เลื่อนAEC จริงรึป่าวเนี่ย....
เลื่อนAEC จริงหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่แน่ชัดแต่จากการติดตามข่าวจากสองแหล่ง ทั้งกรุงเทพธุรกิจ และ ฐานเศรษฐกิจ ก็พอจะสรุปประเด็นได้ว่า ไม่ได้เลื่อนเปิดAEC เพียงแค่กำหนดจากวันที่ 1 มกราคม 2558 เป็น 31ธันวาคม2558
จะว่าไปแล้ว AEC ไม่ได้เริ่มที่ปี2558 แต่มันเริ่มมานานแล้ว เพียงแค่ระเบียบและข้อตกลงเกิดขึ้นกันแบบ รัฐต่อรัฐ ทะยอยเปิดการค้ากันทีละเรื่อง ใครพร้อมกับใครเรื่องไหนเราก็ทำกันมาตลอด ดังนั้นการขยับไปอีกแค่300กว่าวัน ก็คงไม่มีผลอะไรมากนัก ทุกอย่างตอนนี้ต้องใส่เกียร์เดินหน้าลุยกันอย่างเดียว ย้ำอีกครั้ง AEC คือการรวมตัวสร้างฐานการผลิตเดียวกันทั้งอาเซียน เพื่อประโยชน์ร่วมกันใช้ทรัพยากรณ์ร่วมกันโดยการลดกำแพงภาษี และให้แรงงานฝีมือย้ายประเทศทำงานกันได้ ไม่มีเรื่องการรวมค่าเงินอย่างแน่นอน
แหล่งข่าวที่น่าสนใจที่สุดสำหรับเรื่อง เลื่อนAEC
1 กาแฟดำโดยสุทธิชัย หยุ่น
ข่าวมาจากไหนว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเสนอว่าจะเลื่อนการเปิดตัว Asean Economic Community (AEC)หรือ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ไปอีกหนึ่งปีจากกำหนดการเดิมปี 2015 ด้วยเหตุผลที่ว่า “บางประเทศสมาชิกไม่พร้อม”?
แรกทีเดียวเป็นประเด็นที่สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างคำพูดของคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ, เลขาธิการอาเซียน, ว่ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนประชุมกันเมื่อเดือนที่แล้ว มีมติขอให้เลื่อนการดำเนินการเปิด AEC ไปหนึ่งปี
ข่าวเดียวกันอ้างต่อว่าคุณสุรินทร์ตอบว่าจะชงเรื่องนี้ให้หัวหน้ารัฐบาลอาเซียนในการประชุมสุดยอดที่กรุงพนมเปญในเดือนพฤศจิกายนนี้
ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนได้ตกลงกันในการประชุมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าจะประกาศการก่อเกิดของ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ณ วันที่ 1 มกราคม 2015
และคุณสุรินทร์ก็ได้แจ้งมตินี้กับที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานของอาเซียนที่พนมเปญเมื่อเร็วๆ นี้
ในการประชุมครั้งนั้น คุณสุรินทร์ได้แจ้งให้ทราบว่ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ทบทวนเรื่อง AEC แล้ว และตกลงกันว่าต้องการเวลาอีกหนึ่งปี
“และท่านรัฐมนตรี (เศรษฐกิจ) ของอาเซียนได้ขอให้ผมสื่อสารไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายไปจนถึงระดับผู้นำว่าเราควรจะพูดเรื่องนี้เป็นเสียงเดียวกัน...”
คำว่า “พูดเป็นเสียงเดียวกัน” ในที่นี้ย่อมหมายถึงการที่จะให้ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนออกข่าวตรงกันว่า การเปิดตัว AEC จะเลื่อนไปหนึ่งปี
แปลว่า แทนที่จะเป็นวันที่ 1 มกราคม 2015 ก็จะเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2015
ซึ่งก็จะยังอยู่ในปีเดียวกัน เพียงแต่ให้ไปอยู่วันสุดท้ายของปีแทนที่จะเป็นวันแรกของปีนั้นนั่นเอง
แต่ต่อมาคุณสุรินทร์ก็บอกกับนักข่าวที่โทรศัพท์ไปขอความชัดเจน ว่าเรื่องนี้ตกลงจะเป็นอย่างไรกันแน่ ว่า สมาชิกอาเซียนได้พูดคุยกันใหม่แล้ว สรุปว่าทุกประเทศจะระดมสรรพกำลังของตน เพื่อที่จะให้เกิดการหลอมรวมของเศรษฐกิจอาเซียนให้สำเร็จ“ภายในปี 2015”
รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนตกลงกันใหม่ว่าจะ “จัดลำดับมาตรการสำคัญเสียใหม่” โดยไม่ถอยฉากจากข้อผูกพันที่จะประกาศการถือกำเนิดของ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
แต่กระนั้นก็ยังไม่ชัดเจนว่าวันที่ทางการที่จะ “นับหนึ่ง” สำหรับ AEC นั้น คือวันไหน...วันที่ 1 มกราคม หรือ 31 ธันวาคม ของปี 2015
สำหรับผมแล้ว การที่ AEC จะเลื่อนประกาศเปิดตัวไปอีก 360 วันเศษๆ ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ทุกประเทศสมาชิกก็จะต้องเริ่มปรับตัวกันตั้งแต่วันนี้แล้วด้วยซ้ำไป ส่วนที่ประเทศไหนจะห่วงว่าตัวเอง “ไม่พร้อม” ในประเด็นไหน ก็เป็นเรื่องที่สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นและหาทางออกร่วมกันเป็นเรื่องๆ ไป
ที่เป็นหัวใจของเรื่อง AEC คือการที่สมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ต้องมุ่งมั่นที่จะปรับระบบเศรษฐกิจภายในของตนเอง เพื่อให้สอดคล้องกับการขยับครั้งใหญ่เพื่อมุ่งสู่การเป็น “หนึ่งเดียว” ตามปฏิญญาของสมาชิกทุกประเทศในอันที่จะสร้างประโยชน์ร่วมกัน
และแม้ว่าจะเลื่อนไปอีกหนึ่งปี ประเทศไทยเราก็มิอาจจะชะลอความพยายามของเราในอันที่จะปรับโครงสร้างภายใน และการทำทุกอย่างเพื่อยกระดับ “ความสามารถในการแข่งขัน” ของคนไทยอย่างเร่งรีบและเอาจริงเอาจัง
ถ้าถามวันนี้, ผมยังเชื่อว่าเรา “ไม่พร้อม” ในหลายด้าน แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะขอเลื่อนการประกาศเปิดตัวของ AEC อย่างที่เป็นข่าว
ต้องเดินหน้าลูกเดียวครับ... ช่วยกันผลักดันสร้างความแข็งแกร่ง และภูมิต้านทานสำหรับลูกหลานของเราเอง
อีกข่าวหนึ่งจากฐานเศรษฐกิจ
เลื่อนวัน AEC จาก 1 มค 2558 เป็น 31 ธค. 2558 ?? ข่าวดีหรือข่าวร้าย
แม้จะยังไม่ชัดเจนนักแต่จากคำของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนในระยะหลัง กำหนดการเข้าสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ที่เคยประกาศไว้ว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2015 ทำท่าจะเลื่อนไปอีกเกือบ 1 ปี เป็นวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2015 เหตุผลสำคัญคือ ความไม่พร้อมของสมาชิกบางประเทศ ซึ่งแม้ ดร.สุรินทร์ ไม่ระบุแต่พอเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึง ลาว พม่ากัมพูชา และโดยลึกๆ แล้วน่าจะหมายรวมถึงประเทศไทยเราด้วยเพราะก่อนหน้านี้เคยมีการสำรวจออกมาแล้วว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเลยว่า AEC คืออะไร และจะมีผลต่อชีวิตมากน้อยแค่ไหน
ความตื่นตัวรับ AEC นั้น เพิ่งปรากฏให้เห็นจากการจัดอบรมสัมมนำมากมายทั้งโดยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชนเรารู้ว่าภาคเอกชนที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่มีการเตรียมตัว ปรับตัวรอรับความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน แต่คนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรยังรู้แต่เรื่องผลผลิตที่น้อยกับราคาที่ตกต่ำ ผู้ประกอบการ SME ยังคิดอยู่กับการเอาตัวให้รอดจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่จะมีผลทั้งประเทศในปี 2556 ส่วนประชาชนในเขตลุ่มเจ้าพระยาได้แต่สาละวนกับปัญหาน้ำท่วมที่กระทบชีวิตเฉพาะหน้ามากกว่าเรื่องอื่นที่ไกลตัว
ภาพของคนไทยส่วนใหญ่กระตือรือร้นต่อ AEC แค่ไหนที่เห็นและเป็นอยู่คือ ยังใช้ชีวิตสบายๆ คือไทยแท้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเคยชินกับการจ่ายค่าแรงถูกๆเทคโนโลยีต่ำๆ ไม่มีงบวิจัยพัฒนา เคยชินกับการเลี่ยงภาษีและการแข่งขันแบบจ่ายใต้โต๊ะ
ข้าราชการไทยนอกจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องAECแล้ว กระทรวงอื่นๆ รู้และตื่นตัวแค่ไหนโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการที่ยังสอนเด็กวัดผลสำเร็จของการศึกษาด้วย”เกรด” มากกว่าคุณภาพของบัณฑิตที่จบการศึกษาแล้ว “ทำงานเป็น”
การเลื่อน AEC จากต้นปี 2015 ไปเป็นปลายปี เพื่อให้เวลากับความพร้อมที่ 10 ชาติสมาชิกจะเดินหน้าไปพร้อมๆกันนั้นประเทศไทยจะนั่งยินดีกับช่วงเวลาที่ได้เพิ่มมาอีก 1 ปี อย่างไร เราจะถือเป็นโอกาสทองในการเติมเต็มความพร้อมของคนในประเทศเข้าสู่เวทีแห่งการแข่งขัน หรือจะปล่อยเวลาให้เสียเปล่าเพื่อนับถอยหลังไปวัดดวงกันว่าถ้าไม่โตก็ตาย
อ่านต่อ: http://www.thai-aec.com/567#ixzz28dEq70K1
ความคิดเห็น