ข้าวกล่อง อาหารกล่อง เสิร์ฟง่าย ขายคล่อง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง KSME Analysis

เก็บตก ควันหลงจาก smeมีตังค์เยอะ 

ธุรกิจอาหารกล่อง ... รองรับ Life Style พนักงานออฟฟิสและคนเมือง
 (Start-Up Business)
สมัครสมาชิก www.ksmestartup.com เพื่อรับข้อมูลดีๆสำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจ ฟรี!!!



         
       ธุรกิจอาหารกล่อง อาหารกล่อง คือ อาหารที่มีการปรุงสุกสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน บรรจุอยู่ในกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน  เกซึ่งไม่ครอบคลุมถึงอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง อาหารหาบเร่/แผงลอย อาหารสำเร็จรูปแบบตักขาย เป็นหนึ่งในธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในสังคมปัจจุบัน ที่ในแต่ละวันของการดำรงชีวิตยังอยู่บนฐานของความรีบเร่ง และเต็มไปด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลา ทำให้ไม่มีเวลาในการจัดเตรียมอาหารได้เอง ส่งผลให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้มองหาสินค้าและบริการที่เน้นความสะดวกมาเป็นอันดับแรก จึงเกิดเป็นช่องว่างของธุรกิจอาหารกล่อง ที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการในช่วงเวลาเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี  
ธุรกิจอาหารกล่อง ... เสิร์ฟง่าย ขายคล่อง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง



        ความน่าสนใจ: ธุรกิจอาหารกล่องได้รับความนิยมมากขึ้น ตามการเติบโตของสังคมเมือง ที่วิถีชีวิตยังยึดติดอยู่กับความเร่งรีบ และเต็มไปด้วยข้อจำกัดด้านเวลา ที่ส่งผลให้ไม่มีเวลาประกอบอาหารรับประทานเองได้ที่บ้าน อีกทั้งเมื่อหาซื้อสินค้ามาประกอบอาหารเอง ก็มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง (เมื่อคำนวณค่าวัตถุดิบ ค่าแก๊ส ค่าไฟ ค่าเสียเวลา และค่าอื่นๆ) หากเปรียบเทียบกับราคาอาหารสำเร็จรูปที่มีวางจำหน่ายทั่วไป ดังนั้น การเลือกซื้ออาหารกล่องมารับประทานน่าจะคุ้มกว่า (โดยเฉพาะครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันเพียง 1-2 คน) ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลทำให้ธุรกิจอาหารกล่องขยายตัว และเข้ามาตอบสนองความต้องการผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความเร่งด่วน เช่น ในช่วงเช้า กลางวันหรือช่วงเย็น

        ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงความน่าสนใจในตัวสินค้า ซึ่งก็คือ อาหารกล่อง จะพบว่า อาหารกล่องสามารถหาซื้อได้ง่าย มีรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ อาหารกล่องเมนูทั่วไป อาหารกล่องแนวปิ่นโต (สำหรับครอบครัว) อาหารกล่องสำหรับการจัดเลี้ยง/สัมมนา หรืออีเวนท์ต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของเมนูอาหารก็มีอยู่หลากหลายประเภทเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารตามสั่ง อาหารญี่ปุ่น อาหารจีน อาหารตามเทศกาลอย่าง อาหารเจ อาหารมังสวิรัติ และที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกอย่างหนึ่งในปัจจุบัน คือ อาหารเพื่อสุขภาพ (อาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก) และอาหารเพื่อผู้ป่วยเฉพาะโรค เป็นต้น


        กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย: มักเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่สะดวกจะทำอาหารเพื่อรับประทานเองได้ที่บ้าน ยกตัวอย่างเช่น        
P        กลุ่มพนักงานออฟฟิส/คนเมือง: เป็นกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายหลักของธุรกิจนี้ เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่ต้องทำงานตั้งแต่เช้าและเลิกงานในช่วงเย็นไปถึงดึก เวลาในการประกอบอาหารเพื่อรับประทานจึงมีน้อย และค่อนข้างเหนื่อยล้าจากงานประจำ ทำให้ชีวิตโดยส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานอย่าง อาหารกล่อง อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะมื้อเช้าและกลางวัน
P        กลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ: ส่วนใหญ่มักเป็นผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่มีความพิเศษเฉพาะเจาะจง อาทิ กลุ่มผู้บริโภคอาหารเจ อาหารมังสวิรัติ รวมไปถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และจำกัดจำนวนแคลอรี่ในแต่ละวัน
P        กลุ่มผู้ป่วยเฉพาะโรค: เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับอาหารที่ต้องรับประทาน อาทิ กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน (ลดน้ำตาล) โรคไต โรคอ้วน เป็นต้น ทำให้ต้องมีการวางแผนเมนูอาหารในการรับประทานแต่ละมื้ออย่างเข้มงวด เพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อโรค

        ผลตอบแทนทางธุรกิจ: โดยทั่วไปธุรกิจในกลุ่มอาหาร ผลตอบแทนของผู้ประกอบการจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ของต้นทุนรวม อย่างไรก็ดี อาหารกล่องเป็นสินค้าที่ค่อนข้างทำกำไรสูง หากผู้ประกอบการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมนูอาหารที่นำเสนอได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมนูอาหารที่มีความโดดเด่นจากสินค้าประเภทเดียวกันที่วางจำหน่าย (ซึ่งอาจจะมาจากตัววัตถุดิบที่มีความพิเศษ พิถีพิถันหรือบรรจุภัณฑ์ที่ดูสะอาด สวยงามสะดุดตา) และที่กำลังมาแรงในปัจจุบันอย่าง อาหารเพื่อสุขภาพ (อาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก) และอาหารเพื่อผู้ป่วยเฉพาะโรค ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น จากกระแสรักษ์สุขภาพ ซึ่งเมนูพิเศษเหล่านี้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดราคาตามความเหมาะสมได้ หากสินค้ามีความแตกต่างจากสินค้าของคู่แข่งที่วางขายทั่วไปตามท้องตลาด เนื่องจากผู้ซื้อมีความเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อคุณประโยชน์ที่แฝงอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ ดังนั้น จากความน่าสนใจที่ได้กล่าวมา น่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องว่างทางการตลาดของธุรกิจอาหารกล่อง ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี
        การลงทุนในธุรกิจอาหารกล่อง ... ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องมากด้วยกลยุทธ์มัดใจผู้บริโภค

       
        หากผู้ประกอบการ SMEs กำลังมองหาลู่ทางในการลงทุนธุรกิจด้านอาหาร ธุรกิจอาหารกล่องน่าจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อย โดยแนวทางสำหรับการเริ่มลงทุนทำธุรกิจ มีประเด็นสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อม ดังต่อไปนี้

ศึกษาความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ ทั้งในเรื่องของเงินทุน สถานที่จัดจำหน่ายและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และทรัพยากรบุคคลที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการ อาทิ พนักงานหรือผู้ช่วยที่จะเข้ามาเป็นลูกมือหรือดูแลในส่วนต่างๆ โดยทั่วไปจะประกอบไปด้วย ฝ่ายผลิต  ซึ่งได้แก่ พ่อครัวและผู้ช่วย พนักงานขาย อีกส่วนหนึ่งก็คือ ฝ่ายออฟฟิสที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องของการจัดซื้อ บัญชีและการตลาด อย่างไรก็ดี สำหรับกิจการที่ยังไม่ได้ขยายใหญ่มาก ผู้ประกอบการอาจจะเข้ามาดูแลในส่วนนี้ได้ด้วยตนเอง

วางแผนการจัดการต้นทุนที่ดี โดยทั่วไปเงินลงทุนเริ่มต้นนั้นขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของกิจการ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนในการลงทุนธุรกิจอาหารกล่อง พบว่า ต้นทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนของต้นทุนด้านวัตถุดิบอาหารเป็นหลัก ซึ่งต้นทุนวัตถุดิบอาหารคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30-40 ของต้นทุนทั้งหมด ส่วนที่เป็นต้นทุนอื่นๆ จะประกอบด้วย ต้นทุนแรงงาน ต้นทุนอุปกรณ์ (บรรจุภัณฑ์ ช้อนส้อม) ต้นทุนค่าขนส่ง รวมไปถึงเงินทุนหมุนเวียน (ค่าใช้จ่ายด้านสถานที่ ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า เป็นต้น) ทั้งนี้ เคล็ดลับความสำเร็จของธุรกิจอาหารกล่อง พบว่า อยู่ที่การควบคุมต้นทุนให้ได้เป็นสำคัญ ในขณะที่ส่วนต่างของกำไรโดยรวมของผู้ประกอบการก็ควรอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40

สถานที่จัดจำหน่ายต้องดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการ ควรอยู่ในบริเวณที่มีคนพลุกพล่านและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสามารถเข้าถึงได้ง่าย อาทิ ย่านออฟฟิส แหล่งชุมชนที่พักอาศัย บริเวณสถานีรถไฟฟ้า/รถโดยสาร เป็นต้น โดยสำหรับผู้ประกอบการที่มีหน้าร้าน/สถานที่จำหน่ายเป็นของตนเอง จะมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ในการดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการ อีกทั้งยังสามารถช่วยลดต้นทุนในเรื่องของการเช่าสถานที่เพื่อจัดจำหน่ายได้ อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีหน้าร้าน/สถานที่จำหน่ายเป็นของตนเอง การเข้าถึงลูกค้าอาจจะทำได้โดย

1.        การเช่าสถานที่เพื่อจำหน่ายในทำเลที่ลูกค้าเป้าหมายสามารถเข้าถึงได้ง่าย
2.        การทำตลาดผ่านทางเวปไซต์ ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ร้านให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เนื่องจากลูกค้าสามารถเข้ามาชมเมนูอาหารและบริการของร้านได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็สามารถใช้เป็นช่องทางในการกระจายข่าวสารของร้าน ตลอดจนสิทธิเศษที่ลูกค้าจะได้รับได้อีกทางหนึ่งด้วย เหมาะสำหรับการเจาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะวัยรุ่น/วัยทำงาน ที่มักจะเข้าถึงสื่อออนไลน์อยู่เป็นประจำ

อาหารต้องมีคุณภาพ สะอาด รสชาติถูกปาก โดนใจ สำหรับธุรกิจอาหารกล่อง จุดเด่นที่มาเป็นอันดับหนึ่ง คือ รสชาติอาหารที่ดี อร่อยถูกปาก ใส่ใจในเรื่องของคุณภาพอาหาร โดยเฉพาะการเลือกใช้วัตถุดิบที่สดใหม่อยู่เสมอ ซึ่งในส่วนนี้ ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญอยู่ที่การควบคุมคุณภาพอาหารให้ได้มาตรฐาน ไม่เพียงแต่ในเรื่องของรสชาติ แต่ยังครอบคลุมไปถึงหน้าตาของอาหารที่ดีด้วย

บรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน ขึ้นชื่อว่าอาหารกล่อง ดังนั้น บรรจุภัณฑ์หรือตัวกล่องก็มีความสำคัญไม่แพ้กันกับรสชาติอาหาร ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่ดีควรจะสามารถเก็บรักษาอาหารไม่ให้เน่าเสียได้ง่าย และมีความแข็งแรงไม่แตกหักหรือเสียหายได้ง่าย อย่างไรก็ดี ในการเลือกบรรจุภัณฑ์ ควรคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ว่ากำลังนำเสนอสินค้าแก่กลุ่มลูกค้าระดับใด หากเป็นกลุ่มทั่วไป ก็พิจารณาใช้กล่องโฟม หรือพลาสติกแบบทั่วไปได้ แต่หากเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนขึ้นไป ก็ควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น เพื่อแสดงถึงความใส่ใจต่อการนำเสนอสินค้า ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับร้านค้าอีกทางหนึ่ง

การสร้างสรรค์เมนูอาหาร เพิ่มมูลค่า สร้างผลกำไรเพิ่ม เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของธุรกิจอาหารกล่องมีหลากหลายกลุ่ม ดังนั้น การนำเสนอเมนูอาหารที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม มีส่วนอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารกล่องของผู้ประกอบการ จะเห็นได้ว่า ในกลุ่มผู้บริโภคบาง Segment อาทิ กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพและผู้ป่วยเฉพาะโรคนั้น ผู้ประกอบการสามารถดีไซน์เมนูอาหารให้ตรงกับความต้องการลูกค้าได้ ซึ่งหากหน้าตาอาหารและรสชาติเป็นที่พึงพอใจ ก็จะมีส่วนอย่างมากต่อการตัดสินใจใช้บริการในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น





กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รายละเอียด
กลุ่ม
พนักงานออฟฟิส/
คนเมือง
ทางเลือกที่ 1: เมนูอาหารพื้นฐานทั่วไป อาทิ อาหารตามสั่ง (ผัดกะเพรา ข้าวผัด ผัดพริกแกง ฯลฯ)
ทางเลือกที่ 2: เมนูที่มีความพิเศษมากขึ้น อาทิ อาหารแนวฟิชชั่น ไม่ว่าจะเป็นอาหารฝรั่ง/จีน/ญี่ปุ่น (เบนโตะ)
ทางเลือกที่ 3: เมนูเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารที่ใช้วัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ อาทิ ข้าวกล้อง อาหารออร์แกนิค
กลุ่ม
ผู้บริโภคที่ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ
1. กลุ่มที่ต้องการอาหารเฉพาะเจาะจง เช่น ผู้ทานอาหารเจ อาหารมังสวิรัติ: ควรเป็นอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ และของงดเว้นต่างๆ ที่กำหนดไว้ อย่างเคร่งครัด
2. กลุ่มผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก: อาหารที่นำเสนอควรเป็นอาหารที่ผ่านการวิเคราะห์ถึงจำนวนแคลอรี่ในแต่ละมื้อ มีการใช้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพสูงและควรมีข้อมูลรายละเอียดให้ผู้บริโภคได้รับทราบ
กลุ่ม
ผู้ป่วยเฉพาะโรค
ควรมีการวางแผนประกอบการอาหารอย่างเข้มงวด ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการสอบถามลูกค้าก่อนว่า มีข้อจำกัดอะไรบ้างในการรับประทานอาหาร ก่อนจะแนะนำหรือนำเสนอเมนูอาหารแก่ลูกค้า เช่น เมนูอาหารลดความหวาน เมนูอาหารลดความเค็ม เป็นต้น


        กลยุทธ์มัดใจ ... ทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง การดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค สิ่งสำคัญหลักๆ มักจะอยู่ที่ 1) ความสะอาดและรสชาติอร่อย 2) รูปร่างหน้าตาอาหาร บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามดูดี 3) เมนูอาหารมีความโดดเด่นแปลกใหม่ เชิญให้ชวนชิม 4) ราคาจำหน่ายต้องแข่งขันกับคู่แข่งได้ (ปกติจะเริ่มต้นที่กล่องละ 35 บาท ไปจนถึง 300 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการปรุงและวัตถุดิบ) และหากมีการกำหนดราคาที่สูงกว่าสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาด ต้องนำเสนอให้ได้ว่ามีความแตกต่างหรือมีความพิเศษกว่าอย่างไร 5) ใส่ใจในเรื่องของการให้บริการ Service Mild 6) นำเสนอส่วนลดหรือโปรโมชั่นออกมาดึงดูดให้ผู้บริโภคเพิ่มความถี่ในการเข้ามาใช้บริการอยู่เสมอ

เข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย โดยการเพิ่มบริการเสริมเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค อาทิเช่น บริการจัดส่งถึงที่ (Delivery) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการเสริมที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม สำหรับลูกค้าบางกลุ่มที่เวลาน้อย ไม่สะดวกในการเดินทางมาเลือกซื้อ ซึ่งมีผู้ประกอบการบางส่วนให้บริการจัดส่งถึงที่แล้ว โดยบริการนี้สามารถช่วยขยายกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะลูกค้าที่ภารกิจรัดตัวมากๆ โดยในจุดนี้ อาจจะขยายไลน์ไปถึงการรับทำอาหารปิ่นโต (แยกกับข้าว) ได้อีกด้วย โดยกลุ่มลูกค้าที่คาดว่าจะให้การตอบรับบริการนี้อย่างดี ได้แก่ กลุ่มครอบครัว เป็นต้น

       
สภาวะการแข่งขัน ... จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรค ของธุรกิจอาหารกล่อง

       
        แม้ว่าการดำเนินธุรกิจอาหารกล่องไม่ใช่เรื่องซับซ้อนมากนัก แต่ก็ไม่ง่ายที่จะประคับประคองธุรกิจให้ยั่งยืนในระยะยาว หากผู้ประกอบการขาดแนวทางการวางแผนธุรกิจที่เหมาะสม โดยจะเห็นได้ว่า ในแต่ละวันมีร้านอาหารกล่องเปิดใหม่เสมอๆ แสดงให้เห็นว่าคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันมีอยู่มาก และแต่ละร้านก็มีฝีมือ/รสชาติอาหาร ตลอดจนกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป ในขณะที่ตัวผู้บริโภคเองก็มีทางเลือกในการรับประทานที่ค่อนข้างหลากหลาย และมีสินค้าทดแทนอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ธุรกิจอาหารกล่อง ยังคงให้ภาพของการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการวิเคราะห์ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจอาหารกล่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจเพื่อลงทุนและการวางแผนต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้ในระยะต่อไป โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้



Strengths

S  เป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง ที่เน้นความสะดวกสบาย ง่ายและรวดเร็ว มีข้อจำกัดด้านเวลาในการประกอบอาหาร ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารกล่องเพิ่มขึ้น
S ภายใต้ราคาที่ไม่สูงมากและเมนูอาหารที่ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้อาหารกล่องเป็นทางเลือกที่น่าสนใจแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนอย่างมื้อเช้าและกลางวัน
S  ธุรกิจไม่ซับซ้อน ใช้เงินลงทุนไม่สูง อาศัยฝีมือในการทำอาหารประสบการณ์ในวางแผนธุรกิจเป็นสำคัญ
Weaknesses

W อาหารกล่องมีแนวโน้มเน่าเสียได้ง่าย จากสภาพอากาศ/อุณหภูมิหรือการขนส่งที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งหากลูกค้าไม่มาก สินค้าจะเหลือเยอะ ทำให้ขาดทุนได้ง่าย
W คู่แข่งในธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงมานาน คู่แข่งรายย่อยใหม่ๆ รวมไปถึงธุรกิจอาหารกล่องพร้อมทานรายใหญ่ที่เริ่มส่งเมนูอาหารมาตีตลาดในช่องทางโมเดิร์นเทรดมากขึ้น
W รูปแบบของเมนูอาหารกล่องที่วางจำหน่าย ไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก ทำให้เลียนแบบกันได้ง่าย
Opportunities

O        เป็นช่องว่างทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่มีไอเดียแปลกใหม่ ในการนำเสนอเมนูที่หลากหลาย โดยเฉพาะเมนูเพื่อสุขภาพ (ควบคุมน้ำหนัก/มังสวิรัติ) และเมนูสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเมนูอาหารแบบเดิมๆ
o        หากผู้ประกอบการมีสถานที่จัดจำหน่ายในทำเลที่ดี อาทิ ย่านออฟฟิสหรือแหล่งชุมชน จะทำให้ได้ลูกค้าขาประจำ/ขาจร มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
O        หากมีความพร้อมด้านเงินทุนและบุคคลากร สามารถพัฒนาต่อยอดไปถึงรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดลิเวอร์รี่ ส่งตรงถึงบ้านได้
Threats

T        ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหารและบรรจุภัณฑ์ เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งของการบริหารค่าใช้จ่าย และการกำหนดราคา
T        การปรับขึ้นราคา อาจส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะเมนูอาหารทั่วไปที่คล้ายคลึงกับคู่แข่ง
T        ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น หากสินค้าไม่มีความโดดเด่น หรือรสชาติไม่ถูกปาก ผู้บริโภคอาจหันไปบริโภคอาหารประเภทอื่นทดแทนได้

Key Success ... ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจอาหารกล่อง
  • ฝีมือและรสชาติอาหารต้องดี มีคุณภาพ ที่สำคัญต้องสะอาด สด ใหม่เสมอ
  • เมนูอาหารน่าสนใจและหลากหลาย เน้นการตกแต่งที่สวยงาม
  • สร้างสรรค์การนำเสนออาหารรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ  (จะทำให้ได้รับความสนใจและเกิดการบอกต่อมากยิ่งขึ้น)
  • บรรจุภัณฑ์มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน (ทำให้อาหารไม่เน่าเสียง่าย)
  • ราคาเมนูอาหารสามารถแข่งขันได้กับคู่แข่งหรือผลิตภัณฑ์ทดแทนอื่นๆ
  • มีจุดจำหน่ายที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายสามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวกในการซื้อหา
  • ทำการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าจดจำร้านได้อยู่เสมอ

โดยสรุป

        ธุรกิจอาหารกล่อง เป็นหนึ่งในธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในสังคมปัจจุบัน ที่ในแต่ละวันของการดำรงชีวิตยังอยู่บนฐานของความรีบเร่ง และเต็มไปด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลา ทำให้ไม่มีเวลาในการจัดเตรียมอาหารได้เอง ส่งผลให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้มองหาสินค้าและบริการที่เน้นความสะดวกมาเป็นอันดับแรก จึงเกิดเป็นช่องว่างของธุรกิจอาหารกล่อง ที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการในช่วงเวลาเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี โดยมีกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้บริโภควัยทำงาน พนักงานออฟฟิส กลุ่มผู้ที่ใส่ใจอาหารเพื่อสุขภาพ และกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะโรค เป็นต้น

        ทั้งนี้ แนวทางสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังมองหาลู่ทางในการลงทุนธุรกิจอาหารกล่องที่สำคัญ คือ ต้องมีการศึกษาความพร้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างถ่องแท้ ทั้งในเรื่องของเงินทุน สถานที่จัดจำหน่าย กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและทรัพยากรบุคคลที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนในการทำธุรกิจได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่ปัจจัยความสำเร็จของการทำธุรกิจอาหารกล่อง ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ฝีมือและรสชาติอาหารต้องดี มีคุณภาพ ที่สำคัญต้องสะอาด สด ใหม่เสมอ อีกทั้งเมนูอาหารควรมีความน่าสนใจและหลากหลาย  และมีการสร้างสรรค์ในการนำเสนออาหารรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการมีจุดจำหน่ายที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายสามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวกในการซื้อหา ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สิ่งที่จะละเลยไม่ได้เลยก็คือ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุอาหาร จะต้องมีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน เพื่อจะไม่ทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่าย ในขณะที่การกำหนดราคาเมนูอาหารนั้น ก็ต้องสามารถแข่งขันได้กับคู่แข่งและผลิตภัณฑ์ทดแทนอื่นๆ เช่นกัน
       
        จะเห็นได้ว่า ธุรกิจอาหารกล่องน่าจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้าสู่สมรภูมิทางการค้า อย่างไรก็ดี ภายใต้การแข่งขันในโลกของธุรกิจ การพัฒนาปรับปรุงกลยุทธ์ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง เป็นหัวใจหลักของการทำการค้า ที่ผู้ประกอบการควรจะตระหนักและดำเนินการอยู่เสมอ เพราะจะนำมาซึ่งโอกาสทางการค้าได้

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตุลาคม 2556

       



    แหล่งที่มาของข้อมูล

อาหารกล่องส่งตรงถึงที่ทันใจ (นสพ. โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม 2553)
สะดวกซื้อแข่งเสิร์ฟ ข้าวกล่อง 25 บาท เจาะแมส (นสพ. ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 กันยายน 2555)
มูลค่าตลาดมหาศาล อาหาร �ปิ่นโต� Delivery ธุรกิจนี้ � มีอนาคต
(http://www.thaismefranchise.com/?p=8682)
สองซูเปอร์โมเดล "โย-บี" บริการผูกปิ่นโตไร้ไขมัน อร่อยหน้าตาดี ราคาไม่จิ๊บ
(http://www.manager.co.th/Celebonline/ViewNews.aspx?NewsID=9560000047993)


************************************************************************************************************************


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

รับชำระเงินด้วย อาลีเพย์ (Alipay) และ วีแชทเพย์ (WeChat Pay) ทำยังไง