การพัฒนาธุรกิจค้าส่ง...เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC



การพัฒนาธุรกิจค้าส่ง...เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC


ธุรกิจค้าส่ง[1] ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงไม่แตกต่างจากธุรกิจค้าปลีก ภายหลังธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติ หรือModern Trade ได้มีการพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจค้าปลีกให้เป็นลักษณะของการค้าส่งด้วย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอุปโภค บริโภค ส่งผลให้ร้านค้าปลีกรายย่อยหรือค้าปลีกเอสเอ็มอีบางรายหันไปซื้อสินค้าจาก Modern Trade มาจำหน่ายแทนการซื้อจากผู้ประกอบการค้าส่ง ประกอบกับการก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการค้าส่งต้องเผชิญการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากอาเซียน รวมถึงการเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจค้าส่งของนักลงทุนอาเซียน


อย่างไรก็ตาม ด้วยความได้เปรียบในเรื่องของความชำนาญในพื้นที่ชุมชน เส้นทางการจัดส่งสินค้า รวมถึงระบบเครือข่ายระหว่างผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกที่มีความใกล้ชิด และมีความคุ้นเคยจากการทำการค้าขายด้วยกันมายาวนาน อาจจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งใช้จุดแข็งตรงนี้ในการรักษาฐานลูกค้า และมีโอกาสทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นภายหลังเปิด AEC แต่ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวทางการค้าทั้งระบบมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ดังนั้น ผู้ประกอบการค้าส่งเองก็ต้องพยายามปรับปรุงระบบการดำเนินธุรกิจให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งของผู้ผลิต หรือซัพพลายเออร์ รวมถึงความต้องการของผู้ค้าปลีกรายย่อยไปจนถึงผู้บริโภคสุดท้าย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นภายหลังการเปิด AEC อย่างเต็มรูปแบบในปี 2558

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน-AEC…ผลต่อธุรกิจค้าส่งของไทย
                         


                    แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจค้าส่งของไทยนอกจากจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศแล้ว การเติบโตของธุรกิจค้าส่งอาจจะยังผันแปรไปตามแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจค้าส่งอีกด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการค้าส่งจะต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ซึ่งในที่นี้คือ ผู้ประกอบการค้าปลีก อาทิ การบริการในด้านต่างๆ (การขนส่ง การให้สินเชื่อ เป็นต้น) รวมถึงการกำหนดราคาขายส่งที่สามารถยอมรับได้ทั้งผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีก ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการค้าส่งก็ต้องเจรจากับผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ในการต่อรองราคาสินค้า เพราะปกติผู้ประกอบการค้าส่งจะจำหน่ายสินค้าในราคาต่ำ แต่เน้นปริมาณ ดังนั้น หากเจรจาต่อรองเรื่องของราคาสินค้ากับผู้ผลิตได้ถูกเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการค้าปลีกได้มากขึ้นเท่านั้น
                   
             


                    สำหรับการก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ที่เหลือระยะเวลาอีกเพียงแค่ 3 ปีต่อจากนี้ไป นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลทำให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจค้าส่งมีความตื่นตัวไม่แตกต่างจากภาคธุรกิจค้าปลีกเช่นกัน เนื่องจากหลายฝ่ายเกรงว่า การเปิด AEC จะส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าส่งของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างยี่ปั๊ว หรือซาปั๊ว ฯลฯ อาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ยากลำบากมากขึ้น หากทุนใหญ่จากนักลงทุนต่างชาติสนใจที่จะเข้ามาทำธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในไทย โดยอาศัยสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายหลังการเปิด AEC ซึ่งการเปิดเสรีดังกล่าว อาจจะซ้ำรอยกับเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ที่บรรดาค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่จากต่างชาติ หรือ Modern Trade เข้ามารุกขยายตลาดในไทยเป็นจำนวนมาก และทำให้อำนาจการต่อรองของผู้ประกอบการค้าส่งเอสเอ็มอีของไทยที่เคยมีกับผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ค่อยๆ ลดน้อยลง จนทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยบางราย โดยเฉพาะที่เน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคหันไปสั่งซื้อสินค้าจาก Modern Trade ที่มีราคาถูกกว่ามากขึ้น
                    อย่างไรก็ตาม ผลจากการเปิด AEC ก็ย่อมสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการค้าส่งของไทยเช่นกัน กล่าวคือ
   ด้วยลักษณะของการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการค้าส่งจะต้องหาซื้อสินค้าที่มีต้นทุนต่ำสุด เพื่อที่จะนำมาเสนอขายให้กับร้านค้าปลีกได้ ดังนั้น ผลจากการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ทำให้ผู้ประกอบการค้าส่งมีโอกาสที่จะนำเข้าสินค้าราคาถูกจากประเทศอาเซียนมาเสนอขายให้กับบรรดาร้านค้าปลีกได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการสร้างความหลากหลายของสินค้าให้ลูกค้าได้มีทางเลือกมากขึ้น โดยประเทศที่ไทยมีการนำเข้าสินค้ามาจำหน่าย อาทิ

ประเทศตัวอย่าง
ลักษณะการทำการค้า
นำเข้าสินค้าจากมาเลเซีย
อาทิ ขนมขบเคี้ยว ช็อกโกแลต ผลไม้สด
ผลไม้อบแห้ง ชา กาแฟ เป็นต้น
-มาเลเซียนับเป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารหลายชนิด โดยสินค้าที่มีความโดดเด่น ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว ช็อกโกแลต เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งช่องทางในการติดต่อหาคู่ค้าอาจค้นหาข้อมูลจากหน่วยงาน เช่น กรมส่งเสริมการส่งออกของมาเลเซีย หรือ MATRADE ซึ่งมีข้อมูลทำเนียบผู้ประกอบการเสนอในเว็บไซต์ ซึ่งที่ผ่านมา ได้นำผู้ผลิตมาร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในประเทสไทยด้วยเช่นกัน การติดต่อสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง อาจเป็นช่องทางที่ช่วยให้ผู้ค้าส่งของไทยมีต้นทุนสินค้าที่ต่ำลง หากมีการซื้อในปริมาณค่อนข้างมาก
-ในขณะที่ผู้ค้าส่งรายย่อย สินค้าที่นำเข้ามาส่วนใหญ่จะมีการซื้อขายผ่านด่านไทย-มาเลเซีย หรือเรียกว่า ด่านปาดังเบซาร์ โดยการนำเข้าสินค้าจะต้องผ่านผู้ค้าส่ง หรือพ่อค้าคนกลางที่เป็นยี่ปั๊วรายใหญ่ --->ซาปั๊ว หรือร้านค้าปลีก--->ผู้บริโภค
-ซึ่งหากจะนำเข้าจากผู้ค้าของมาเลเซียโดยตรงอาจจะค่อนข้างยาก ซึ่งต้องอาศัยการติดต่อการทำการค้ามายาวนานพอสมควร จนเกิดความเชื่อใจกัน หรือมีเครือข่ายหรือคนรู้จักที่เป็นคนมาเลเซียอยู่ก่อนแล้ว
-ดังนั้น ผู้ประกอบการค้าส่งที่สนใจจะนำเข้าสินค้าจากมาเลเซียมาจำหน่ายต่อให้กับร้านค้าปลีก รายย่อยอาจจะต้องนำเข้าจากยี่ปั๊วคนไทยอีกต่อหนึ่ง
นำเข้าสินค้าจากชายแดนไทย-กัมพูชา
อาทิ สินค้ามือสอง เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสาน ถ้วยชาม เป็นต้น
-การค้าที่สำคัญตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา คือ ตลาดโรงเกลือ (อรัญประเทศ) ซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าแฟชั่น รวมถึงสินค้าอุปโภค บริโภคมากมาย
-ผู้ค้าส่งคนไทยส่วนใหญ่จะไปรับสินค้าจากผู้ค้าในตลาดโรงเกลือมาจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง โดยผู้ค้าในตลาดโรงเกลือส่วนใหญ่จะเป็นชาวกัมพูชา และมีผู้ค้าส่งคนไทยบ้าง
-ดังนั้น ตลาดโรงเกลือจึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ผู้ประกอบการค้าส่งของไทยสามารถไปเลือกซื้อสินค้ามาจำหน่ายต่อให้กับร้านค้าปลีกรายย่อย/ผู้บริโภคได้
       ผู้ประกอบการค้าส่งของไทยมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจ ทั้งในรูปของการค้าส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะการค้าส่งสินค้าตามแนวชายแดน  ไม่ว่าจะเป็นตามแนวชายแดนพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่มีการทำการค้าผ่านแนวชายแดนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของการค้าทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการค้าส่งของไทยที่เห็นได้ชัด เพราะปัจจุบันการส่งออกสินค้าและบริการไปยังประเทศดังกล่าวตามแนวชายแดนส่วนใหญ่จะผ่านทางผู้ประกอบการค้าส่งอย่างยี่ปั๊ว หรือซาปั๊ว รวมถึงมีผู้ค้าปลีกจากอาเซียนไม่ว่าจะเป็น พม่า ลาว กัมพูชา รวมไปถึงมาเลเซียข้ามแดนเข้ามาซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการค้าส่งของไทยไปจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ เป็นจำนวนมาก บ่งบอกถึงพฤติกรรมการนิยมใช้สินค้าไทย

   ในขณะที่การออกไปทำธุรกิจค้าส่งในประเทศอื่นๆ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ตามแนวชายแดน อาจจะออกไปทำการค้าส่งค่อนข้างลำบาก และอาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควรในการศึกษาพื้นที่ และเส้นทางการขนส่ง รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับร้านค้าปลีกรายย่อยในพื้นที่นั้นๆ แต่ทั้งนี้ โอกาสของผู้ประกอบการค้าส่งที่สนใจจะขยายธุรกิจไปยังประเทศอาเซียน อาจจะเป็นไปในลักษณะของการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่จะขายได้ มักเป็นแบรนด์สินค้าที่ผู้ผลิตได้เคยไปทำการตลาดไว้ และเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภครู้จักและคุ้นเคยอยู่ก่อนแล้ว

                    ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเปิดเสรี AEC ก็ย่อมเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการค้าส่งของไทยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการค้าส่งของไทยพร้อมที่จะใช้โอกาสเหล่านี้ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถปรับตัวทั้งเชิงรับและเชิงรุกได้ก่อน ก็ย่อมมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น

                    ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับช่องทางการค้าส่ง หรือลักษณะการทำการค้าของประเทศในอาเซียน ที่มีโอกาสโดยเฉพาะประเทศกลุ่มอาเซียนใหม่ (เวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า) ที่น่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการค้าส่งของไทยในการขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประเทศ
ลักษณะและช่องทางการค้า
สินค้าของไทยที่มีโอกาส
ลาว

-สินค้าที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่จะอยู่ตามร้านค้าปลีกทั่วไป หรือร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า
-ช่องทางการกระจายสินค้าจะมีด้วยกันหลายช่องทาง ได้แก่
1. ผู้ผลิตสินค้า--->ผู้บริโภคลาว
2. ผู้ผลิตสินค้า--->ผู้ค้าส่ง--->ร้านค้าปลีกหรือตัวแทนจำหน่ายในลาว ซึ่งช่องทางนี้นับว่ามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะการค้าตามแนวชายแดน โดยสินค้าจากผู้ผลิตจะผ่านทางผู้ค้าส่งในหลายจังหวัด อาทิ อุบลราชธานี อุดรธานี และหนองคาย ผ่านทางนครหลวงเวียงจันทร์ หลวงพระบาง และจำปาสัก ซึ่งทั้ง 3 จุดนี้ ผู้ค้าส่ง/ค้าปลีกรายย่อยของลาวก็จะทำหน้าที่กระจายสินค้าไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป
-สินค้าอุปโภค บริโภค เป็นสินค้าดาวเด่นของไทยและเป็นที่ต้องการอย่างมาก อาทิ สินค้าจำพวกอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภคคุ้นเคยกับตราสินค้าของไทย และมีราคาไฟแพงจนเกินไป
-อุปรณ์ และเครื่องจักรกลทางการเกษตรขนาดเล็ก ปุ๋ย สารเคมี เป็นต้น

พม่า




-สินค้าที่วางจำหน่ายหากอยู่ในเมืองใหญ่ๆ เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์และเมืองหลวงเนปิดอจะอยู่ตามห้างสรรพสินค้า และอาจพบเห็นตามร้านค้าทั่วไปบ้าง
-มีแหล่งค้าส่งที่สำคัญที่จะกระจายสินค้าไปยังเมืองต่างๆ โดยเฉพาะย่างกุ้ง และเมียวดีที่เป็นแหล่งกระจายสินค้าที่สำคัญของประเทศ
-ช่องทางการจัดจำหน่ายจะมีหลายรูปแบบ โดยส่วนใหญ่จะต้องอาศัยผู้ค้าอิสระ หรือผู้ค้าคนกลางช่วยสร้างตลาดและกระจายสินค้า
1. จัดจำหน่าย 2 ระดับ ผู้ค้าส่ง/ตัวแทนจำหน่ายสินค้า--->ผู้ค้าปลีก
2. จัดจำหน่าย 3 ระดับ ผู้ค้าส่ง--->ผู้ค้าอิสระ--->ผู้ค้าปลีก
-สำหรับการค้าตามแนวชายแดน จะมีผู้ค้าส่งหรือร้านค้าปลีกรายย่อยเดินทางเข้ามารับสินค้าจากผู้ค้าส่งในไทยและนำไปกระจายต่อให้กับร้านค้าปลีกรายย่อยทั่วไป ผ่านช่องทางอ. แม่สอด จ. ตากกับเมือง เมียวดีของพม่า
-สินค้าอุปโภค บริโภค อาทิ อาหาร อาหารแปรรูป เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ผงซักฟอก เป็นต้น เนื่องจากมีการเปิดประเทศมากขึ้น ขณะที่ไม่สามารถผลิตสินค้าดังกล่าวได้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ
-อุปกรณ์ และวัสดุก่อสร้าง อาทิ อิฐบล็อก กระเบื้อง เหล็ก เป็นต้น เพื่อรองรับการขยายการลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและสิ่ง อำนวยความสะดวกอื่นๆ
กัมพูชา



-สินค้าที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่จะอยู่ตามร้านค้าปลีกทั่วไป หรือร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า
-ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้ามีหลายรูปแบบ
1. ผู้ผลิต--->ผู้ค้าส่ง/ผู้ค้าปลีก--->ผู้บริโภค 
2. ผู้ผลิต--->ผู้นำเข้า--->ผู้บริโภค
-การค้าตามแนวชายแดน เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีการทำการค้ากันมาก โดยสินค้าจากผู้ผลิตสินค้าจะผ่านไปยังผู้ค้าส่ง หรือผู้นำเข้า หลังจากนั้นก็จะกระจายสินค้าต่อไปยังร้านค้าปลีกรายย่อยที่เป็นเครือข่ายกัน
-สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากมีพฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อโทรทัศน์ของไทย
-สินค้าหมวดเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และเครื่องประดับบ้าน รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า
-วัสดุก่อสร้าง เพื่อรองรับกับการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ รวมถึงระบบสาธารณูปโภค
เวียดนาม



-ผู้บริโภคเวียดนามยังคงมีการซื้อสินค้าผ่านทางร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ แต่ช่องทางร้านค้าสมัยใหม่ อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ศูนย์การค้า เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
-ผู้นำเข้า/ตัวแทนจำหน่ายของเวียดนาม มีส่วนสำคัญในการกระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีกต่างๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องติดต่อกับผู้นำเข้า/ตัวแทนจำหน่ายที่มีเครือข่ายร้านค้าจำนวนมาก เพื่อให้สินค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น
-การค้าข้ามแดน เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการค้าที่ผู้ประกอบการค้าส่งของไทยใช้ในการกระจายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป เป็นต้น โดยจะทำการขนส่งสินค้าทางรถยนต์ผ่านด่านกัมพูชาซึ่งติดกับทางตอนใต้ของเวียดนาม เป็นวิธีที่สะดวกและไม่ยุ่งยาก ซึ่งผู้ประกอบการค้าส่งผลไม้ของไทยนิยมทำกันมาก
-สินค้าอุปโภค บริโภค อาทิ ผัก-ผลไม้ น้ำตาลทราย ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น
-เครื่องสำอาง เนื่องจาก เชื่อมั่นในคุณภาพ และมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับแบรนด์ยุโรป
-อุปกรณ์ซ่อมรถจักรยานยนต์ รวมถึงวัสดุก่อสร้าง



                    จากตาราง จึงมีโอกาสเป็นไปได้ว่า ผู้ประกอบการค้าส่งเอสเอ็มอีของไทยอาจจะอาศัยความได้เปรียบทางการค้าขายชายแดนที่มีความคุ้นเคยกันมาก่อน และมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ออกไปตั้งเป็นลักษณะของศูนย์กระจายสินค้า หรือร้านค้าส่งย่อยๆ ในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคู่ค้า สร้างความสะดวกสบาย และสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น
                    ทั้งนี้ ช่องทางการค้าส่งสินค้าผ่านการค้าชายแดนไปยังประเทศดังกล่าวจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน พอจะสรุปออกมาเป็น Flowchart ได้ดังนี้









                     



















การปรับตัวของผู้ประกอบการค้าส่ง...เตรียมความพร้อมรับการแข่งขันที่รุนแรง
            ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในปี 2558 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการค้าส่งเอสเอ็มอีของไทยเผชิญกับการแข่งขันที่ยากลำบากมากขึ้น ดังนั้น การเตรียมความพร้อมและเร่งปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มจะทำให้ธุรกิจมีโอกาสในการแข่งขันและอยู่รอด เพราะแม้แต่ผู้ประกอบการค้าส่งรายใหญ่ของไทยยังต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเองจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ยากลำบากกว่า ดังนั้น การเปลี่ยนทัศนคติของตัวเอง การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจยังมีโอกาสในการเติบโต และแข่งขันได้
                    ทั้งนี้ พื้นฐานในการปรับตัวของผู้ประกอบการค้าส่งเอสเอ็มอี (ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือผู้ค้าส่งท้องถิ่นต่างๆ) อาจจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันกับผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอี เช่น การบริหารจัดการทางด้านต้นทุน การสร้างความหลากหลายของสินค้าที่นำมาจำหน่าย เป็นต้น แต่อาจจะมีบางประเด็นที่อาจจะให้ความสำคัญที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการค้าปลีกจะให้ความสำคัญในการหาทำเลที่ตั้งของร้านค้าเป็นลำดับต้นๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการค้าส่งอาจจะไม่เน้นทำเลที่ตั้งของร้าน แต่อาจจะคำนึงถึงค่าเช่าพื้นที่ ค่าสิ่งปลูกสร้าง จะต้องมีพื้นที่สำหรับสร้างคลังสินค้า จอดรถขนถ่ายสินค้าสะดวก โดยที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสถานที่ไม่สูงมากนัก เป็นต้น
                     นอกจากนี้ ก่อนที่จะเปิด AEC ในปี 2558 ผู้ประกอบการค้าส่งเอสเอ็มอีของไทยควรที่จะเตรียมความพร้อมในการแข่งขัน โดยสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการค้าส่งจะต้องให้ความสำคัญ มีดังนี้
§   การบริหารคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพ นับเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการค้าส่งจะต้องให้ความสำคัญ สินค้าชนิดใดที่มีการหมุนเวียนบ่อยที่สุด ขายได้จำนวนมาก สินค้าชนิดใดที่ขายได้น้อย ผู้ประกอบการจะต้องทำการสำรวจ และตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องของสินค้าจม เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้น หากผู้ประกอบการค้าส่งมีการบริหารจัดการคลังสินค้าที่ดี ก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการค้าส่งรายใหญ่หลายเริ่มนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ และมีผู้ผลิตที่เข้าไปช่วยให้คำแนะนำในเรื่องของการบริหารจัดการสินค้าให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น
§   ระบบการขนส่ง การขนส่งจะส่งผลกระทบต่อการตั้งราคาของผลิตภัณฑ์ การทำหน้าที่ในการจัดส่งสินค้า เมื่อถึงมือลูกค้า (ร้านค้าส่ง-ร้านค้าปลีกย่อย) นั้น จะต้องมีการบริหารเวลาให้รวดเร็ว และสินค้ายังอยู่ในสภาพดี นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการค้าส่งจะต้องคำนึงถึง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประหยัดทางด้านต้นทุน รวมถึงสามารถจัดการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคได้ตรงเวลา ทั้งนี้ การขนส่งสินค้ามีอยู่หลายทางด้วยกัน เช่น การขนส่งทางเรือ รถไฟ รถบรรทุก เป็นต้น
§   ความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการค้าส่งกับผู้ผลิต/ซัพพลายเออร์ การอยู่รอดของทั้งซัพพลายเออร์และผู้ประกอบการค้าส่งจะต้องอาศัยความร่วมมือกัน จากอดีตผู้ผลิต/ซัพพลายเออร์จะให้ความสำคัญกับค้าปลีกต่างชาติหรือ Modern Trade มากขึ้น จนทำให้อำนาจในการต่อรองของผู้ประกอบการค้าส่งของไทยเริ่มลดลง และไม่สามารถแข่งขันได้ ทำให้กลไกของตลาดเริ่มเสียความสมดุล อำนาจการต่อรองราคาสินค้าไปตกอยู่ที่ Modern Trade มากขึ้น ผู้ผลิต/ซัพพลายเออร์เริ่มประสบปัญหา ดังนั้น การร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการค้าส่งกับผู้ผลิต/ซัพพลายเออร์นับว่ามีความสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ระบบการค้าของไทยยังคงดำเนินไปได้ และสามารถรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงได้
§   การสร้างความสัมพันธ์กับร้านค้าปลีกเครือข่าย น่าจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ผู้ประกอบการค้าส่งควรนำมาใช้สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้เหนียวแน่น เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำในเรื่องของการบริหารจัดการให้กับร้านค้าปลีกรายย่อย หรือโชห่วย เพื่อให้สามารถยืนอยู่ได้ อาทิ การจัดทำร้านโชห่วยต้นแบบเพื่อให้ลูกค้าได้เข้ามาทำการเรียนรู้ และนำไปบริหารจัดการร้านค้าของตนเอง รวมถึงการแวะไปเยี่ยมเยียนลูกค้าบ่อยครั้งขึ้น เพื่อสร้างความผูกพันที่ดีระหว่างกัน ซึ่งวิธีการนี้ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการค้าส่งรายใหญ่รายหลายเริ่มหันมาใช้กลยุทธ์ดังกล่าวกันมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน หากผู้ประกอบการค้าส่งเอสเอ็มอีของไทยต้องการที่จะรุกขยายตลาดในอาเซียน  ผู้ประกอบการจะต้องมีการเตรียมความพร้อมได้ด้านต่างๆ ดังนี้

§   การศึกษาข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบที่จะทำการค้าในแต่ละประเทศสมาชิกในอาเซียน เพื่อให้การทำการค้าเป็นไปอย่างถูกต้อง และสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
§   ศึกษาเส้นทางการขนส่งสินค้า รวมถึงพื้นที่ที่จะเข้าไปทำการค้าส่ง ว่าบริเวณดังกล่าวมีร้านค้าส่งหรือร้านค้าปลีกมากน้อยเพียงใด เป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ และหากเข้าไปตั้งศูนย์กระจายสินค้า หรือร้านค้าส่งในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว สามารถสร้างเครือข่ายกับร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกย่อยในท้องที่ได้มากน้อยแค่ไหน

§   ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าประเภทไหน โดยอาจจะสอบถามผ่านทางร้านค้าปลีกย่อย รวมทั้งศึกษากลุ่มผู้บริโภคโดยตรง เพื่อที่จะได้ทำการจัดหาสินค้าไปนำเสนอขายให้กับร้านค้าปลีกรายย่อยได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
§   ติดต่อหาเครือข่ายร้านค้า หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าในอาเซียน เพื่อร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ดีต่อกัน โดยผู้ประกอบการค้าส่งของไทยอาจจะอาศัยความคุ้นเคยจากการค้าชายแดนที่มีการซื้อขายกันก่อนหน้านี้ เพื่อใช้ในการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆให้เพิ่มขึ้น เป็นต้น
                    กล่าวโดยสรุปแล้ว การเปิดตลาด AEC ส่งผลให้ภาคธุรกิจค้าส่งของไทยมีการตื่นตัวกันมากขึ้น โดยเฉพาะยี่ปั๊ว ซาปั๊วที่อาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ยากลำบากมากขึ้น หากมีนักลงทุนจากอาเซียนสนใจที่จะเข้ามาทำธุรกิจค้าส่งในไทย และสามารถบริหารจัดการต้นทุนและจำหน่ายสินค้าในราคาที่ถูกกว่า อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสภาพการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการค้าส่งเอสเอ็มอีของไทยก็ยังคงมีโอกาสเช่นกัน ด้วยความได้เปรียบในเรื่องของความชำนาญในพื้นที่ชุมชน เส้นทางการจัดส่งสินค้า รวมถึงระบบเครือข่ายระหว่างผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกที่มีความใกล้ชิด และมีความคุ้นเคยจากการทำการค้าขายด้วยกันมายาวนาน อาจจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งใช้จุดแข็งตรงนี้ในการรักษาฐานลูกค้า



    อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการค้าส่งเอสเอ็มอีของไทยก็ควรที่จะพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อาทิ การบริหารจัดการต้นทุนให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการบริหารคลังสินค้า การบริหารระบบขนส่ง เป็นต้น นอกจากนี้ การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์ เพื่อช่วยในการเจรจาต่อรองราคาสินค้า รวมถึงการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับร้านค้าปลีกร ายย่อย เพื่อรักษาฐานลูกค้าให้เหนียวแน่น นับว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ระบบการค้าของไทยยังคงดำเนินไปได้ ตลอดจนสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดอาเซียนได้ในระยะต่อไป



[1] ธุรกิจค้าส่ง หมายถึง ธุรกิจขายสินค้าและบริการให้กับผู้ซื้อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการขายต่อ หรือซื้อไปใช้ในการประกอบธุรกิจ จากความหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การค้าส่งเป็นกิจกรรมทางด้านการขายสินค้าและบริการ ซึ่งผู้ซื้อไม่ได้ซื้อไปเพื่อการอุปโภคบริโภค แต่จะซื้อไปเพื่อการขายต่อเท่านั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
มกราคม 2555







ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

รับชำระเงินด้วย อาลีเพย์ (Alipay) และ วีแชทเพย์ (WeChat Pay) ทำยังไง