ธุรกิจSME 6สาขาที่จะได้รับผลกระทบจากAEC (high-impact sector)


เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า หนทางข้างหน้าสำหรับ SMEs ไทย จะเห็นหนทางที่ยากลำบากขึ้นแน่นอน เพราะแม้กระทั่งทุกวันนี้ปัญหาที่ SMEs ต้องเผชิญก็หนักหนาสาหัสอยู่ไม่น้อยแล้ว แต่ในอนาคตจะสาหัสสากรรจ์ขึ้นเพียงใดเมื่อไทยต้องเข้าสู่ เอทีซี ก็ขึ้นอยู่กับว่า SMEs มีการเตรียมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้ มากน้อยเพียงใด

แผนและยุทธศาสตร์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2555-2559 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีแนวทางการดำเนินงาน เพื่อที่คนไทยจะได้รับรู้ทั้งเรื่องโอกาส ผลกระทบ และแนวทางการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมให้แก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อไทยและอาเซียนภาคนี้

สาขาธุรกิจที่ได้รับความสำคัญเป็นพิเศษภายใต้แผนและยุทธศาสตร์ของ สสว. ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม อุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ธุรกิจการค้าปลีกและค้าส่ง และธุรกิจบริการและการ ท่องเที่ยว หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวมีหลายประการด้วยกัน เช่น เป็นสาขาธุรกิจที่สร้างประโยชน์และรายได้ให้ประเทศได้มากและใช้วัตถุดิบในประเทศ เป็นสาขาธุรกิจที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและเป็นธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสในอนาคต (new wave) ตลอดจนเป็นสาขาธุรกิจที่ตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐ รักษา สิ่งแวดล้อม สร้างสมดุลในสังคมและธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

นอกจากนั้น ที่น่าสนใจคือ สสว.มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปี ที่ผ่านมา ข้อมูลที่จะกล่าวถึงต่อไปในที่นี้ก็มาจากหน่วยงานนี้นั่นเอง ผู้เขียนขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย โครงการสำคัญโครงการหนึ่งของ สสว.คือ โครงการศึกษาผลกระทบของ AEC ต่อผู้ประกอบการ SMEs ไทย ซึ่งดำเนินการไว้เมื่อปีที่แล้ว

การศึกษาผลกระทบในสาขาที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย (high-impact sector) ได้มองผล กระทบในด้านต่างๆ เช่น อัตราการจ้างงาน สัดส่วนการส่งออก สัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ และสัดส่วนมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนศักยภาพและโอกาสในการเติบโตเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศในอนาคต โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบที่จะเกิดขึ้น

สาขาที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย 6 สาขาที่พิจารณาว่าจะได้รับผลกระทบดังกล่าวได้แก่ เครื่องจักรกล อาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนั้น ในส่วนของภาคบริการ สาขาที่คาดว่าจะได้รับผล กระทบสำคัญ 3 สาขา ก็คือ ท่องเที่ยว สุขภาพ และโลจิสติกส์

นอกจาก สสว. หน่วยงานอีกแห่งหนึ่งที่มีหน้าที่ และความรับผิดโดยตรงเกี่ยวกับ SMEs ก็คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) SME Bank มีโครงการและมาตรการพัฒนา SMEs ในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านสินเชื่อมีทั้งสินเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักร เพื่อช่วยเหลือ SMEs ซื้อและปรับปรุงเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต และสินเชื่อเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ด้วยการให้ความรู้เบื้องต้นเพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ AEC

นอกจากนั้น SME Bank ยังได้จัดทำโครงการพัฒนา SMEs สู่มาตรฐานคุณภาพ ได้แก่ โครงการพัฒนา SMEs สู่ระบบมาตรฐานคุณภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร การลดปริมาณของเสียในกระบวนการผลิต และระบบคุณภาพพื้นฐาน (5 ส.) เพื่อเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพ เป็นต้น และโครงการพัฒนา SMEs สู่ระบบมาตรฐานคุณภาพในกลุ่มโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนในด้านนี้ ทั้งภาคการผลิตและการขนส่ง

จากการดำเนินมาตรการและโครงการพัฒนา SMEs อย่างต่อเนื่อง ทำให้ SME Bank ได้รูปแบบหรือ โมเดล ในการพัฒนา SMEs จำนวน 6 รูปแบบ และการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดสากลจำนวน 1 รูปแบบ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงลึกอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนา SMEs สู่ความได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage) ต่อไป

สุดท้ายที่จะกล่าวถึงในที่นี้ คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานในภาคเอกชน ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา SMEs เป็นอย่างมาก โดยมุ่งหมายที่จะให้ SMEs ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งสามารถปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: มติชน


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

รับชำระเงินด้วย อาลีเพย์ (Alipay) และ วีแชทเพย์ (WeChat Pay) ทำยังไง