ผู้นำที่ใครใคร...ต้องการ Via @dc_danai
ผู้นำที่ใครใคร...ต้องการ
And so, my fellow Americans : ask not what your country can do for you, ask what you can do for your country. My fellow citizens of the world : ask not what America will do for you, but what together we can do for the freedom of man.(John F.Kennedy)
ประโยคอมตะที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ เคเนดี้กล่าวไว้กับคนอเมริกันเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ.1961 ที่ว่า “อย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรกับคุณ แต่ควรที่จะถามตัวคุณเองว่าคุณให้อะไรกับประเทศชาติ”
คุณเคยถามตัวเองหรือเปล่าครับว่า ทำไมประโยคดังกล่าวจึงกลายเป็นประโยคอมตะที่ถูกนำไปพูดกันทั่วโลก แม้ว่าเวลาจะผ่านมาเกือบครึ่งศตวรรษ
คุณเคยถามกับตัวเองเช่นกันหรือเปล่าครับว่า ทำไมประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ เคเนดี้ ที่ถูกระบุว่าเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดจึงเป็นผู้นำประเทศที่คนอเมริกันรักมากคนหนึ่ง เพราะนั่นย่อมแสดงว่า เขาต้องมีอะไรดีที่คนอื่นไม่มีหรือมีน้อยกว่าหรือไม่
ในหนังสือ “Speeches that changed the world” ที่รวบรวมโดย Simon Sebag Montefiore มีการระบุว่า จอห์น เอฟ เคเนดี้ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่ออายุ 43 ปี ถือเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มีอายุน้อยที่สุดและเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก และที่สำคัญเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับความชื่นชมอย่างกว้างขวางทั้งในสหรัฐอเมริกาและนอกประเทศ
จากประโยคอมตะที่ว่า “อย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรกับคุณ แต่ควรที่จะถามตัวคุณเองว่าคุณให้อะไรกับประเทศชาติ” สะท้อนบุคลิก “การให้” สำหรับหัวใจความเป็นผู้นำของเขาหรือไม่
หากคุณมีผู้บังคับบัญชา(ในฐานะตัวแทนองค์กร) ที่วันๆมีแต่การประชุมเพื่อแจ้งนโยบายให้พนักงานบริษัททำโน้น ทำนี่ ทำนั่น โดยไม่เคยพูดถึงนโยบายของบริษัทว่าจะทำอะไรให้กับพนักงานของบริษัทบ้าง และทุกครั้งที่มีการเรียกร้องสิทธิที่พึงได้ของพนักงาน จะมีแต่คำปฎิเสธก่อนทุกครั้งไป คุณจะรู้สึกอย่างไรที่มีผู้นำองค์กรเช่นนี้ครับ
ในทางตรงกันข้ามกับผู้นำองค์กรที่พร้อมเป็นตัวแทนพนักงานต่อสิทธิประโยชน์พึงมีพึงมีของพนักงาน แม้ว่าพฤติกรรมเช่นนั้นจะเป็นภาพลบในสายตาของเจ้าขององค์กรที่แท้จริง พนักงานทุกคนคงรู้สึกดีที่พวกเขามีตัวแทนอย่างแท้จริง แม้ว่าสิทธิที่เรียกร้องจะไม่เป็นไปตามคาดหวังก็ตาม
หัวใจง่ายๆของการบริหารอยู่ที่ “การให้” โดยไม่ต้องใช้ทุนทรัพย์ ใช้เพียงแค่ทุนทางจิตใจครับ
1. การให้เกียรติ ซึ่งเป็นพื้นฐานทั่วๆไปของการให้ ผู้ให้ย่อมมีเกียรติมีศักดิ์ศรีแก่ตัวเอง
2. การให้แนวคิด ข้อคิด, แนวทางที่ดี, ในการทำงาน ในการดำเนินชีวิตเพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ
3. การให้ทุกคนมีส่วนร่วมคิด, ร่วมทำ, ร่วมตัดสินใจ, ร่วมรับผิดชอบต่อการทำงานในองค์กรจะทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งในองค์กรน้อยลง
4. การให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการทำงาน โดยคิดว่าทุกคนมีความสามารถหรือเก่งแต่ละอย่างไม่เหมือนกันคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ
5. การให้ความรัก ความอบอุ่น, ความใกล้ชิด, สนิทสนมเหมือนญาติเมื่อทุกคนในองค์กรมีปัญหาก็อยากจะเข้ามาขอคำแนะนำปรึกษา
แต่ส่วนใหญ่องค์กรต่างๆมีปัญหา เพราะสังคมขององค์กรนั้นขาด “การให้” ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการให้จากผู้นำที่ควรจะมีมากที่สุดในฐานะที่มีอำนาจที่จะให้ได้ในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ
และที่สำคัญ “การให้อภัย” จากผู้นำที่พึงมีที่สุด เพราะหากผู้นำขาดการให้อภัยแล้ว องค์กรนั้นคงมีแต่ความยุ่งเหยิง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกคนในองค์กรมีความสุขกับการทำงานต้องขึ้นอยู่กับพนักงานทุกคนในองค์กรด้วยครับ
ลองถามตัวเองครับว่า “เราให้อะไรกับองค์กรของเราบ้าง”
...........................
ข้อคิดสำหรับการดำเนินชีวิต
1.ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..ตัวเราเอง
2.ความพ่ายแพ้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..การอวดดี
3.ความไร้ปัญญาที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..การโกหก
4.ความน่าเศร้าใจที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..การอิจฉาริษยา
5.ความผิดที่ร้ายแรงที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..ความหมดอาลัยตายอยาก
6.โทษทัณฑ์ที่หนักที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..การหลอกตัวเองและหลอกผู้อื่น
7.นิสัยที่น่าสงสารที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
8. ความน่านับถือยกย่องที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..ความวิริยะอุตสาหะ
9. ความล้มละลายที่หนักที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..การรู้สึกสิ้นหวัง
10. ความร่ำรวยที่มีค่าที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..การมีสุขภาพแข็งแรง
11. หนี้สินที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ...หนี้บุญคุณ
12. ของขวัญที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..การให้อภัย
13.ความขาดแคลนที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..ความเมตตาที่ประกอบด้วยปัญญา
14. ความรู้สึกปิติที่สุดในชีวิตของคนเรา คือ..การให้ทาน
จากคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย
ความคิดเห็น