เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ อะไร ASEAN Economic Community
เขตเศรษฐกิจพิเศษคืออะไร เป็นคำถามที่หาคำตอบชัดๆยากเพราะยังไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน สิทธิพิเศษต่างๆยังกระจายอยู่ พอลองหาเลยขอทำบันทึกไว้เผื่อใครสนใจนำไปต่อยอด
จากการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดังกล่าว รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ในจังหวัดต่างๆ ตามแนวชายแดน ได้แก่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และจังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น
เขตเศรษฐกิจพิเศษ หมายถึง เขตพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสนับสนุน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่างๆ เช่น การอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ
สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ ได้รับอยู่แล้วตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 การนิคมอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 และเขตปลอดอากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช 2496 โดยมีสาระสำคัญการให้สิทธิประโยชน์ ดังนี้
การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรออกเป็นพระราชบัญญัติเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 และพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช 2496 เพิ่มบทบัญญัติในหมวด 10 ตรี “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” การจัดตั้งให้ออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และผู้ที่ประกอบการในเขตดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดี่ยวกับผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 และผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช 2469 ตามรายละเอียดที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
ประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
การที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 และประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อประเทศไทย เพราะเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนี้
1. เป็นการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
2. เป็นการส่งเสริมการส่งออก เพราะช่วยลดต้นทุนในการประกอบการต่างๆ เช่น ค่าแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน
3. เป็นการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตสินค้าจากต่างประเทศเข้าดำเนินการในประเทศไทย
4. เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าจากประเทศไทย และประเทศต่างๆ ไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่นๆ
5. ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
แต้มต่อการค้าชายแดนไทย : เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
http://bts.dft.go.th/btsc/files/Documentanalysiselse/4.pdf
ความก้าวหน้าการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีความก้าวหน้าสำคัญ 7 เรื่อง ได้แก่
1. ผลการดำเนินงานและข้อเสนอของอนุกรรมการ 3 ชุดที่ได้รับการแต่งตั้งโดย กนพ. เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ (1) ด้านสิทธิประโยชน์ ขอบเขตพื้นที่และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (2) ด้านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุขและความมั่นคง และ (3) ด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ซึ่งดำเนินงานโดยเจ้าภาพหลัก คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในแต่ละอนุกรรมการ
2. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เตรียมความพร้อมให้แก่จังหวัดในพื้นที่ชายแดนเป้าหมายโดยการจัดประชุมสร้างความเข้าใจให้ 5 จังหวัดเป้าหมายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกทำข้อเสนอการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อประกอบการพิจารณาของอนุกรรมการ และมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพ
3. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำข้อเสนอโครงการบริหารจัดการผลิตผลการเกษตรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยสหกรณ์
4. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยพบว่าปัญหาที่พบในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและเห็นควรพิจารณาประเด็นสำคัญ ได้แก่ เส้นเขตแดน การตรวจสอบดูแลแรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมือง การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ความพร้อมของเจ้าหน้าที่และเครื่องมือเพื่อรองรับการดำเนินงาน
5. กระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างนำเสนอเรื่องการจัดระบบการจ้างคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและกรมสวัสดิการแรงงาน ได้เตรียมจัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และการใช้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
6. กระทรวงมหาดไทย มีการดำเนินงานของ 3 หน่วยงานเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย ดังนี้ (1) กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งรัดวางและปรับปรุงผังเมืองรวม ออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะชุมชนชายแดน วางผังโซนนิ่งการใช้ประโยชน์ที่ดิน วางระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ และออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาต่างๆ ใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมายภายใน 8 เดือน (2) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดทั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกครบทั้ง 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย (3) การประปาส่วนภูมิภาคอยู่ระหว่างขยายระบบผลิตน้ำประปาและวางท่อส่งน้ำเพื่อให้บริการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและด่านชายแดน
7. นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมายให้มีผลในทางปฏิบัติในเดือนธันวาคม 2557 ทั้งในเรื่องการเตรียมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน ไฟฟ้า ประปา) การวางผังเมืองและผังเฉพาะให้สอดรับกับกิจกรรมหลักและกิจกรรมรองในพื้นที่ รวมถึงการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กนพ. ให้ความเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย รวม 36 ตำบล ใน10 อำเภอ พื้นที่รวมประมาณ 1.83 ล้านไร่ (2,932 ตร.กม.) โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ในระดับตำบลที่อยู่ติดชายแดนและไม่ทับซ้อนพื้นที่ป่าไม้ ดังนี้
ตาก : 14 ตำบล 886,875ไร่ (1,419 ตร.กม.) ใน อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด
มุกดาหาร : 11 ตำบล 361,542 ไร่ (578.5 ตร.กม.) ในอ.เมือง อ. หว้านใหญ่ และ อ. ดอนตาล
สงขลา : 4 ตำบล 345,187 ไร่ (552.3 ตร.กม.) ใน อ.สะเดา
สระแก้ว : 4 ตำบล 207,500 ไร่ (332.0 ตร.กม.) ใน อ.อรัญประเทศ และ อ.วัฒนานคร
ตราด : 3 ตำบล 31,375 ไร่ (50.2 ตร.กม.) ซึ่งเป็นพื้นที่ อ.คลองใหญ่ทั้งอำเภอ
นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปี 2558-2559โดยตั้งเป้าหมายให้วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นจุดเริ่มต้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมายจะได้รับการสนับสนุนในลักษณะ package ที่ชัดเจนในทางปฏิบัติ โดยจะเริ่มให้ภาคเอกชนขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับสูงสุดและเริ่มใช้บริการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จสำหรับการลงทุนในพื้นที่ได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม นอกจากนี้ ยังมีการอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่ได้ในลักษณะไป-กลับมีการก่อสร้าง/ปรับปรุงถนน ด่านชายแดน โครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคที่สำคัญ และเริ่มเตรียมการใช้สหกรณ์ในบางพื้นที่เป้าหมายเพื่อบริหารจัดการผลิตผลการเกษตร
สำหรับรายละเอียดของแผนการดำเนินงาน 3 เรื่อง มีดังนี้
1. สิทธิประโยชน์ ขอบเขตพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน
1.1 สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน เห็นชอบให้การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับสูงสุดหรือใกล้เคียงกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กรณีทั่วไปรวมทั้งอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในลักษณะไป-กลับ ในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมทั้งโครงการใหม่หรือขยาย ทั้งในและนอกเขตพัฒนาอุตสาหกรรม ใกล้เคียงกับสิทธิประโยชน์ที่ให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ทางภาษีเหมือนเขต 3 รวมทั้งพิจารณาอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมเป็นราย ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่โดยเร็ว ทั้งนี้ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ เห็นชอบให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางมาตรการการเงินโดยรัฐจัดเงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรนและค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 1 – 20 ล้านบาทตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
1.2 ขอบเขตพื้นที่ ที่ประชุม กนพ. ให้ความเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย รวม 36 ตำบล ใน 10 อำเภอ พื้นที่รวมประมาณ 1.83 ล้านไร่ (2,932 ตร.กม.)
1.3 ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน ในระยะแรกใช้พื้นที่ศูนย์ดำรงธรรม ระดับจังหวัดหรืออำเภอ โดยสำนักงานจังหวัดหรือหน่วยงานในท้องถิ่นเป็นผู้ให้บริการภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
2. โครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรระยะเร่งด่วน (ปี 2558-2559) โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาจัดทำรายละเอียดโครงการและวงเงินให้ชัดเจน โดยให้จัดทำเป็นแผนการดำเนินงานในรายละเอียดโครงการรายปี ในระหว่างปีงบประมาณ 2557-2559 เพื่อเสนอ กนพ. ต่อไป
3. แรงงานและศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานสาธารณสุข และความมั่นคง เห็นชอบให้มีการจัดระบบแรงงานต่างด้าวให้มาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ในลักษณะไป-กลับและให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน ซึ่งให้บริการเรื่องการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร การตรวจสุขภาพการประกันสุขภาพและการคุ้มครองแรงงาน โดยให้ใช้รูปแบบของศูนย์บริการจดทะเบียนต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ รวมทั้งมีแผนการฝึกอบรมฝีมือแรงงานไทยบริเวณชายแดนและแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน
4. ที่ประชุมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตามแผนการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปี 2558-2559 โดยมี สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนพ. ทำหน้าที่บูรณาการการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกในปี 2558 ประกอบด้วย
4.1 ด้านสิทธิประโยชน์ ขอบเขตพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมป่าไม้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จังหวัดที่เกี่ยวข้อง ท้องถิ่นและภาคเอกชน
4.2 ด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร 6 หน่วยงาน กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง กรมการบินพลเรือน กรมเจ้าท่า) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
4.3 ด้านแรงงานศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง 10 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
http://www.parliament.go.th/ewtwebboard/ewt/group00/ewt_dl_link.php?nid=3
ความคิดเห็น