เคล็ดลับการขอสินเชื่อ ให้โดนใจแบงค์

วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ หลายท่านรู้สึกได้ว่ามีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทั้งๆ ที่ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวบอกว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ดีกว่าครั้งก่อนมาก เช่น
ปี 2540 มี NPL สูงถึงกว่า 40% มีเงินกู้ต่างประเทศสูงกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีเงินทุนสำรองเพียง 3-4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น และ GDP ใน
ปี 2541 ติดลบถึง 10.5% แต่ในปี 2552 ตัวเลขทุกตัวดีกว่ามาก มีเงินทุนสำรองกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้นสาเหตุที่หลายท่านรู้สึกเช่นนั้น เพราะธุรกิจของบางท่านได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากคู่ค้าต่างประเทศไม่สั่งซื้อสินค้า, ธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบิน และการก่อความไม่สงบในช่วงวันสงกรานต์ ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ได้รับผลกระทบจากการขายรถยนต์ลดลงและการขาดสภาพคล่อง เป็นต้น

ก็เลยทำให้ธุรกิจมียอดขายที่ลดลงและขาดสภาพคล่อง พอไปขอสินเชื่อจากธนาคาร ธนาคารก็ระมัดระวังในการให้สินเชื่อ เพราะเกรงว่าถ้าปล่อยไม่ดีก็จะทำให้ NPL เพิ่มขึ้นพอสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากเกินไปจึงกลายเป็นปัญหาตามมา สถาบันการเงินก็เลยกลายเป็นจำเลยของสังคมว่า ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อเข้าระบบทั้งที่มีสภาพคล่องคงเหลือกว่า 1.2 ล้านล้านบาททีเดียว ทั้งนี้ก็คงจะต้องเข้าใจสถาบันการเงินบ้างนะครับ เพราะถ้าหากธนาคารปล่อยกู้แล้วเป็น NPL จะทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองและเพิ่มทุน ซึ่งในอดีตเมื่อบางธนาคารมี NPL เพิ่มสูงขึ้นก็ต้องเพิ่มทุน ธนาคารไหนเพิ่มทุนไม่ได้ก็ต้องถูกปิดกิจการ หรือต้องให้รัฐบาลเข้าไปถือหุ้นกลายเป็นธนาคารของรัฐไปดังนั้น ธนาคารก็จำเป็นจะต้องระมัดระวังเป็นธรรมดาคราวนี้ขอกลับมาคุยในเรื่อง
“เคล็ดลับการขอสินเชื่อให้โดนใจแบงก์” บ้าง บังเอิญผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “คู่มือธุรกิจ SMEs ตอน ก่อร่างสร้างธุรกิจ” ซึ่งจัดพิมพ์โดย บริษัท ธนาคารกสิกรไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการเริ่มต้นธุรกิจให้มีความมั่นคงยั่งยืน ซึ่งผมเห็นว่า บางช่วงบางตอนในหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่าน ในกรณีที่ท่านกำลังวางแผนที่จะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินว่าทำอย่างไรให้สามารถกู้ได้สำเร็จผมจะขออธิบายวิธีการเตรียมความพร้อมเป็นข้อๆ นะครับ

อันดับแรก ต้องเดิน Statement หรือเดินบัญชีให้มาก ต้องบอกว่าธนาคารไม่ได้รู้จักธุรกิจของคุณทุกคน งบการเงินของธุรกิจ SMEs โดยส่วนใหญ่ก็มีความผิดพลาดสูง ดังนั้น วิธีการที่ธนาคารใช้ดูก็จะอ้างอิงจากกระแสเงินสดเข้า-ออกในบัญชีเงินฝากของธนาคารแทน หรือเรียกว่ายอดหมุนเวียนบัญชีในการประเมินรายได้ ดังนั้น การเดินบัญชีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างประวัติธุรกิจของคุณกับธนาคาร และธนาคารก็จะใช้การเดินบัญชีเป็นตัวประเมินรายได้แทนงบการเงิน
อันดับสอง การขอสินเชื่อเป็นเรื่องของเครดิตหรือความน่าเชื่อถือ หลายท่านไม่ได้ใส่ใจประวัติการค้างชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถยนต์ โดยอาจจะไม่ทราบว่าประวัติเหล่านั้นจะถูกเก็บไว้ในเครดิตบูโรและจะถูกนำมาประมวลผลพร้อมกันเมื่อท่านมาขอสินเชื่อเชิงพาณิชย์ ดังนั้น หากกรรมการหรือหุ้นส่วนท่านใดมีประวัติค้างชำระในระบบก็จะส่งผลกระทบต่อการขอสินเชื่อเชิงพาณิชย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีวินัยทางการเงินของท่านจึงถือเป็นคุณสมบัติประการต้นๆ ของการพิจารณาสินเชื่อก็ว่าได้
อันดับสาม อย่าปล่อยให้มีประวัติเช็คคืน เพราะหากท่านมีประวัติการจ่ายเช็คและถูกคืน อาจเป็นการแสดงถึงความสามารถในการจัดการด้านการเงินหรือการขาดสภาพคล่องของธุรกิจ เพื่อไม่ให้ประวัติเช็คคืนของท่านมีผลต่อการขอสินเชื่อในอนาคตของท่าน ควรรักษาเครดิตส่วนนั้นให้ดี ระมัดระวัง ไม่จ่ายเช็คที่ไม่มีเงินเตรียมพร้อมไว้จ่าย เพราะหากใน Statement ของท่านมีรายการเช็คคืนบ่อยครั้งก็อาจจะเป็นเหตุผลให้ถูกปฏิเสธเครดิตได้
อันดับสี่ เอกสารทางการค้าของท่านมีมูลค่าต้องเก็บไว้ให้ดี เพราะเอกสารทางการค้าจะแสดงถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจท่านไม่ว่าจะเป็นบัญชีซื้อขาย สำเนาใบกำกับภาษี ใบสั่งซื้อสินค้า ใบเสร็จรับเงิน เหล่านี้เป็นเอกสารที่ท่านอาจจำเป็นมากขึ้นในกรณีที่ยอดหมุนเวียนบัญชีของท่านไม่สะท้อนรายได้ของธุรกิจที่แท้จริง ท่านอาจจะสามารถใช้เอกสารเหล่านี้ประกอบการขอสินเชื่อได้เพื่อยืนยันยอดขายที่สูงกว่าที่แสดงในงบการเงิน
อันดับห้า หลักประกันคือสิ่งสำคัญของการพิจารณาสินเชื่อ หลักประกันที่ดีที่สุดสำหรับการขอสินเชื่อคือ สถานประกอบกิจการนั่นเอง เพราะธนาคารต้องการที่ทำมาหากินหลักของท่านเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นแหล่งที่สร้างรายได้ของท่าน รองลงมาคือหลักประกันอื่นๆ ที่ท่านมี เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ หรือเครื่องจักร หลักประกันบางชนิดอาจมีมูลค่าด้อยกว่าหลักประกันอื่น หรืออาจไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันได้ เช่น ที่ดินที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ อย่างสค.1 ภบท.5 โฉนดหลังแดง เป็นต้น และโดยทั่วไปวงเงินที่ธนาคารให้จะอยู่ระหว่าง 80-95% ของมูลค่าหลักประกัน
อันดับหก แหล่งรายได้และภาระหนี้จะเป็นตัวกำหนดวงเงิน แม้ว่าบางครั้งท่านอาจจะเสนอหลักประกันที่มีมูลค่าสูงกว่าวงเงินสินเชื่อที่ท่านขอ แต่ธนาคารก็อาจจะอนุมัติต่ำกว่าที่ขออีก เนื่องจากธนาคารมิได้มองมูลค่าหลักประกันเพียงอย่างเดียว แต่จะดูภาระหนี้สินรวม และจำนวนเงินที่ท่านจะสามารถผ่อนชำระได้จากรายได้ของท่านเป็นหลัก เพราะหากท่านมีรายได้ไม่เพียงพอหรือมีหนี้สินรวมสูงก็จะทำให้ท่านไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ ธนาคารจึงพิจารณาอนุมัติเท่าที่ท่านคืนหนี้ได้
อันดับเจ็ด ถึงไม่มีหลักประกันก็ยังขอสินเชื่อได้ แต่คุณสมบัติของผู้กู้ก็ต้องสูงกว่าการขอสินเชื่อปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประสบการณ์ทำงาน ยอดหมุนเวียนบัญชี งบการเงินที่ดี และอาจจะเป็นประวัติการติดต่อที่ดีอย่างต่อเนื่อง แต่หากท่านมีหลักประกันไม่เพียงพอ ท่านก็อาจจะสามารถติดต่อหน่วยงานภาครัฐ อย่าง บสย. เพื่อขอใช้บริการ ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อได้ ซึ่งปกติ บสย. จะค้ำประกันเท่ากับ 50% ของวงเงินในส่วนที่ไม่มีหลักประกันเมื่อท่านมีการเตรียมความพร้อมตามขั้นตอนต่างๆ ตามที่เรียนให้ทราบ ผมเชื่อว่าโอกาสที่ท่านจะได้รับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อก็เป็นไปได้มาก ก็ขอให้ท่านประสบความสำเร็จในการขอกู้นะครับ

บทความนี้ได้รับการส่งต่อมาทาง Line ขอเก็บมาไว้ให้ทุกๆท่านได้อ่านกัน
Cr
โดย :ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย
เคล็ดลับการขอสินเชื่อ ให้โดนใจแบงก์/คอลัมน์ตลาดนัดการเงิน 2557

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

รับชำระเงินด้วย อาลีเพย์ (Alipay) และ วีแชทเพย์ (WeChat Pay) ทำยังไง