ธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา ... ภูมิปัญญาไทยส่งออกระดับโลก (Start-Up Business)



ธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา ... ภูมิปัญญาไทยส่งออกระดับโลก (Start-Up Business)

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย



        เครื่องสำอางแนวสปา เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ที่กำลังได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งในและต่างประเทศ และนับเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เติบโตคู่ขนานไปกับธุรกิจสปา อันเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงพิษภัยจากสารเคมี มลภาวะต่างๆ และต้องการหวนกลับคืนสู่ความเป็นธรรมชาติอีกครั้ง ทั้งนี้ เครื่องสำอางแนวสปาของไทย ที่จัดได้ว่ามีชื่อเสียงอย่างมาก ในเรื่องของการนำเอาพืชสมุนไพรในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางตามภูมิปัญญาของคนไทย ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

        โดยจะเห็นว่าในแต่ละปี ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสารสกัดธรรมชาติและสมุนไพรไทย มีมูลค่าตลาดสูงถึง 2,000-3,000 ล้านบาท ในขณะที่ไทยเองก็มีศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอางสูงเช่นกัน โดยข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ในปี 2554 การส่งออกสินค้าเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพรของไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท ฐานเศรษฐกิจ มกราคม 2554 ปัจจัยเหล่านี้แสดงถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจที่ค่อนข้างสดใส และเป็นโอกาสธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ในการที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปาได้ไม่ยาก แต่อย่างไรก็ดี ภายใต้โอกาสที่เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการ ยังแฝงไว้ด้วยความท้าทายที่ซ่อนอยู่ โดยจะพบว่า แม้ว่าเครื่องสำอางแนวสปาของไทยจะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ปัญหาหรืออุปสรรคหลักของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ การขาดการทำตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้า นอกจากนี้ ความกังวลของผู้บริโภคต่อมาตรฐานการผลิตว่าจะได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลหรือไม่ ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และสามารถอยู่รอดในธุรกิจได้อย่างมั่นคงในระยะยาว  
ความน่าสนใจของธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา ภูมิปัญญาไทยส่งออกระดับโลก          


                การเติบโตของธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา ได้รับปัจจัยหนุนจากความนิยมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ชื่นชอบการทำสปา เพื่อบำบัดหรือผ่อนคลายความตึงเครียด ซึ่งการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจสปาในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง ได้ส่งผลต่อเนื่องถึงการขยายตลาดผลิตภัณฑ์สปา โดยเฉพาะเครื่องสำอางแนวสปาตามไปด้วย นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น ยังผลักดันให้ผู้บริโภคเริ่มแสวงหาสิ่งที่เป็นความสะดวกสบาย ผ่อนคลายและกลับคืนสู่ความเป็นธรรมชาติ (Back to Nature) เพิ่มขึ้น ซึ่งเครื่องสำอางแนว สปาก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันเครื่องสำอางแนวสปาส่วนใหญ่ที่วางจำหน่าย มักอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป (Home Use Product) อาทิ สบู่ แชมพู ครีมบำรุงผิวหน้าและผิวกาย ครีมกันแดด น้ำมันทาตัว ฯลฯ



        โดยสำหรับผู้ประกอบการ SMEs แล้ว ธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปามีจุดเด่นอยู่ที่ การเข้าสู่ธุรกิจทำได้ไม่ยาก มีกระบวนการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก และใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก ในขณะที่ปัจจัยด้านการผลิตอย่างเช่น วัตถุดิบ พืชสมุนไพรที่ใช้ในการผลิตก็สามารถหาได้ง่ายทั่วไป จากความได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ที่ทำให้ทุกๆ ภูมิภาค อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชและสมุนไพรนานาพันธุ์ จนสามารถพัฒนาให้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางที่สามารถจะใช้ในชีวิตประจำวันได้ ยกตัวอย่างเช่น ข้าว ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม ว่านหางจระเข้ อัญชัน ประคำดีควาย กวาวเครือขาว ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบ มะขามป้อม เปลือกมังคุด น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น ซึ่งบางชนิดมีคุณสมบัติใกล้เคียงและสามารถใช้ทดแทนกันได้ และเมื่อพิจารณาถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและช่องทางการจัดจำหน่าย จะพบว่า มีตลาดรองรับอยู่หลากหลายกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มสถานบริการสปา โรงแรม รีสอร์ท อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก ร้านจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม กลุ่มนักท่องเที่ยว รวมไปถึงผู้บริโภคทั่วไปทั้งในและต่างประเทศก็เป็นอีกกลุ่มลูกค้าที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกระบวนการตัดสินใจซื้อรวดเร็ว หากพึงพอใจในตัวสินค้า
 
        ทั้งนี้ ในส่วนของรายได้ที่จะเข้ามาสู่ผู้ประกอบการ พบว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดใจอยู่ไม่น้อย จะเห็นได้ว่า สินค้ากลุ่มเครื่องสำอางแนวสปา ผู้ประกอบการสามารถกำหนดราคาที่เหมาะสมได้ หากสินค้ามีความแตกต่างจากสินค้าของคู่แข่งที่วางขายทั่วไปตามท้องตลาด เนื่องจากผู้ซื้อยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อประโยชน์ที่แฝงอยู่ในตัวสินค้า ซึ่งการเพิ่ม Value added นี่เอง สามารถทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้ถึงเท่าตัว (50-100%) ดังนั้น ธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ถือได้ว่าน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้ามาสู่ตลาดได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

สภาวะการแข่งขัน ... จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรค
ธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา ภูมิปัญญาไทยส่งออกระดับโลก        

       
        เมื่อวิเคราะห์ถึงสภาพการแข่งขันในธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา จะพบว่า มีการแข่งขันที่รุนแรงมากพอสมควร  จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีเครื่องสำอางแนวสปาออกมาวางจำหน่ายอยู่อย่างหลากหลาย  ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่มี     แบรนด์ ผู้ประกอบการรายย่อย หรือกลุ่มแม่บ้าน OTOP ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วสินค้าที่วางจำหน่ายมักจะมีความใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกันมาก จะแตกต่างกันอยู่บ้างในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ สารสกัดหรือวัตถุดิบที่ใช้ และมาตรฐานที่ได้รับรองผล ซึ่งตรงนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดถึงระดับมาตรฐานของสินค้าของผู้ประกอบการแต่ละราย

        นอกจากนี้  ยังพบว่าอีกว่า การแข่งขันของผู้ประกอบการในแต่ละ Segment ก็มีความเข้มข้นไม่แพ้กัน โดยสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่มักมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันที่นวัตกรรม การนำเสนอสินค้าที่มีความแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร การพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้ได้ตามมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กยังมุ่งเน้นการผลิตสินค้าในลักษณะลอกเลียนแบบผู้ประกอบการรายใหญ่และทำตามกระแสตลาด และมีจุดอ่อนที่สำคัญอยู่ที่ขาดการทำการตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้า รวมไปถึงน่าเชื่อถือและยอมรับในผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้ายังน้อย ซึ่งถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญและทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจตามที่ได้วางแผนไว้
        แม้ว่าโอกาสทางธุรกิจจะเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดกันอย่างมากมาย แต่ในโลกของธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจลงทุน และการวางแผนต่อยอดพัฒนาธุรกิจในระยะยาวต่อไป ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปไว้ในเบื้องต้น ดังนี้
Strengths

L        เครื่องสำอางแนวสปา มีกระบวนการผลิตไม่ยุ่งยาก วัตถุดิบหาได้ง่าย ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก ราคาจำหน่ายทั่วไปไม่สูงมาก
J        เครื่องสำอางแนวสปา ส่วนใหญ่ผลิตจากวัตถุดิบ สมุนไพรที่มาจากธรรมชาติและปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตราย ซึ่งผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความนิยมเพิ่มขึ้น
J        เครื่องสำอางแนวสปา มีจุดเด่นในเรื่องของสรรพคุณ และสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
J        สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสมได้ หากสินค้ามีความแตกต่างจากสินค้าของคู่แข่ง เนื่องจากผู้ซื้อยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อคุณประโยชน์ที่แฝงอยู่ในตัวสินค้า
Weaknesses

L        ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความสามารถในการทำตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้า แม้ว่าสินค้าจะดีมีคุณภาพแต่ยังไม่เป็นที่สนใจของผู้บริโภคมากเท่าที่ควร
L        ผู้ประกอบการรายเล็กเสียเปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความรู้ทางด้านกฏระเบียบต่างๆ และการเข้าถึงตลาดเป้าหมาย
L        ความกังวลใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้า
L        ความจงรักภักดีของผู้บริโภคต่อตราสินค้ามีน้อย เนื่องจากสินค้ามีความคล้ายคลึงกันสูงมาก ทั้งในเรื่องของความหลากหลายสินค้า/สรรพคุณ/กลิ่น
Opportunities

J        ไทยมีวัตถุดิบที่จะมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอางแนวสปาเป็นจำนวนมาก และมีความแตกต่างหลากหลายในแต่ละภูมิภาค
J        เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรและสมุนไพรให้ออกมาอยู่ในรูปแบบของเครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
J        ผู้บริโภคยุคใหม่ชื่นชอบที่จะทดลองสินค้าใหม่ๆ หากมีกลยุทธ์และการนำเสนอที่ดึงดูดใจ ก็สามารถเจาะตลาดได้ไม่ยาก
J        ผู้บริโภคชาวต่างชาติให้ความนิยมในสปาไทย และสนใจในผลิตภัณฑ์สปาอย่างเครื่องสำอางเพิ่มมากขึ้น
J        ผู้ประกอบการ SMEs สามารถการรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ให้กับสถานบริการสปา โรงแรมหรือรีสอร์ทต่างๆ ได้
Threats

L        คู่แข่งในตลาดมีจำนวนมาก ทำให้สินค้ามีความคล้ายคลึงและมีการลอกเลียนแบบสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมตามกระแส
L        การขอขึ้นทะเบียนและการรับรองมาตรฐานต่างๆจากหน่วยงานของรัฐฯ มีขั้นตอนมากและใช้เวลานาน
L        สินค้าที่ต้องการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศต้องผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ ทำให้ต้องมีความใช้จ่ายค่อนข้างสูง ตั้งแต่กระบวนการผลิต ผลวิจัยรองรับการทดสอบเพื่อยืนยันประสิทธิภาพ ไปจนถึงช่องทางในการจัดจำหน่าย
L        ต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น เช่น ค่าจ้างแรงงาน ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
การเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มต้น
 ... ธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา ภูมิปัญญาไทยส่งออกระดับโลก        

       
        ในการดำเนินธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปาสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ แนวทางการเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว มีดังนี้

        ผู้ประกอบการควรมีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์อย่างถ่องแท้ K-SME Analysis



ทั้งความรู้พื้นฐานในเรื่องของพืชสมุนไพร วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง ตลอดจนเรื่องของเคมีเครื่องสำอาง ความปลอดภัยในกระบวนการผลิต ขั้นตอนการผลิตและการบรรจุหีบห่อบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการนำเสนอสินค้าให้กับลูกค้าและต่อยอดพัฒนาตัวสินค้าในอนาคต
        การเริ่มต้นธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา ... ทำอย่างไร? การลงทุนในธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา สามารถทำได้ 2 รูปแบบคือ ทำการผลิตเอง และจ้างโรงงานผลิต (OEM) โดยส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของเงินทุน ประเภทและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีทำการผลิตเอง มักจะเป็นการผลิตเครื่องสำอางที่มีกรรมวิธีการผลิตง่าย อย่าง แชมพู ครีมนวด ขนาดของเงินลงทุนอาจไม่สูงมาก ในขณะที่เครื่องสำอางที่มีกรรมวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนอย่าง สบู่ก้อน แป้ง ครีมบำรุงผิว โรลออน ฯลฯ ผู้ประกอบการอาจจะต้องว่างจ้างโรงงานผลิตให้แทนการลงทุนผลิตเอง โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
การลงทุนในลักษณะทำการผลิตเอง

การลงทุนในลักษณะว่าจ้างโรงงานผลิต (OEM)

ระดับครัวเรือน: เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในการซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิตและบรรจุภัณฑ์
ระดับอุตสาหกรรมโรงงาน: สามารถผลิตได้ตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ โดยทั่วไปแล้วหากต้องการผลิตเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐานและถูกสุขลักษณะ เงินลงทุนจะตกประมาณ 10 ล้านบาทขึ้นไป
        อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการต้องการผลิตสารสกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติเอง จะมีเงินลงทุนสูงขึ้นอีกมาก
การลงทุนในรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นการผลิตเครื่องสำอางหลายประเภทในปริมาณมาก ดังนั้นผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงว่าจะต้องว่าจ้างผลิตเครื่องสำอางประเภทใด ปริมาณจ้างผลิตเท่าไร ซึ่งอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูง
โดย ต้นทุนค่าใช้จ่ายหลักๆ ได้แก่ ค่าเช่าอาคารสำนักงาน บรรจุภัณฑ์ ค่าจ้างผลิต ค่าขนส่ง ค่าตรวจสอบคุณภาพ ค่าจัดเก็บสินค้า ค่าวัตถุดิบ เป็นต้น
เงินหมุนหมุนเวียน
สำหรับโรงงานขนาดเล็กควรมีเงินหมุนเวียนอย่างน้อย 1 ล้านบาท/เดือน
แบ่งเป็น ต้นทุนวัตถุดิบ แรงงาน ค่าใช้จ่ายด้านการขาย และค่าบรรจุภัณฑ์และการออกแบบ


อัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ
จะขึ้นอยู่กับคุณภาพและตราสินค้าของผู้ผลิต ในขณะที่การกำหนดราคาของผลิตภัณฑ์ อัตรากำไรเบื้องต้น เมื่อหักเฉพาะค่าวัตถุดิบและค่าบรรจุภัณฑ์ในการผลิต (ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านการขาย/ค่าบริหารงาน) โดยทั่วไปควรจะอยู่ที่ประมาณ 40-60% ของราคาขาย



        การเลือกประเภทสินค้าและวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิต K-SME Analysis


ในช่วงเริ่มแรกผู้ประกอบการควรเลือกผลิตสินค้าที่มีความชำนาญมากที่สุด และใช้เป็น Product champion ในการนำเสนอขายให้กับลูกค้า ซึ่งหากได้รับการตอบรับอย่างดี ผู้ประกอบการสามารถขยายไลน์การผลิตครอบคลุมไปยังเครื่องสำอางประเภทอื่นได้เพิ่มขึ้น การเลือกวัตถุดิบก็เช่นเดียวกัน อาจผลิตจากวัตถุดิบที่ได้รับนิยมในท้องตลาดทั่วไปและหากมีความพร้อมด้านเงินทุนและความสามารถในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก็สามารถต่อยอดนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการมีลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มไหน เช่น หากเป็นสถานบริการสปา โรงแรมหรือรีสอร์ทระดับ 3-5 ดาว และกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ สินค้าที่ผลิตควรมีความแปลกใหม่ มีให้เลือกหลากหลาย ได้มาตรฐานและมีคุณภาพค่อนข้างสูง แต่หากเป็นตลาดในประเทศอย่างกลุ่มผู้บริโภคทั่วๆไป การกำหนดราคาที่สูงเกินไป ก็อาจส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้ เนื่องจากสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมีความคล้ายคลึงกันมาก และส่วนใหญ่จะมีราคาไม่แพง นอกจากนี้  สิ่งที่จะขาดไม่ได้อีกประการหนึ่ง คือ ผู้ประกอบการควรศึกษาถึงแนวโน้มความต้องการของตลาด เทรนด์และกระแสความนิยมควบคู่กันไปด้วย  เพื่อจะได้วางแผนการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในแต่ละตลาด





ตัวอย่างวัตถุดิบ/พืชสมุนไพรทที่นิยมนำมาใช้ทำเครื่องสำอางแนวสปา

วัตถุดิบ/พืชสมุนไพรสรรพคุณ

ว่านหางจระเข้ช่วยให้รากผมแข็งแรง ดกดำเป็นเงางาม เพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิวหนังและเส้นผม

อัญชันช่วยให้ผมดกดำ ช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็น  กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด

ขมิ้นมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา ช่วยให้ผิวเนียนและรักษาผดผื่นคัน

ตะไคร้หอมน้ำมันหอมระเหยสามารถทาตามตัว ไล่แมลง ยุง

เปลือกมังคุดฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง บรรเทาอาการผดผื่น ลดการอักเสบของสิว

มะกรูดช่วยให้ผมดกดำเป็นเงางาม ป้องกันรังแคและอาการคันศีรษะ

น้ำมันมะพร้าวมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระ เพิ่มความแข็งแรงให้กับเส้นผม

        มาตรฐานสินค้า

 ...ใบเบิกทาง  เพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภค แม้ว่าเครื่องสำอางแนวสปาที่พัฒนามาจากภูมิปัญญาของไทยนั้น จะมีคุณภาพและสรรพคุณที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงในวงกว้างเป็นอย่างดี แต่ก็ต้องยอมรับว่า อุปสรรคที่สำคัญในธุรกิจก็คือ ความกังวลของผู้บริโภคต่อมาตรฐานการผลิตว่าจะได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลหรือไม่ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับใบรับรองคุณภาพและความปลอดภัยต่างๆ จะมีส่วนอย่างยิ่งที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจจากผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น ใบรับรองมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing and Practice) ใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยาและเครื่องสำอาง ( EU Safety Assessment) เป็นต้น เนื่องจากเป็นมาตรฐานปฏิบัติที่ยอมรับกันทั่วโลก ซึ่งหากผู้ประกอบการมีผลิตสินค้าและได้รับมาตรฐานรับรองเหล่านี้ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถเจาะตลาดผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อสูงในประเทศและต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอีกมาก เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ความเต็มใจที่จะซื้อมีสูง แต่จะให้ความสำคัญอย่างมากกับสินค้าที่มี�คุณภาพและได้มาตรฐาน� มากกว่าสินค้าที่มีราคาย่อมเยา และเมื่อได้ใช้แล้วผลดี ประทับใจและเป็นที่ยอมรับ ก็จะเกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์ และขยายผลความเชื่อมั่นส่งต่อแบบปากต่อปาก นำมาซึ่งลูกค้ารายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

        บรรจุภัณฑ์ ... หนึ่งเคล็ดลับที่ไม่ควรมองข้าม บรรจุภัณฑ์เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อยอดขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางแนวสปา ดังนั้น บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม โดดเด่นสะดุดตา ก็จะมีความได้เปรียบในการดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค และส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ/ไม่ซื้อของผู้บริโภคได้ ในขณะเดียวกัน การแสดงข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดข้อมูลของสินค้า ประโยชน์หรือสรรพคุณ มาตรฐานการค้าและการผลิตอย่างครบถ้วน ยังมีส่วนอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากเป็นสินค้าที่มุ่งส่งออก ผู้ประกอบการควรใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นไปตามกฏระเบียบการนำเข้า-ส่งออก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณีบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน

        สร้างความแตกต่างและปรับความเป็นไทยให้เข้ากับความเป็นสากล ปัจจุบันเครื่องสำอางแนวสปาไม่เพียงจะได้รับความนิยมเฉพาะในประเทศเท่านั้น ตลาดส่งออก ก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าไปทำตลาดได้มากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศในเอเชียที่ชื่นชอบเครื่องสำอางแนวสปาไทยเป็นพิเศษ อย่าง ญี่ปุ่น สิงคโปร์กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และตลาดใหม่อย่างกลุ่มตะวันออกกลาง อาทิ สหรัฐฯอาหรับเอมิเรต เป็นต้น เมื่อพิจารณาลงลึกถึงพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่า เทรนด์ผู้บริโภคเครื่องสำอางแนวสปาในยุคสมัยนี้ หันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีสรรพคุณและกลิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความเป็นพื้นถิ่นสูงและสื่อถึงความเป็น Exclusive มากกว่าวัตถุดิบที่มีจากธรรมชาติโดยทั่วๆไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าประเภท Organic ที่ไร้สารเคมี ซึ่งพบว่า กำลังเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการมาก ดังนั้น เพื่อตอบรับกระแสของตลาด การชูจุดขายโดยการผสมผสานกลิ่นอายของภูมิปัญญาของไทยเข้ามาเป็นเสน่ห์ของสินค้า และดึงเอากลิ่นของสมุนไพรไทยมาประยุกต์เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ควบคู่กับการนำเสนอสรรพคุณที่สามารถอ้างอิงได้ในเชิงวิชาการ จะทำให้สินค้าดูโดดเด่น แปลกใหม่ และมัดใจลูกค้าได้เป็นอย่างมาก เมื่อผนวกกับเทคนิคการทำตลาดเชิงรุกอย่าง การนำเสนอ/จัดส่งสินค้าตัวอย่างเพื่อให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้ลองใช้ และให้คำแนะนำรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องการและมีคุณประโยชน์สูง ยังสามารถดึงความสนใจของผู้ซื้อได้เป็นอย่างดี ซึ่งเคล็ดลับความสำเร็จในการทำธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปาสามารถสรุปได้ ดังนี้
... กลยุทธ์ความสำเร็จในเจาะตลาดทั้งในและต่างประเทศของธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา ...

ê        สินค้าควรสื่อถึง �ความเป็นไทย� ในขณะเดียวกันก็ควรแสดงให้เห็นถึง �ความเป็นสากล� ด้วย เช่น สินค้าอาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสมุนไพรไทย แต่ควรมีคำอธิบายถึงประโยชน์หรือสรรพคุณตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือมีมาตรฐานรับรองการผลิตที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วย
ê        เครื่องสำอางแนวสปาที่ประสบผลสำเร็จมักเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ซ้ำใคร หรือหากเป็นผลิตภัณฑ์ซ้ำกันควรสร้างคุณภาพให้แตกต่าง
ê        ควรมีการศึกษาตลาดและรสนิยมของผู้บริโภคแต่ละตลาดอย่างละเอียด เพื่อจะได้วางแผนการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค
ê        ผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่าย นอกจากจะนำเสนอขายแยกรายสินค้าแล้ว ควรจัดทำในรูปแบบของ Gift Set ควบคู่กันไปด้วย เพราะนอกจากผู้บริโภคจะสามารถซื้อหามาใช้ส่วนตัวแล้วยัง สามารถใช้เป็นของที่ระลึกหรือของฝากได้อีกด้วย
ê        หาโอกาสในการเปิดตัวสินค้า เช่น การออกบูท การออกงานแสดงสินค้าต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและนานาชาติ เพื่อนำเสนอสินค้าและพบปะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายลูกโดยตรง
ê        สินค้าที่มีศักยภาพออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ควรได้รับการจดสิขสิทธิ์ทางการค้าก่อนทุกครั้ง เพื่อลดโอกาสการเกิดปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบ
ê        อย่าละเลยการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังกลุ่มประเทศที่ได้ให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจและแสดงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การเจาะกลุ่มผู้บริโภคในตลาดเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น        
ê        ผู้ประกอบการควร "รวมกลุ่ม" กันเป็นเพื่อเข้าไปเจาะตลาด เพราะสำหรับตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ "ความน่าเชื่อถือ" มาเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ ต้องมีการติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด เพราะความต้องการของผู้บริโภคพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ

ê        กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป อาทิ อิตาลี ออสเตรีย สเปน เยอรมนี รัสเซีย ตุรกี
รสนิยม/ความชื่นชอบ: นิยมสินค้าในกลุ่ม Organic ที่ไร้สารเคมี ชื่นชอบผลิตภัณฑ์ที่มีสรรพคุณ/กลิ่นที่มีเอกลักษณ์ มีความเป็นพื้นถิ่นสูง
ê        กลุ่มประเทศในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินเดีย เวียดนาม ลาว
รสนิยม/ความชื่นชอบ: นิยมผลิตภัณฑ์ใช้ง่าย-เห็นผลเร็ว ยังชอบผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นอ่อน ไม่ฉุนมาก มีความเป็นธรรมชาติสูง
ê        กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อาทิ สหรัฐฯอาหรับเอมิเรต บาห์เรน กาตาร์ คูเวต โอมาน
รสนิยม/ความชื่นชอบ: เครื่องสำอางฮาลาล ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มครีมกันแดด และผลิตภัณฑ์ที่มีจากสมุนไพรไทย อาทิ  ตะไคร้ มะขาม ชาเขียว


        Online Marketing ช่องทางการหาลูกค้ายุคใหม่ ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า Online Marketing เป็นสื่อหนึ่งที่มีบทบาทและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกมุมโลกได้มากขึ้น โอกาสสำหรับการทำการตลาดบนโลกออนไลน์นั้น ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์และนำเสนอขายสินค้าได้ โดยอาจจะเริ่มต้นออกแบบเว็บไซต์ โดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์และสรรพคุณต่างๆ มาตรฐานการค้า/การผลิต ข้อมูลการสั่งซื้อและโปรโมชั่นที่น่าสนใจ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจและมีความเพลิดเพลินในการเลือกชมสินค้า จนนำไปสู่การตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าได้





นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ควรจัดทำเว็บไซต์ภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ เพิ่มเติม  เพื่อให้ลูกค้าจากต่างชาติสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในโอกาสขยายฐานลูกค้าได้ อย่างไรก็ดี สินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง ความนิยมในตัวสินค้าส่วนใหญ่มักจะเป็นลักษณะ Word of Mouth หรือเรียกง่ายๆ ว่า �ใช้ดีแล้วบอกต่อ� ซึ่งทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวและกระตุ้นความต้องการตลาดได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของสินค้าในกลุ่มนี้ ดังนั้น ในส่วนของ Social Media ก็เป็นอีกเครื่องมือที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการรับรู้มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสามารถประชาสัมพันธ์และอัพเดทสินค้าใหม่ๆ รวมถึงตอบโต้กับลูกค้าโดยตรงและเจาะกลุ่มตลาดได้กว้างมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการยุคใหม่ไม่ควรมองข้าม

โดยสรุป

        ธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา ... ภูมิปัญญาไทยส่งออกระดับโลก เป็นหนึ่งธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงาม ที่กำลังได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงพิษภัยจากสารเคมี มลภาวะต่างๆ และต้องการหวนกลับคืนสู่ความเป็นธรรมชาติอีกครั้ง โดยจุดเด่นของธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา คือ มีกระบวนการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน และใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก ในขณะที่ปัจจัยด้านการผลิตอย่างเช่น วัตถุดิบ พืชสมุนไพรที่ใช้ในการผลิตก็สามารถหาได้ง่ายทั่วไป อีกทั้งตลาดรองรับก็มีอยู่อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสถานบริการสปา โรงแรม รีสอร์ท ผู้ประกอบการค้าปลีก รวมไปถึงผู้บริโภคทั่วไป ดังนั้น ธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา จึงเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้ามาสู่ตลาดได้ไม่ยาก

        ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่มีความสนใจในการเริ่มต้นธุรกิจเครื่องสำอางแนวสปา อันดับแรกผู้ประกอบการควรมีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์อย่างถ่องแท้ เพื่อประโยชน์ในการนำเสนอสินค้าต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต ในขณะปัจจัยที่ผู้ประกอบการควรพิจาณาต่อมา คือ ความพร้อมในด้านการลงทุน โดย การลงทุนสามารถกระทำได้ 2 รูปแบบ คือ การผลิตเอง หรือการจ้างผลิต (OEM) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจะเลือกผลิตสินค้าประเภทใด เช่น หากเป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตไม่ยุ่งยากและสามารถผลิตในครัวเรือนได้ เงินลงทุนอาจจะไม่สูงมาก แต่หากเป็นการผลิตที่มีกรรมวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อน การผลิตในรูปแบบของอุตสาหกรรมโรงงานหรือจ้างผลิตอาจมีความเหมาะสมมากกว่า นอกจากนี้ การเลือกประเภทสินค้าและวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิต ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษาถึงแนวโน้มความต้องการของตลาด เทรนด์และกระแสความนิยมควบคู่กันไปด้วย  เพื่อจะได้วางแผนเลือกผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในแต่ละตลาด อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ผู้ประกอบการเครื่องสำอางแนวสปาไทยต้องฟันฝ่าเพื่อก้าวสู่ความเป็นสากลก็คือ มาตรฐานการค้าและการผลิต ตั้งแต่กระบวนการผลิต ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ครอบคลุมไปถึงผลวิจัยรองรับ และการทดสอบต่างๆ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพ

        ดังนั้น ปัจจัยความสำเร็จท่ามกลางสภาพการแข่งขันที่มีสูงขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและมีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสม โดยเคล็ดลับความสำเร็จควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างความแตกต่างและปรับความเป็นไทยให้เข้ากับความเป็นสากล มีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมกับลูกค้าเป้าหมายแต่ละกลุ่ม และที่จะขาดไม่ได้สำหรับการธุรกิจในยุคสมัยนี้ คือ การใช้ประโยชน์จาก Online marketing เข้ามาเป็นหนึ่งตัวช่วยในการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้า ซึ่งนอกจากจะสร้างการรับรู้ได้อย่างแพร่หลายแล้ว ยังสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย จะเห็นได้ว่า การพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งและพร้อมที่จะคิดใหม่ ทำใหม่อยู่ตลอดเวลา จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเป็นผู้อยู่รอดและเติบโตในธุรกิจนี้ได้ต่อไปอย่างแน่นอน

แหล่งที่มาของข้อมูล

ธุรกิจเครื่องสำอางสมุนไพร  (ที่มา: itm.pkru.ac.th/saumnpai.pdf)
สมุนไพรอภัยภูเบศรญี่ปุ่นชื่นชอบ (ที่มา: มติชน ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552)
ปัญญ์ปุริ ออร์แกนิกสปาตะวันออก(ที่มา:http://www.nationejobs.com/content/worklife/careertalk/template.php?conno=733)
นานาทัศนะจากผู้ประกอบการไทยที่มาร่วมงาน Natural Products Expo Asia 2011 in Hong Kong (ที่มา: ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน -2011)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

รับชำระเงินด้วย อาลีเพย์ (Alipay) และ วีแชทเพย์ (WeChat Pay) ทำยังไง