รวมข่าว AEC : ต้องชูAECเป็นวาระแห่งชาติ ปั้นไทยแข่งอาเซียนรับเสรีปี'58

บี้รัฐผุดแผนรับ AEC ดันวาระแห่งชาติค้าปลีก เสนอตั้งหน่วยงานพิเศษดูแล
สมาคมค้าปลีกจี้รัฐบาลใหม่ ดันค้าปลีกเป็นวาระแห่งชาติ เหตุสร้างรายได้สูงเป็นอันดับสองมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท เสนอตั้งหน่วยงานกลางควบคุมดูแลเหมือนท่องเที่ยวที่มี ททท. ปรับกำแพงภาษี รองรับเออีซี เผยเครือซีพีเตรียมผุดซูเปอร์คอนวีเนียนสโตร์ “ซีพีมาร์เก็ต” นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯต้องการให้ภาครัฐบาลผลักดันธุรกิจค้าปลีกให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมีนัย ซึ่งรัฐบาลควรวางมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจค้าปลีกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้โดยเฉพาะในเอเซียด้วยกันเอง ที่จะมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเชียนหรือ เออีซี/AEC ในปี 2558 นี้ รัฐบาลควรตั้งหน่วยงานกลางเฉพาะที่อิสระขึ้นมากำกับดูแล เช่นเดียวกับรกิจท่องเที่ยวที่มีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เป็นหน่วยงานคอยดูแล เป็นต้น นอกจากนี้เรื่องกฎหมายควบคุมค้าปลีก รัฐบาลควรทำการปรับปรุงแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ใช่เน้นแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ นางสาวบุษบากล่าวต่อว่า สิ่งที่ภาครัฐควรสนใจมากขึ้นคือ เรื่องของการปรับลดกำแพงภาษีนำเข้า เพราะปัจจุบันกำแพงภาษีนำเข้าของไทยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงโปร์ และฮ่องกง ที่เปิดฟรีในเรื่องของภาษีนำเข้าไปแล้ว ส่วนประเทศมาเลเซียเพิ่งเริ่มปรับลดอัตราภาษีนำเข้า ซึ่งหากประเทศไทยยังไม่มีการปรับตัวในเรื่องนี้ก็จะส่งผลให้เสียเปรียบในการแข่งขันด้านการชอปปิ้ง “จริงๆแล้ว ประเทศไทยของเรามีจุดแข็งในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว หรือการบริการ หากมีการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกควบคู่กันไปด้วยแล้ว ก็น่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี” นางสาวบุษบากล่าว หากมองถึงมูลค่าของค้าปลีกในไทยแล้วจะพบว่า ในปี 2553 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท เติบโต 4% คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13.1% ของจีดีพีของไทย อยู่ลำดับที่ 2 รองจากภาคการผลิตที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด ขณะที่สมาคมฯ ซึ่งมีสมาชิกที่สังกัดและประกอบธุรกิจค้าปลีกสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 647,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 11% สำหรับภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในครึ่งปีแรก 2554 มีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักคาดว่าสิ้นปีจะมีการเติบโตประมาณ 7-8% ส่วนภาพรวมผลประกอบการของสมาชิกสมาคมฯ ครึ่งปีแรก 2554 นี้มีอัตราการเติบโตประมาณ 10-15% เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนตร.ม.ประกอบกับปัจจัยบวกทางด้านการเมืองที่มีแนวโน้มดีขึ้นส่งผลให้มีกระแสเงินสะพัดในธุรกิจค้าปลีกช่วงที่ผ่านมาประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวให้ความเห็นกรณีนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่าที่รัฐบาลใหม่ที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาทต่อวันนั้นยอมรับว่า จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกพอสมควร โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กอย่างเอสเอ็มอี แต่ในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะไม่กระทบมากนักเพราะรายใหญ่มีสายป่านที่ยาวพอที่จะแบกรับต้นทุนที่จะเพิ่มสูงขึ้นได้ แต่ถ้ามีการประกาศใช้จริงๆแล้ว ภาคเอกชนก็ต้องปรับตัวเช่นกัน “ครึ่งปีหลังธุรกิจค้าปลีกจะยิ่งแข่งขันกันมากขึ้น เพราะมีผู้ประกอบการจะเปิดตัวรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ซูเปอร์คอนวีเนียนสโตร์ และล้วนเป็นรายใหญ่เช่น เครือซีพี จะเปิดตัวซีพีมาร์เก็ตในเดือนตุลาคมนี้ที่ย่านสีลม ส่วนเครือ ปตท.ก็จะเปิดร้านจิฟฟี่มาร์เก็ตอีก การที่รายใหญ่หันมาทำรูปแบบนี้มากขึ้นเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คือหันมาซื้อสินค้าใกล้บ้าน ที่มีความหลากหลาย และซื้อบ่อยขึ้น เพราะมีความสะดวกในการเดินทาง โดยคาดว่าจะทำให้ธุรกิจคอนวีเนียน สโตร์ เติบโต 17% มากกว่าภาพรวมโมเดลอื่น โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เติบโตชะลอตัวลง” นายฉัตรชัยกล่าว

=AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,=
ต้ต้องชูAECเป็นวาระแห่งชาติ ปั้นไทยแข่งอาเซียนรับเสรีปี'58องชูAECเป็นวาระแห่งชาติ ปั้นไทยแข่งอาเซียนรับเสรีปี'58
เหลือเวลาอีกแค่ 3 ปีกว่าๆ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก็จะมีผลบังคับใช้สมบูรณ์แบบ ในตอนนั้น การเคลื่อนย้ายสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายทุน เคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ จะทำได้โดยเสรี ซึ่งจะทำให้อาเซียนในช่วงแรกๆ จะคล้ายๆ กับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ก่อนที่จะกลายเป็นสหภาพยุโรป (อียู) ในปัจจุบัน แต่สำหรับอาเซียนจะยังเรียกถึงขั้นนั้นไม่ได้ เพราะเป็นเพียงก้าวแรกๆ ที่กำลังจะจะกลายเป็นก้าวใหญ่ในอนาคต หากอาเซียนผนึกกำลังกันได้ดียิ่งๆ ขึ้น ปัจจุบัน หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่อง AEC ก็คือ กระทรวงพาณิชย์ โดยมีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้ขับเคลื่อน ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงาน AEC ทำหน้าที่ประสานติดตามและเร่งรัดการดำเนินการในฝ่ายไทยเพื่อให้เป็นไปตามพิมพ์เขียวของ AEC หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การดูแลให้เป็นไปตามแผนงานด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนกำหนดไว้ ในทางปฏิบัติ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามแผนงาน AEC ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 47 หน่วยงาน ร่วมมาเป็นกรรมการ ทำหน้าที่พิจารณาภาพรวมของไทยในการดำเนินงานไปสู่ AEC ทั้งในแง่ความพร้อมและความยืดหยุ่นที่ไทยต้องการในการปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ รวมทั้งประเมินผลกระทบและเตรียมมาตรการรองรับ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในการรับรู้และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย แต่ทว่าแรงขับเคลื่อนดังกล่าว แม้จะดูเหมือนว่ามีทุกหน่วยงานมาเข้าร่วม และการทำงานก็ได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการไปสู่ AEC แต่แรงงานผลักดันในระดับชาติยังคงไม่มี จึงยังเป็นสาเหตุให้ไทยขาดแรงผลักดันในจุดนี้ และหากไม่ดำเนินการแก้ไข ก็อาจจะกลายเป็นจุดอ่อนสำหรับประเทศไทยก็เป็นได้ นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ กำลังอยู่จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ไทยในเวทีอาเซียน โดยเตรียมที่จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ นำเรื่องการรวมตัวเป็น AEC เสนอรัฐบาลให้พิจารณากำหนดให้เรื่อง AEC เป็นวาระแห่งชาติ เหตุผลที่ต้องทำเรื่อง AEC ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะ AEC เป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับประเทศ หลังจากที่ไทยประสบปัญหาภายในมานานหลายปี ทำให้ขีดความสามารถและสถานะไทยในเวทีอาเซียนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่เร่งดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถทั้งส่วนภาครัฐและเอกชน โดยรัฐบาลเป็นผู้กำกับในภาพรวม จะทำให้ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่การเปิดเสรีการค้าในอาเซียนมีผลสมบูรณ์แบบ ไทยนอกจากไม่ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีแล้ว ไทยอาจเสียประโยชน์ทางการค้ากับคู่แข่งในอาเซียนได้ “ถ้ามีการกำหนดให้ AEC เป็นวาระแห่งชาติ จะทำให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ และกระตือรือร้นที่จะเดินทางไปสู่ AEC ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จาก AEC ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้”นางศรีรัตน์กล่าว นอกจากนี้ การกำหนดให้ AEC เป็นวาระแห่งชาติ จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ได้เข้ามาใช้ประโยชน์จาก AEC ได้อย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้มีการปรับตัวมาเป็นลำดับ ตั้งแต่เริ่มเปิดเสรีทางการค้า และตระหนักถึงความสำคัญของเขตการค้าเสรีอาเซียน ขณะที่ SMEs ยังขาดความพร้อมและการเตรียมการรับมือ ที่ผ่านมา บริษัทใหญ่ๆ ได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และได้มีการใช้ประโยชน์จากอาเซียนทั้งการทำการค้า การลงทุน ยกตัวอย่างเช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ไปลงทุนผลิตอาหารสัตว์และบรรจุภัณฑ์ ในอาเซียนหลายประเทศ กลุ่มปูนซีเมนต์ไทย ลงทุนโรงงานกะดาษ ในเวียดนามและมาเลเซีย บริษัท น้ำตาลขอนแก่น และบริษัท ราชาชูรส ที่ไปลงทุนปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลทรายในกัมพูชา เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถปรับตัวมาได้ตั้งนานแล้ว แต่สำหรับ SMEs ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังขาดประสบการณ์และการเตรียมความพร้อม แต่หากได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ และมีการกำหนดเป้าหมายและทิศทางของไทยในอาเซียนให้ชัดเจน เชื่อว่า โอกาสที่ไทยจะโดดเด่นในเวทีอาเซียนเมื่อมีการเดินทางไปสู่ AEC เต็มรูปแบบ จะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ วันนี้ ก็เหลือเพียงแค่ว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับ AEC มากน้อยแค่ไหน การกำหนดวาระแห่งชาติในเรื่อง AEC จะเป็นไปได้หรือไม่ และการผลักดันให้ไทยยังคงโดดเด่นและเป็นผู้นำในเวทีอาเซียนได้ต่อไปจะมีเป้าหมายและทิศทางเป็นอย่างไร ฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่กำลังจะเข้ามาใหม่ ฝากทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ รับไปพิจารณาหน่อยละกัน เพราะเรื่องนี้สำคัญกับชาติจริงๆ
http://www.thaiday.com/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000090176


=AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,=

ไลอ้อนคึกคักลุยตลาดอาเซียน เร่งคลอดสินค้าใหม่รับAECเปิด
Submitted by info on Sat, 16/07/2011 - 00:00
ไลอ้อนเตรียมเร่งเครื่องลุยตลาดส่งออกรับเออีซี หวังกระตุ้นยอดต่างประเทศปี 2558 เล็งเปิดตัวสินค้าใหม่ลุยตลาดครึ่งปีหลัง หวังดันยอดขายสิ้นปีเข้าเป้า 10% หลังจากครึ่งปีแรกพลาดเป้า โตเพียง 8-9%
นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทนับจากนี้จะเน้นการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน เนื่องจากในปี 2558 ประเทศไทยจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนมีความคึกคักมากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทเข้าไปทำตลาดในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ซึ่งหลังจากรุกทำตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าภายในปี 2558 น่าจะมีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มเป็น 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10%
ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง จะเปิดตัวสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันจะมีการทำกิจกรรมทางการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า ซึ่งหลังจากออกมาทำการตลาดในรูปแบบดังกล่าว มั่นใจว่าสิ้นปีน่าจะมีรายได้ตรงตามเป้าหมายที่ 12,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 10%
สำหรับภาพรวมยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกมีรายได้เติบโตเพียง 8-9% ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะเติบโต 10% เนื่องจากต้นทุนมีการปรับเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย และหันมาซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นเท่านั้น
“ช่วงครึ่งปีหลังคิดว่าภาพรวมกำลังซื้อของผู้บริโภคน่าจะดีขึ้น เนื่องจากมีการเลือกตั้ง ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งในส่วนของบริษัทเองมีแผนที่จะออกสินค้าใหม่ในกลุ่มของช่องปาก และสกินแคร์เข้ามาทำตลาด หลังจากก่อนหน้านี้ได้ใช้งบลงทุนจำนวน 700 ล้านบาท ในการขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า” นายบุญฤทธิ์กล่าว


=AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,AEC,=

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

K-SME Analysis ธุรกิจชานมไข่มุก จากไต้หวัน