เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2555 การเติบโตท่ามกลางความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง KSME Analysis Half year
Ksme Analysis เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2555 การเติบโตท่ามกลางความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง
สมัครรับบทวิเคราะห์ธุรกิจดีๆอย่างนี้ได้ฟรีที่ KSME STARTUP http://goo.gl/EXFDb |
สรุปสำหรับผู้บริหาร
Ksme Analysis ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555
เศรษฐกิจไทยได้แสดงความแข็งแกร่งให้เป็นที่ประจักษ์
ผ่านการฟื้นตัวของทุกภาคส่วนเศรษฐกิจจากผลกระทบของน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 โดยแม้ว่าภาคการส่งออกจะยังไม่สามารถพลิกกลับมายืนในแดนบวกได้
แต่ภาคการผลิตที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด และภาคการใช้จ่ายในประเทศที่ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับสูง
ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2555 สามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ร้อยละ 0.3 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และคาดว่าจะยังขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่
2/2555 ในกรอบร้อยละ 3.1- 4.1 (YoY) สำหรับอัตราเงินเฟ้อนั้น
แม้ในช่วงไตรมาสที่ 1/2555 จะเร่งตัวขึ้น
ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขยับตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4
(YoY) และร้อยละ 2.7 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ตามลำดับ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่ค่อยๆ ผ่อนคลายลง น่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่
2/2555 ขยายตัวราวร้อยละ 2.5 (YoY) ขณะที่
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.0 (YoY)
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 เศรษฐกิจของไทยน่าจะขยายตัวได้ในระดับที่สูงขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก
และทำให้เศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปี 2555 สามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.0 (YoY) โดยมีกรอบคาดการณ์ร้อยละ 4.5-6.0 (YoY) ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี
2555 มีโอกาสจะกลับมาเร่งตัวขึ้นได้ ส่วนทั้งปี 2555 คาดว่า
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวร้อยละ 3.5 (YoY) กรอบคาดการณ์ร้อยละ
3.2-3.9 (YoY) ขณะที่
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.6 (YoY) กรอบคาดการณ์ร้อยละ
2.4-2.8 (YoY) โดยมีหลายปัจจัยที่อาจกดดันเศรษฐกิจ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ทั้งพัฒนาการของวิกฤตเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกและในประเทศ
สถานการณ์การเมืองในประเทศ รวมทั้งภัยธรรมชาติ และเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอื่นๆ
ปัจจัยดังกล่าว
โดยเฉพาะทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางวิกฤตหนี้ยุโรป และทิศทางพลังงานรวมทั้งต้นทุนการผลิตอื่นๆ
จะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการเติบโตของภาคธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังอย่างมาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ประเมินว่า แม้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน
และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตภายนอกไม่มากนัก แต่อุตสาหกรรมเหล่านี้
ก็มีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต
แต่หากรัฐบาลยังคงมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนด้านต้นทุนต่อเนื่องไปในช่วงที่เหลือของปีนี้
แรงกดดันต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ก็น่าจะลดน้อยลง
ซึ่งตรงกันข้ามกับเส้นทางของอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์
และเครื่องประดับที่อาจต้องเผชิญความท้าทายในช่วงที่เหลือของปีมากกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมแรก
โดยแม้จะได้รับประโยชน์จากมาตรการภาครัฐในด้านต้นทุนการผลิต
แต่ก็คงต้องพบกับอุปสรรคจากความอ่อนแอของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า
ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลัก ทำให้การรักษาอัตราการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น
ความคิดเห็น