เซ็นทรัล-เดอะมอลล์ เตะตาBusiness Model Club21

รูปแบบการค้าปลีก มีการปรับโมเดลกันมาโดยตลอดตามพฤติกรรมผู้บริโภค หากไล่เรียงตามลำดับ ก็ตั้งแต่การเป็น ร้านขายของชำ ห้าง+ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าพลาซ่า แต่โมเดลมาเป็น สเปเชียลตี้สโตร์ (ภาษาโหดร้ายเรียกว่า Catagory Killer ) ดิสเค้าสโตร์ จนมาถึง Community mall
นับว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่ได้เห็นรูปแบบร้านค้าปลีกครบเกือบทุกรูปแบบในโลกนี้และโลกหน้า ผู้เล่นในตลาดของไทยคงเหลือที่แข็งแกร่งแข่งขันกัน ก็คงเห็นเพียง เซ็นทรัล กับ เดอะมอลล์ ที่ยังสู้กันได้ในสมรภูมิเมือง การสร้างความแตกต่างของตัวห้างสรรพสินค้า จึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกับแบรนด์ที่จะดึงดูดคนเข้าห้าง คนไหนถือแบรนด์ที่ดึงดูดคนได้มากกว่า ก็สามารถช่วงชิงลูกค้าได้มากกว่า ซึ่งปัจจุบันโลกแคบลงการเข้าถึงแบรนด์มีมากขึ้นจำนวนแบรนด์ก็มากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาระบบจัดจำหน่ายแบบใหม่ๆ อย่าง Business Model ของ Club 21 ทีไปเตะตาต้องใจจนห้างใหญ่ปรับตัวปรับองค์กร ให้มีหน่วยบริหารจัดการตราสินค้า วิ่งหาแบรนด์อินเตอร์มาอยู่ในครอบครอง


ยักษ์ ค้าปลีกตามรอยความสำเร็จคลับ 21 เดินหน้าผุดร้านมัลติแบรนด์ นำเข้า "แฟชั่น-สินค้าหรู" เปิดตลาดในไทย ล่าสุดเดอะมอลล์ไม่ยอมน้อยหน้าเซ็นทรัล ผุด "คอมเทม ซาลอง" ขน 18 แบรนด์ยุโรปเอาใจนักช็อป มองเป้าหมายต่อยอดธุรกิจ รับกำลังซื้อและพื้นที่ค้าปลีกขยายตัว ด้านคลับ 21 ยังเดินหน้าเปิดช็อปใหม่ไม่ยั้ง




การแข่งขันของร้านมัลติแบรนด์ เริ่มคึกคักและร้อนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่หันมาสนใจธุรกิจรูปแบบนี้อย่าง จริงจัง ด้วยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจำนวนมากมาจำหน่ายรวมกันภายใต้รูปแบบร้าน "มัลติแบรนด์" เพื่อทดลองตลาด หากแบรนด์ใดได้รับการต้อนรับจะขยายเป็นช็อปของแบรนด์นั้น ๆ โดยเฉพาะ โดยที่ผ่านมา เซ็นทรัลกรุ๊ปส่งไม้ให้ "ซีเอ็มจี" ขนทัพ 60 แบรนด์ จัดเต็มในพื้นที่ร้านเน็กซ์ทูนอร์มอล เซ็นทรัลเวิลด์



ล่าสุดเด อะมอลล์เป็นอีก รายที่หันมาเปิดแนวรบเดียวกัน ยุบรวม "อีแอนด์พี ซีเล็กซ์ทีพ" ที่ได้ทดลองเปิดก่อนหน้านี้แล้วนั้น มาไว้เป็นส่วนหนึ่งในร้าน "คอนเทม ซาลอง" ที่รวมสินค้านำเข้ากว่า 18 แบรนด์ รองรับการเติบโตของพื้นที่ค้าปลีกที่เดอะมอลล์กำลังขยายสาขาเอ็มโพเรียม 2-3, บลูพอร์ท หัวหิน



ปัจจุบันผู้เล่นหลักในตลาดนี้คือคลับ 21 และคลาวไนน์



ปรับร้านใหม่รับเอ็มโพเรียม 2



นาย ชัยโรจน์ ศรีเดชะรินทร์กุล ผู้จัดการใหญ่บริหารสินค้า บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ดูแลแผนกธุรกิจแบรนด์แอนด์ ไลฟ์สไตล์ ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ล่าสุดได้เปิดตัวคอนเทม ซาลอง (Contemp Salon) ป๊อบ-อัพสโตร์ รวบรวมแบรนด์แฟชั่นสไตล์โมเดิร์นคอนเทมโพรารี่ ในรูปแบบ Multi Label เปิดเป็นแฟลกชิปสโตร์ 2 แห่ง ที่เอ็มโพเรียมและสยามพารากอน โดยพัฒนาขึ้นมาใหม่ หลังจากเคยทำคอนเซ็ปต์นี้มาก่อนในชื่อ "อีแอนด์พี ซีเล็กซ์ทีฟ"



"แนวคิดของเรา คอนเทม ซาลอง คือห้องทดลองในการนำแบรนด์แฟชั่นเข้ามาทำตลาด ทั้งเสื้อผ้าและแอ็กเซสซอรี่ โดยนำร้านอีแอนด์พี ซีเล็กซ์ทีฟ มารวมไว้ด้วยกัน ซึ่งแบรนด์ใดได้รับการตอบรับจะพัฒนาต่อเป็นโมโนแบรนด์ เปิดเป็นร้านแนวช็อปอินช็อปในพื้นที่ห้าง ที่จะมี 3 แบรนด์ คือโจเซฟ, วาเนสซ่า บรูโน, พอล แอนด์ โจ ซิสเตอร์"



สินค้าภายในพื้นที่คอนเทม ซาลอง ประกอบด้วยกลุ่มเสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า สำหรับผู้หญิงกว่า 18 แบรนด์ นำเข้าจากยุโรปเป็นส่วนใหญ่ อาทิ เอ็มม่า คุก, เฮ้าส์ออฟฮอลแลนด์, โจเซฟ, พอลแอนด์โจ, วาเนสซา บรูโน ฯลฯ ราคาสินค้าเน้นจับกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับบีบวก ชื่นชอบสินค้าที่เน้นใส่ได้จริง ไม่หรูหรามากเกินไป



การพัฒนาร้านใน รูปแบบดังกล่าว สอดรับกับนโยบายของเดอะมอลล์ ที่กำลังจะเปิดเอ็มควอเทีย (เอ็มโพเรียม 2) มีแบรนด์ดัง ๆ มาเปิดร้าน หรือแฟลกชิปสโตร์อีกมาก ทำให้ร้านค้าในเอ็มโพเรียม 1 ต้องปรับตัวให้เกิดความแตกต่าง



"ต่อไป เอ็มโพเรียม 2 จะมีแบรนด์เข้ามาเปิดร้านมาก จึงต้องมีคอนเทม ซาลอง มาสร้างความแตกต่างให้เอ็มโพเรียม 1 จากที่เคยใช้ชื่ออีแอนด์พี มาจัดหมวดหมู่สินค้าใหม่ ให้อยู่ในพื้นที่ขนาด 200 ตารางเมตร"



แบรนด์นอกหันซบไทย



นาย ชัยโรจน์กล่าวอีกว่า ขณะนี้แบรนด์ดัง ๆ ในต่างประเทศ สนใจเข้ามาทำตลาดในไทย มีทั้งรายเก่าที่เคยเข้ามาแล้ว และรายใหม่ที่สนใจ ส่วนใหญ่แบรนด์เหล่านี้ยังไม่มีตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเดิมการติดต่อเป็นไปด้วยความยุ่งยาก แต่ปัจจุบันยอมรับว่าการเจรจาง่ายขึ้น นอกจากนี้ เจ้าของแบรนด์ยังเปิดกว้าง ยอมให้มีตัวแทนจำหน่ายมากกว่า 1 ราย



อาทิ เครื่องประดับชูรูก (SHOUROUK) ของฝรั่งเศส มอบให้ทั้งเดอะมอลล์ กรุ๊ป และคลับ 21 เป็นรีเซลเลอร์ โดยมีการแบ่งกันอย่างชัดเจน



รูป แบบร้านมัลติแบรนด์จึงมีแนวโน้มเติบโต และไปในทิศทางเดียวกับร้านแนวซีเล็กต์สโตร์ ในแถบยุโรป เปิดเป็นร้านเล็ก ๆ ก่อนขยายเป็นดิสทริบิวเตอร์ กลไกสำคัญทำให้ร้านแนวนี้ประสบความสำเร็จ คือต้องเลือกสินค้ามาจำหน่ายให้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด



คลับ 21 เน้นโตแล้วแตก



ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันคลับ 21 ใช้โมเดลธุรกิจนี้ทดลองกำลังซื้อแบรนด์ต่าง ๆ ในตลาดอย่างได้ผล ทั้งคลับ 21 วูแมน, คลับ 21 เมน, คลับ 21 แอ็กเซสซอรี่ ก่อนจะนำแบรนด์ดัง ๆ ที่ติดตลาดไปเปิดเป็นช็อปในลักษณะแฟลกชิปสโตร์ คอนเซ็ปต์สโตร์ ตามพื้นที่ค้าปลีกย่านใจกลางเมือง ซึ่งหันมาโฟกัสกลุ่มแฟชั่น และพยายามสร้างภาพสู่การเป็น "ผู้นำ" ในตลาดช็อปที่คลับ 21 เปิดในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งช็อปแอ็กเซสซอรี่ของดีเคเอ็นวายและคาลวินไคล์น ที่เซ็นทรัล ชิดลม, อเล็กซานเดอร์ แมคควีน ที่เอราวัณ แบงค็อก ฯลฯ ตลอดจนมีแผนนำอีกหลายแบรนด์ในเครือไปเปิดช็อปที่เอ็มโพเรียม 2



ขณะ ที่คลาวไนน์ นอกจากมีช็อปรวมเสื้อผ้าเก๋ ๆ จากทั่วโลก ยังมีช็อปรองเท้าแบรนด์ดัง ที่เซ็นทรัล ชิดลม รวมถึงจะมีการเพิ่มแบรนด์ร็อคซานดา อิลลินชิค และพรีนเข้ามา พร้อมวางแผนต่อยอดเป็นดิสทริบิวเตอร์แบรนด์ที่ทำอยู่อีก 2-3 ยี่ห้อ ซึ่งนางประนับดา พรประภา กรรมการผู้จัดการ ยอมรับว่า ปัจจุบันมีร้านคอนเซ็ปต์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ตามเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป



"การเดินทางท่องเที่ยว หรือเปิดรับโซเชียลมีเดีย ทำให้เห็นเทรนด์ และสินค้าใหม่ ๆ ที่แตกต่าง สิ่งสำคัญ คือสินค้าที่นำเข้ามาขายในร้านลักษณะนี้ต้องมีบุคลิกที่ชัดเจน"



ส่วน นายศุภกิจ เกิดซ้ำ ผู้จัดการเน็กซ์ทูนอร์มอล ในเครือซีเอ็มจี มองว่า ผู้บริโภคตอบรับร้านรูปแบบนี้มากขึ้น โดยเตรียมต่อยอดแบรนด์ที่นำเข้ามาจำหน่ายกว่า 12 แบรนด์แล้ว และมีแผนจะเปิดร้านรูปแบบเดียวกันนี้ แต่เป็นคอนเซ็ปต์ลักเซอรี่ ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ เป็นโครงการต่อไป

ที่มาของข่าว : ประชาชาติธุรกิจ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

รับชำระเงินด้วย อาลีเพย์ (Alipay) และ วีแชทเพย์ (WeChat Pay) ทำยังไง