เปิด AEC โอกาสไทยอาจกลายเป็น HUB กรณีศึกษา Louis Vuitton ใช้ไทยบุกเวียดนาม

พร้อมรับ'AEC' หรือยัง?: แลกศูนย์กลางการตลาด
          คงไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปสำหรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะส่งผลให้ประเทศไทยและอีก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียนเปิดเสรีด้านการค้าและบริการต่อกัน รวมถึงการปรับลดกำแพงภาษีนำเข้า และการยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การเปิด AEC  จะส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นตลาดเดียว หรือ Single Market ที่จะทำให้มีประชากรผู้บริโภคในอาเซียนรวมกันถึงเกือบ 600 ล้านคน แน่นอนว่าภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตสินค้าด้านอุปโภคบริโภคและบริการต่าง ๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศต่างเห็นโอกาสทองนี้ในการขยายธุรกิจออกสู่กลุ่มบริโภคขนาดใหญ่ ซึ่งในบทความก่อนหน้าผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงผู้ประกอบการไทยหลายรายที่ได้อาศัยโอกาสนี้ในการขยายธุรกิจออกไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน บทความฉบับนี้เราจะได้เห็นในอีกมุมหนึ่งทางธุรกิจที่ฝายประเทศอื่นๆ เลือกประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าหรือควบคุมดูแลธุรกิจกันบ้าง และผู้ประกอบการไทยเพิ่มเติมที่จัดตั้งศูนย์กลางการตลาดในประเทศอื่นๆ
          เริ่มต้นที่สินค้าชื่อดังระดับโลกอย่างหลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) ที่มี นโยบายเปิดสาขาเพิ่มในประเทศเวียดนาม แต่มอบความรับผิดชอบให้กับบริษัท หลุยส์ วิตตอง ประเทศไทยให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการตลาดในประเทศเวียดนามด้วย และยังคงใช้ผู้บริหารคนไทยเป็นผู้อำนวยการบริษัทกับรับผิดชอบการขยายตลาดในภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีบริษัทอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างบริษัทอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด ที่บริษัทแม่จากสวีเดนมีนโยบายบุกตลาดอาเซียนด้วยยุทธศาสตร์การตั้งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการทำการตลาด และกระจายสินค้าส่งออกสำหรับตลาดเอเชียและแปซิฟิก โดยที่เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาบริษัทแม่ได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตตู้เย็นสำหรับใช้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ในการผลิตตู้เย็นเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน อินเดียและออสเตรเลียอีกด้วย
          ในทางกลับกัน ด้วยการที่ตลาดอาเซียนเป็นโอกาสใหม่และกลุ่มลูกค้าใหม่ จึงทำให้บริษัทของไทยเองอย่างกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลได้เข้าไปตั้งสำนักงานในประเทศเวียดนาม เพื่อนำสินค้าในเครือของกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลเข้าไปขายและให้บริการผ่านช่องทาง ต่าง ๆ เช่นกัน หลังจากนี้กลุ่มเซ็นทรัลยังเตรียมที่จะขยายเข้าสู่ตลาดประเทศพม่าในลำดับต่อไปอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ประกอบกิจการให้บริการด้านการเงินและบัตรเครดิตชั้นนำอย่างบริษัท อิออน ที่มีแผนจะขยายสาขาไปสู่กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้
          แต่อย่างไรก็ดีศูนย์กลางของบริษัท อิออนน่าจะยังคงอยู่ประเทศไทย เนื่องจากบริษัทอิออนมีสาขาอยู่ในประเทศไทยถึง 83 สาขาแล้ว ในขณะที่ในประเทศมาเลเซียมีอยู่ 19 สาขาเท่านั้น
          ประเทศไทยจะได้เป็นศูนย์กลางทางด้านสินค้าและบริการเมื่อเปิดAEC หรือไม่เช่นนั้นคงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝาย โดยเฉพาะการสนับสนุนอย่างจริงจังและจริงใจจากทางภาครัฐในหลาย ๆ เรื่องการอาศัยเพียงกำลังจากภาคธุรกิจเอกชนฝายเดียวคงจะไม่เพียงพอเพราะต้องอย่าลืมว่านอกจากที่เราจะต้องแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าถิ่นอยู่เดิมในแต่ละประเทศแล้ว ยังต้องคำนึงถึงคู่แข่งที่เป็นบริษัทอาเซียนแอบแฝงอันมีทุนรอนมหาศาลที่รอฉกฉวยโอกาสจากการเปิด AEC อยู่ด้วย
ที่มา   ณกฤช เศวตนันทร์ ประชาชาติธุรกิจ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

K-SME Analysis ธุรกิจชานมไข่มุก จากไต้หวัน