งตัวได้เป็นกองทุนแบบคงเงินต้น และใช้หมุนเวียนให้กู้ยืมแก่นักศึกษาที่มีศักยภาพเป็นผู้ประกอบการใช้ลงทุนในการเริ่มต้น/หรือขยายธุรกิจของตน ทั้งนี้ ในปี 2556 สกอ. ตั้งเป้าสร้างนักศึกษาผู้ประกอบการ (ที่ได้รับการกู้ยืม) ไม่น้อยกว่า 5,000 รายในปีแรก
3. หลักเกณฑ์การดำเนินงานของกองทุน
นายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ลงนามในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุน ตั้งตัวได้ พ.ศ. 2555 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2555 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนพิเศษ 162 ง เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2555 เรียบร้อยแล้ว หลักการสำคัญคือ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันอาชีวศึกษา หรือบุคคลที่สำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 5 ปีการศึกษา (ต้องมีสัญชาติไทย) ซึ่งนักศึกษาต้องมีความมุ่งมั่น มีศักยภาพทางความคิดที่มุ่งให้เกิดวิสาหกิจนวัตกรรมใหม่ หรือการลงทุนในเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนแก่นักศึกษากู้ยืมเงินทุนเพื่อสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อย โดยร่วมมือกับธนาคารทั้งของรัฐและเอกชน สมาคมศิษย์เก่า ผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชา ในการพิจารณาการให้สินเชื่อและเงินลงทุนสำหรับการลงทุน อันจะได้รับประกันการชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ยร่วมกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการตามข้อตกลงในรายละเอียดต่อไป
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และการวัดประเมินผลต่าง ๆ ให้กำหนดโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนตั้งตัวได้ ซึ่งคาดว่าจะแต่งตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2555
4. มาตรการและแนวทางในการพัฒนาให้นักศึกษาที่จบการศึกษาได้รับการประกอบอาชีพ ในอนาคต
กลไกการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ที่มีความเข้มแข็งทางธุรกิจ คือ นักศึกษา/ ศิษย์เก่าจะสมัครเข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจ และพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ (Product) ในหน่วย ABI (Authorized Business Incubators ซึ่งเป็นหน่วย UBI เดิม) ที่เป็นศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยฯ 56 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานจัดหาผู้เชี่ยวชาญธุรกิจ และพัฒนาเทคโนโลยี ให้องค์ความรู้ เพื่อพัฒนานักศึกษาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม/ ความคิดสร้างสรรค์ และหน่วย ABI ยังจัดหาพื้นที่สำนักงานและระบบบริหารจัดการในระยะเริ่มต้นธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการได้เช่าใช้ประโยชน์ในราคาต่ำ สำหรับสถาบันการอาชีวศึกษาอยู่ระหว่างการจัดตั้ง ศูนย์บ่มเพาะเพิ่มเติม
โดยมีกระบวนการพัฒนาและสนับสนุนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการตามขั้นตอนดังนี้
(1) มีสัญชาติไทย โดยต้องเป็นนักศึกษาปัจจุบัน หรือผู้สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 5 ปี ในสถาบันอาชีวศึกษา หรือสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย
(2) มีไอเดียธุรกิจ และ Business Model
(3) สมัครเข้ารับการฝึกอบรม/ พัฒนาจากศูนย์บ่มเพาะ (ABI)
(4) ผ่านการคัดเลือก โดยได้รับการฝึกอบรม/ พัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์-ธุรกิจบริการจากหน่วย ABI ประมาณ 3-6 เดือน (จำนวนผู้เข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจประมาณ 25,000 คน)
(5) ผู้เข้ารับการอบรมตาม (4) จะต้องเข้ารับการประเมิน Business Plan จากหน่วย ABI ให้เหลือกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงจำนวน 5,000 คน และกลุ่มที่ผ่านเกณฑ์การประเมินจะได้สิทธิ์เสนอโครงการดำเนินธุรกิจเพื่อขอกู้ยืมเงินจากกองทุนตั้งตัวได้
(6) กองทุนตั้งตัวได้ร่วมกับสถาบันการเงินจัดสรรเงินกู้ยืมตาม Business Plan แก่นักศึกษาผู้ประกอบการภายในวงเงินไม่เกิน 1.0 ล้านบาท/รายธุรกิจ ขึ้นอยู่กับ Business Model ของธุรกิจนั้น
(7) นักศึกษาผู้กู้ยืมดำเนินธุรกิจของตนภายใต้การดูแลของหน่วย ABI และส่งชำระคืนเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยในกรอบเวลาที่เหมาะสม (กองทุนฯ ยังไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ย แต่โดยหลักการควรต่ำกว่า Rate ปกติ)
5. วิธีการให้กู้ยืมแก่นักศึกษาผู้ประกอบการและวงเงินที่จะได้รับการกู้ยืม
กองทุนตั้งตัวได้กำหนดเพดานเงินกู้ยืมแก่นักศึกษาผู้ประกอบการเฉพาะเงินของกองทุนฯ ภายในวงเงินไม่เกิน 1.0 ล้านบาท/รายธุรกิจ (1 รายธุรกิจอาจมีกลุ่มนักศึกษาดำเนินการร่วมกันหลายคนก็ได้) โดยแผนธุรกิจของนักศึกษาผู้ประกอบการที่ได้รับสัญญากู้ยืมต้องมีแผนงบประมาณไม่เกิน 5.0 ล้านบาท และกองทุนฯ มีระบบการจัดสรรเงินกู้ยืม 2 แบบ คือ
(1) กองทุนตั้งตัวได้เป็นผู้ให้กู้ยืมแหล่งทุนเดียวแก่นักศึกษาผู้ประกอบการภายในวงเงินไม่เกิน 1.0 ล้านบาท/รายธุรกิจ (โดยให้สถาบันการเงินเป็นผู้จ่ายเงินตามงวดงาน)
(2) กองทุนตั้งตัวได้ร่วมกับสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการ ร่วมกันเป็นผู้ให้กู้ยืมรวม 2 แหล่งทุน โดยใช้สัญญากู้ยืมฉบับเดียว โดยกองทุนตั้งตัวได้จัดสรรแก่นักศึกษาผู้ประกอบการภายในวงเงินไม่เกิน 1.0 ล้านบาท/รายธุรกิจ และวงเงินส่วนที่เหลือสถาบันการเงินเป็นผู้จัดสรรเงินกู้ยืมแก่นักศึกษาโดยต้องมีสัดส่วน
ไม่น้อยกว่าจำนวนเงินให้กู้ยืมของกองทุนฯ ซึ่งกรณีตาม (2) จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแผนการลงทุน ไม่น้อยกว่า 2.0 ล้านบาทสำหรับการชำระคืนนักศึกษาผู้ประกอบการต้องนำส่งคืนต่อสถาบันการเงินตามแผนงานที่กำหนดทั้งใน
ส่วนเงินกู้ยืมจากกองทุนฯ และ/หรือเงินกู้ยืมที่มาจากสถาบันการเงินนั้น ๆ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของ เงินต้นสถาบันการเงินจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของเงินต้นกองทุนฯ
6. ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการติดต่อขอรับบริการจากกองทุนฯ โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด
สำนักงานกองทุนตั้งตัวได้ยังไม่มีที่ตั้ง เพราะอยู่ระหว่างการสำรวจเปรียบเทียบทำเลพื้นที่สำนักงานอาคารให้เช่า 3 แห่ง (ราชเทวี/ ลาดพร้าว/ รัชดาภิเษก)
ผู้สนใจรับบริการต้องเป็นนักศึกษาหรือผู้จบการศึกษาไม่เกิน 5 ปีจากสถาบันอาชีวศึกษา หรือสถาบันอุดมศึกษา และสามารถติดต่อหน่วยประสานงานต่างจังหวัดของกองทุนฯ ได้ที่หน่วย ABI รวม 56 แห่ง (ในปี 2556 จะเพิ่มเป็น 63 แห่ง) สถานที่ติดต่อและหมายเลขโทรศัพท์ตามเอกสารที่แนบ
7. โครงสร้างในการบริหารองค์กร
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนตั้งตัวได้ พ.ศ. 2555 กำหนดให้มีโครงสร้างบริหารองค์กรรูปแบบคณะกรรมการ 2 ระดับ คือ (1) คณะกรรมการนโยบายกองทุนตั้งตัวได้ (2) คณะกรรมการบริหารกองทุนตั้งตัวได้ โดยมีระดับปฏิบัติการ คือ สำนักงานกองทุนตั้งตัวได้ซึ่งปฏิบัติงานสัมพันธ์กับคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด และเครือข่ายหน่วย ABI ทั่วประเทศในสังกัดของ สกอ. และ สอศ. ดังนี้


8. เป้าหมายและยุทธศาสตร์ของกองทุนตั้งตัวได้
เป้าหมายบริการของกองทุนฯ คือ การสร้างโอกาสมีทุนตั้งต้นธุรกิจแก่นักศึกษา/บัณฑิตที่จบไม่เกิน 5 ปี เพื่อกู้ยืมในการประกอบธุรกิจ โดยวางเป้าหมายให้กู้ยืม 5,000 รายภายในปี 2556 (ซึ่งเป็นปีแรก)
กรณีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ของกองทุนตั้งตัวได้ ต้องกำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายกองทุนตั้งตัวได้ ซึ่งคาดว่าจะแต่งตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2555 โดยมีกรอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ (1) ด้านพัฒนาระบบการให้บริการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม (2) ด้านการพัฒนาสิทธิประโยชน์และเสถียรภาพอย่างสมดุล (3) ด้านพัฒนาเครือข่ายระบบบริหารจัดการและติดตามหนี้สิน (4) ด้านการพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ
9. หากประชาชนสนใจจะเข้าร่วมรับบริการจากกองทุนตั้งตัวได้จะต้องมีคุณสมบัติอย่างใด
(1) มีสัญชาติไทย และ
(2) เป็นนักศึกษาของสถาบันอาชีวศึกษาระดับ ปวส. หรือ เป็นนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา
(3) เป็นผู้สำเร็จการศึกษามาแล้วไม่เกิน 5 ปี จากสถาบันอาชีวศึกษา หรือสถาบันอุดมศึกษา
10. ข้อมูลผลการบ่มเพาะผู้ประกอบการที่ผ่านมาของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (UBI)
ข้อมูลผลการดำเนินงานรอบ 2 ปี (ปีการศึกษา 2552-53) ของหน่วย UBI จำนวน 56 แห่ง มีการ บ่มเพาะ/ พัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start up & Spin off Companies) 238 ราย โดยมีผู้ผ่านการประเมินศักยภาพตามเกณฑ์ สกอ. 158 ราย (คิดเป็นอัตราการอยู่รอดปัจจุบันร้อยละ 66.4) สร้างวงจรรายได้รวม 112.27 ล้านบาท มีการจ้างงานประมาณ 1,400 ราย (รวมการจ้าง Part Time) ซึ่งผู้ประกอบการต้องผ่านกระบวนการบ่มเพาะเฉลี่ย 2-4 ปี (ต้องพัฒนาทั้ง Business Plan & Technology Development) จึงจะเป็นบริษัทธุรกิจมีศักยภาพอยู่รอดและเติบโตได้ สำหรับรอบปีการศึกษา 2554-55หน่วย UBI กำลังดำเนินการบ่มเพาะธุรกิจใหม่อีกประมาณ 250 ราย
ทั้งนี้ หากกองทุนตั้งตัวได้สามารถสนับสนุนเงินทุนตั้งต้น (Start up Fund) แก่ผู้ประกอบการใหม่ที่เป็น SMEs โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาผู้ประกอบการ คาดว่าจะทำให้อัตราการอยู่รอดและการขยายธุรกิจมีโอกาสสูงขึ้นอย่างมากจากการได้แหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำทางธุรกิจ เพราะปัจจุบันประเทศไทยขาดนักลงทุนแบบ Angle Fund ที่จะช่วยสร้างโอกาสยกระดับธุรกิจ SMEs ของนักศึกษาทีมีไอเดียใหม่ ๆ

สอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (UBI) ทั่วประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โทร. 02-610-5335, 02-610-5444

อ้างอิงจาก สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา
กองทุนตั้งตัวได้เปิดแล้ว
http://oweera.blogspot.com/2013/02/StartupFundsetup.html

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

รับชำระเงินด้วย อาลีเพย์ (Alipay) และ วีแชทเพย์ (WeChat Pay) ทำยังไง