SMEภาคการผลิตควรปรับตัวเพื่อรับ AEC
การปรับโครงสร้างภาคการผลิตเพื่อรับ AEC
สมัครรับบทวิเคราะห์ธุรกิจดีๆอย่างนี้ได้ฟรีที่ KSME STARTUP http://goo.gl/EXFDb |
ปัจจุบันโลกแห่งการค้ามีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลของแต่ละประเทศได้มีการทำข้อตกลงการค้าขายระหว่างประเทศให้มีความเป็นเสรีมากขึ้น
กฎระเบียบ ภาษีที่เปรียบเสมือนกำแพงที่ปกป้องผู้ประกอบการในประเทศก็ถูกผ่อนปรน มีการเคลื่อนย้าย
สินค้า การบริการ การลงทุนและเงินทุนระหว่างประเทศ
กลายเป็นโลกเศรษฐกิจที่ไม่มีพรมแดน อย่างไรก็ดี
การเปิดการค้าเสรีให้ผลทั้งในด้านบวกและด้านลบต่อเศรษฐกิจไทย โดยผลในด้านบวก อาทิ
การขยายตลาดการค้าในประเทศคู่สัญญา โอกาสการขยายการลงทุน และการรองรับการลงทุนจากประเทศคู่สัญญา
อย่างไรก็ดี ผลด้านลบจากการเปิดการค้าเสรี เช่น สินค้าที่ผลิตในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงจากสินค้านำเข้า
เนื่องจากกำแพงภาษีสินค้าบางประเภทถูกปรับลดลง หรือยกเลิก
ส่งผลให้สินค้านำเข้าอาจมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ เป็นต้น
และภาวะดังกล่าวนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยและธุรกิจให้ต้องปรับตัว
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของโลกการค้ายังคงไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เห็นได้จากนโยบายของภาครัฐที่มีแผนการที่จะเจรจาการค้าเสรีกับอีกหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่จะมีผลต่อธุรกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้
คือ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community:
AEC) ในปี 2558 ภายใต้วัตถุประสงค์ “ตลาดและฐานการผลิตเดียว หรือ Single
Window” ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งขึ้น
และเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีเศรษฐกิจโลก
สำหรับการรวมตัวเป็น AEC จะช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยในการที่จะขยายการลงทุนออกไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้คล่องตัวขึ้น
จากกฎระเบียบการลงทุนที่ถูกผ่อนคลายลงสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการขยายฐานตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
แต่ AEC ก็จะมีผลต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย
อาทิ
ในด้านของการแข่งขันการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้าไปตั้งฐานการผลิตสินค้า
การแข่งขันในสินค้าสำเร็จรูปจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะด้านของราคา เนื่องจากกำแพงภาษีการนำเข้าสินค้าได้ถูกยกเลิกลงไปหลายประเภท
ทำให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งปรับกระบวนการผลิตสินค้าให้ได้ประสิทธิภาพ
มีต้นทุนที่สามารถรองรับการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงขึ้น
เร่งปรับยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน......รองรับ AEC
การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศจำเป็นต้องทำควบคู่กันไป
ทั้งในภาคเอกชนเอง และการสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐ
ปัจจุบัน
ผู้ประกอบการธุรกิจได้มีการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าของตนเองให้มีประสิทธิภาพขึ้น
อาทิ การนำเครื่องจักรกลเข้ามาใช้แทนกำลังแรงงาน การปรับกระบวนการผลิตที่ซ้ำซ้อน
โดยหาเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาช่วย การเพิ่มประสิทธิภาพของกำลังแรงงาน
จากการส่งเสริมการเรียนรู้ การจัดเทรนนิ่งเพื่อหาวิธีการผลิตใหม่ที่สามารถเพิ่มจำนวนผลผลิตต่อคนให้สูงขึ้น
และการหาพันธมิตรเครือข่ายในการผลิต เป็นต้น
ขณะเดียวกัน
ท่ามกลางทิศทางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว ประกอบกับสภาพการแข่งขันที่บีบคั้นมากขึ้น
ก็ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับโครงสร้างด้านต้นทุนเพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตให้แข่งขันได้
โดยการปรับระบบการผลิตและการขนส่งให้สิ้นเปลืองพลังงานน้อยลง
หรือหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล
สำหรับผลิตภาพแรงงานของไทยในภาคการผลิต
พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ดีขึ้น แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555
ที่ผ่านมา ผลิตภาพแรงงานของไทยจะปรับลดลง แต่มีสาเหตุมาจากผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา
ซึ่งโรงงานหลายแห่งยังไม่กลับมาฟื้นตัวดีนัก
อย่างไรก็ดี
การปรับโครงสร้างการผลิตยังคงต้องมีการปรับตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้
เนื่องจากภาวะแวดล้อมและเงื่อนไขการทำธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะภาวะความกดดันจากภายนอกประเทศ จากโลกการค้าที่มีความเป็นเสรี มีความเชื่อมโยงระหว่างประเทศภายใต้ข้อกำหนด
กฎเกณฑ์การค้าการลงทุนที่ผ่อนคลายลง แต่ขณะเดียวกันก็มีความซับซ้อนในตัวเอง เช่น
ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างประเทศ เช่น FTA ระหว่าง
ไทย-ญี่ปุ่น FTA ระหว่าง ไทย-จีน FTA ระหว่าง
ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ระหว่าง ไทย-นิวซีแลนด์ เป็นต้น
โดยมีวัตถุประสงค์ คือ การลดภาษีศุลกากรโดยครอบคลุมการเปิดเสรีด้านสินค้า
บริการและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีภาษี (ร้อยละ
0.0) และใช้อัตราภาษีปกติกับประเทศนอกคู่สัญญา ปัจจุบันการทำสนธิสัญญาการค้าเสรีมิได้กระทำกับเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น
ประเทศไทยได้มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศและหลายกลุ่มประเทศเช่น
การทำสนธิสัญญาระหว่าง อาเซียน-จีน การทำสนธิสัญญาระหว่าง
อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อาเซียน+3 (จีน สาธารณรัฐเกาหลี
และญี่ปุ่น) และอาเซียน+6 (จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น
ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) เป็นต้น
สำหรับข้อผูกพันทางการค้าและการลงทุนที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจไทย
คือ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี
2558 ซึ่ง AEC นี้ นอกจากจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งและโอกาสในการทำธุรกิจให้กับกลุ่ทผู้ประกอบการไทยแล้ว
แต่ก็ได้กลายมาเป็นปัจจัยท้าทายในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย
อย่างไรก็ดี
มีประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากประเทศอื่น
เช่น บรูไน และสิงคโปร์ ที่โครงสร้างเศรษฐกิจจะเน้นไปยังภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ
เนื่องจากภูมิประเทศไม่เอื้อต่อกิจกรรมด้านเกษตรกรรม ขณะที่กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา
ลาว พม่าและเวียดนาม โครงสร้างเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มภาคเกษตรกรรม
สำหรับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
เมื่อพิจารณาผลิตภาพแรงงานต่อคน พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 3
รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยผลิตภาพของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 15,000
เหรียญสหรัฐฯต่อแรงงาน 1 คนซึ่งสูงกว่าภาพรวมของอาเซียนก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยระยะยาว
โดยในส่วนของหน่วยงานภาครัฐมีประเด็นท้าทายหลายประการในการที่จะเร่งวางแผนในเชิงนโยบายจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะเข้ามาสนับสนุน
อาทิ
- การปรับยุทธศาสตร์นโยบายการส่งเสริมการลงทุน โดยมีนโยบายที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกระบวนการผลิตที่มีนวัตกรรมใหม่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ขณะเดียวกันส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการลงทุนในกระบวนการผลิตที่มีคุณค่าสูง (High-Value Product) พึ่งพาการใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต เพื่อลดอัตราการพึ่งพิงกำลังแรงงาน ประกอบการผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง มากกว่าการผลิตสินค้าที่มีคุณค่าต่ำ ที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะการแข่งขันในด้านราคา
- การปรับยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน ทั้งนี้กำลังแรงงานเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แม้ว่าจะมีการรณรค์ให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เครื่องจักรในการผลิตสินค้า แต่สำหรับงานบางประเภทจำเป็นต้องพึ่งพากำลังแรงงาน สำหรับประเด็นเรื่องแรงงานที่เป็นปัญหาสั่งสมมานาน คือ การขาดแคลนแรงงานในกลุ่มแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ หรือ Skilled Labour ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกำลังแรงงานที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งงาน
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง จากรายงานของ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ต้นทุนค่าขนส่งไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 15.2 (ตัวเลขล่าสุด ณ ปี 2553) ขณะที่สิงคโปร์มีสัดส่วนอยู่อที่ประมาณร้อยละ 8.0 มาเลเซียอยู่ที่ประมาณร้อยละ 12.0 และเวียดนามอยู่ที่ประมาณร้อยละ 19.0 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลไทยคงต้องเร่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เช่น ถนน ระบบรถไฟรางคู่ ท่าเรือ และสนามบิน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในระบบการขนส่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนในการขนส่ง ซึ่งแนวโน้มพลังงานมีการปรับตัวสูงขึ้นในระยะข้างหน้า
ขณะที่ภาคเอกชนคงจะต้องมีการปรับกระบวนการผลิต
ซึ่งนอกเหนือจากการปรับในเรื่องของสมรรถนะในด้านแรงงาน การปรับเทคนิคการผลิต และการมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ
เข้ามาเสริมในด้านของประสิทธิภาพในการผลิตแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
มีความเห็นว่า การปรับโครงสร้างการผลิตสามารถมองได้ 2 กรณี ได้แก่
- การสร้างความเข็มแข็งของอุตสาหกรรมในประเทศ คือ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรการผลิตที่พึ่งพาห่วงโซ่การผลิตในประเทศเป็นหลัก เพื่อสร้างความเข็มแข็งในอุตสาหกรรมการผลิตของไทยและสร้างความเชื่อมโยงในกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การสร้างความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน คือ นอกเหนือจากการพึ่งพาห่วงโซ่ในประเทศ ผู้ผลิตก็อาจจะต้องสร้างความเชื่อมโยงห่วยโซ่การผลิตระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ จากต่างประเทศ อาจต้องหันมามองวัตถุดิบในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ขณะเดียวกันก็อาจมีการว่าจ้างการผลิตสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำกลับมาประกอบในไทย ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
การปรับโครงสร้างการผลิตเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็น
เพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพและสามารแข่งขันได้
โดยเฉพาะเมื่อภาวะแวดล้อมรอบตัวในการดำเนินธุรกิจนั้นถูกปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้น
ซึ่งการปรับโครงสร้างผลิตของไทยนั้น ไม่เพียงแต่เพื่อการรองรับ AEC เท่านั้น
แต่ควรจะเป็นการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย
สำหรับกระบวนการปรับโครงสร้างการผลิตนั้น
คงต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้งจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนนโยบายในการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาทางโครงสร้างการผลิตให้มีประสิทธิภาพ
อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการขนส่งสินค้าทั้งในและนอกประเทศ
การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
การดำเนินนโยบายในเรื่องของภาษีเข้ามาจูงใจ
ในกลุ่มที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามเป้าหมาย เช่น การผลิตสินค้าที่มีคุณค่าสูง
มีการใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต เป็นต้น นอกจากนี้ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนควรปรับให้ทันต่อสถานการณ์
โดยให้ความสำคัญกับสาขากิจการที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคตข้างหน้า และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
แทนการกระจุกตัวเฉพาะผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในระยะข้างหน้า
ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีโจทย์ที่ต้องเร่งปรับตัวและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
อาทิ การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตของตนให้สูงขึ้น
มีความทันสมัย โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องจักรใหม่ๆ ซึ่งช่วงนี้นับเป็นจังหวะที่ดีที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถได้รับประโยชน์จากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลง
(เนื่องจากปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในประเทศยูโร)
ในการที่จะซื้อเครื่องจักรใหม่ที่มีประสิทธิภาพจากยุโรปเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในกระบวนการผลิตในราคาที่ถูกลง
นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังคงต้องมองหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ
โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีศักยภาพทางธุรกิจในอนาคต การกระจายกลุ่มลูกค้าให้หลากหลาย
และหลากผลิตภัณฑ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาลูกค้ารายใดรายหนึ่งมากเกินไป
นอกจากนี้การมองหาเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
K-SME Analysis
บทวิเคราะห์รายสองสัปดาห์
เดือนกรกฎาคม 2555
ความคิดเห็น