การลงทุนธุรกิจวัสดุก่อสร้างในสปป.ลาว #AECGEEK
ขอบคุณข้อมูลจาก www.ksmecare.com |
การลงทุนธุรกิจวัสดุก่อสร้างในสปป.ลาว
สปป.ลาว ต้องเตรียมประเทศให้พร้อมรองรับ AEC ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ เนื่องด้วยโครงข่ายคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน รางรถไฟ ระบบประปา และไฟฟ้า ยังมีไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมือง เพื่อรองรับการหลั่งไหลของการค้าและการลงทุนจากต่างชาติที่จะมีมากขึ้นในอนาคต และด้วยสภาพภูมิประเทศโอบล้อมด้วยภูเขาและทรัพยากรน้ำ ทำให้สปป.ลาวพยายามผลักดันให้ประเทศนี้กลายเป็น “Battery of Asia” จึงยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สปป.ลาวให้ความสำคัญกับภาคก่อสร้างมากขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสแก่ธุรกิจวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างของไทยที่จะบุกตลาดสปป.ลาว พร้อมกับการเติบโตของการก่อสร้างในพื้นที่
สำหรับการลงทุนจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในสปป.ลาว ผู้ประกอบการ SMEs ควรศึกษาถึงสภาพตลาด จำนวน คู่แข่งขัน ทำเลที่ตั้ง และลักษณะความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ ปัจจุบันสปป.ลาวกำลังมีความต้องการทั้งสินค้าวัตถุดิบ วัสดุก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างเหล็กรูปพรรรณ อิฐ กระเบื้อง ประตู และหน้าต่าง เนื่องด้วยอยู่ในช่วงพัฒนาประเทศ เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน ในปี 2558 ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งสปป.ลาวเตรียมเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายในอาเซียน
การเข้าไปก่อสร้างโรงงานเพื่อผลิตวัสดุก่อสร้าง ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน และพื้นที่เพื่อก่อสร้างโรงงาน อีกทั้งผังเมืองของสปป.ลาว ยังมีการจำกัดพื้นที่เขตรักษาผืนป่า นอกจากนี้ยังต้องใช้เงินลงทุนสูงสำหรับค่าเช่าที่ดินและค่าก่อสร้าง ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงแนะนำการลงทุนธุรกิจวัสดุก่อสร้างในเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในรูปแบบจำหน่ายสินค้าหรือส่งออก มากกว่าเข้าไปลงทุนผลิตเพื่อจำหน่าย ซึ่งเริ่มต้นจากหาพันธมิตรทั้งก่อนและระหว่างช่วงเวลาที่เข้าไปประกอบธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสะดวกและความคล่องตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างบริเวณชายแดนไทย-สปป.ลาว น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้เปรียบทางด้านความชำนาญพื้นที่ และมีข้อมูลความต้องการซื้อขายสินค้าวัสดุก่อสร้าง ซึ่งด่านที่เหมาะสมสำหรับขนส่งสินค้าวัสดุก่อสร้างมากที่สุดคือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่จังหวัดหนองคาย เข้าสู่เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าของประเทศ ส่วนด่านที่น่าสนใจที่ไม่ควรมองข้ามคือ ด่านช่องเม็ก ที่จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องด้วยด่านนี้ใกล้กับแขวงปากเซ และเชื่อมโยงกับแขวงอัตตะปือของสปป.ลาว ซึ่งภายใน 3-4 ปีข้างหน้า มีโครงการก่อสร้างสำคัญ คือ การขยายสนามบินปากเซ และสนามบินอัตตะปือ รวมถึงการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า Xe Pian Xe Nam Noy และ Xe Kong ทั้งนี้จะส่งผลให้เกิดความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างของไทยในการขยายตลาดไปยังสปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้านอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลอดทั้งปี 2555 และ2556 มูลค่าส่งออกปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์เหล็กอาจเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9 และ 15 ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1,350 และ 6,100 ล้านบาท ในปี 2555 ส่วนในปี 2556 คิดเป็นมูลค่า 1,470 และ 7,050 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจที่สปป.ลาว คือ การสร้างพันธมิตรในท้องถิ่น เพื่อร่วมมือเจาะตลาดและหาช่องทางการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในสปป.ลาว ซึ่งแหล่งจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่สำคัญจะอยู่ตามเมืองหลักที่มีโครงการก่อสร้างเกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น เวียงจันทน์ ปากเซ สะหวันนะเขต และอัตตะปือ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธันวาคม 2555
แหล่งที่มาของข้อมูล
สถิติมูลค่าการส่งออก-นำเข้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ 2555
Trade Map, 2012
The 22nd Survey of Investment Related Costs in Asia and Oceania, JETRO, 2012
ความคิดเห็น