ส่ิงที่อาจารย์ชัชชาติ ได้ฝากไว้กับน้องๆนักเรียนม.6ก่อนจบการศึกษา มีค่ากับทุกคนมากๆ


โดยทั่วไปแล้ว เราก็คงต้องอวยพรให้น้องๆทุกคน"โชคดี" "ประสบความสำเร็จ" และ "มีความสุข"มากๆในชีวิตที่กำลังจะก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย แต่ผมก็เชื่อว่าสิ่งทั้งหมดดังกล่าว น้องต้องทำด้วยตัวเอง คนอื่นมาทำให้ มาอวยพรให้ไม่ได้ ผมเลยขอเล่าเคล็ด(ไม่)ลับในชีวิตของตัวเองที่อาจจะช่วยน้องๆในสามเรื่องต่อไปนี้ 

1. ทำอย่างไรให้โชคดี

2. ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

3. ทำอย่างไรให้มีความสุข

แต่ก็บอกน้องๆว่า อันนี้มาจากประสบการณ์ของผม อย่าเพิ่งเชื่อ ต้องลองคิด ไตร่ตรอง ด้วยตัวเองด้วย

====================

1. ทำอย่างไรให้โชคดี 

ชีวิตผมดูแล้วเหมือนจะค่อนข้างโชคดี เรียนหนังสือดี จบวิศวะจุฬาฯแล้วได้รับพระราชทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปเรียนต่อระดับ ปริญญา โท เอก กลับมาเป็นอาจารย์ เป็นรัฐมนตรี เป็น CEO บริษัท 

ผมโชคดีจริงหรือ?

ผมยกคำพูดของสตีฟ จอบส์ที่เคยพูดไว้เมื่อปีคศ. 2005 ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด

"เราไม่สามารถต่อจุดในชีวิต โดยมองไปข้างหน้าได้ เราสามารถต่อจุดโดยมองย้อนกลับไปข้างหลังเท่านั้น ดังนั้น เราต้องเชื่อมั่นว่าจุดเหล่านี้ที่เรามี จะมีทางที่เชื่อมต่อกันได้ ในอนาคต"

 

ชีวิตเราคือการสะสม และ การต่อจุด (collect and connect the dots) เพื่อให้เป็นคำตอบ เป็นทางออกสำหรับเรื่องต่างๆในชีวิต

จุด ในความหมายนี้คือความรู้และประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมา ยิ่งเราสะสมจุดไว้เยอะ เราก็มีโอกาสจะต่อจุดให้เป็นคำตอบต่างๆได้มากขึ้น ถ้าเรามีแค่สองจุด เราก็ทำได้แต่ลากเส้นตรง และ ที่สำคัญ เราไม่สามารถไปเอาจุดในอนาคตที่เรายังไม่มี มาสร้างคำตอบในปัจจุบันได้ ดังนั้น "กึ๋น"ของเราขึ้นกับว่าเรามีจำนวนและคุณภาพของจุดที่เราสะสมไว้แค่ไหน

สิ่งที่ผมเชื่อว่าจะช่วยให้เราสะสมจุดดีๆได้คือ

1.  ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) 

ต้องสนใจแสวงหาความรู้ใหม่ตลอดเวลา ทั้งทางลึก (เรื่องที่เราเชี่ยวชาญ) และทางกว้าง (เรื่องอื่นที่ไม่ตรงกับสาขาของเรา เช่น ความเหลื่อมล้ำ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน) การที่เรารู้ในหลายๆด้าน ทำให้เราเข้าใจปัญหาและตัดสินใจได้ดีขึ้น



เราหาความรู้ได้จากการอ่าน การฟัง การเรียน online การทำกิจกรรม การพูดคุย มีทางมากมายให้เราแสวงหาความรู้ใหม่ๆได้ อย่างผมชอบอ่านหนังสือ ก็ใช้การอ่านช่วยสะสมจุดเพิ่มในชีวิต เคยมีคนถามว่า ทำอย่างไรถึงชอบอ่านหนังสือ ผมตอบว่า

ให้อ่านในสิ่งที่คุณรัก จนคุณรักการอ่าน

สมัยเด็กๆ ผมชอบอ่านการ์ตูน อ่านพล นิกร กิมหงวน อ่าน ต่วย'ตูน สกุลไทย อ่านไปเรื่อย จนรักการอ่านมาถึงปัจจุบัน

2. ระเบียบวินัย (Discipline)

ผมชอบคำพูดของ เอเลียด คิปโชเก นักวิ่งมาราธอนชาวเคนยาเจ้าของสถิติมาราธอน ต่ำกว่าสองชั่วโมงคนแรกของมนุษยชาติ ที่กล่าวไว้ว่า 



"คนที่มีวินัยเท่านั้นถึงจะมีอิสระในชีวิต ถ้าไม่มีวินัย คุณจะตกเป็นทาสของอารมณ์และ Passions"

น้องๆอาจจะนึกว่าคนที่ความมีระเบียบวินัย ไม่มีอืสระในชีวิตเพราะต้องทำตามกรอบ มีเวลาไปเที่ยวเล่นจำกัด แต่จริงๆแล้วระเบียบวินัยจะช่วยให้เราสามารถพัฒนาตนเอง และ เป็นอิสระที่จะสามารถเลือกทางเดินที่เราฝันได้ 

3. ความพยายาม การมี Growth Mindset

ผมเชื่อว่าความพยายามสำคัญกว่าพรสวรรค์ (Talents) เราสามารถปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของบุญ วาสนา หรือ แล้วแต่เวรกรรม



เหมือนบทกวี Invictus ของ William Henley  ที่กล่าวว่า

"เราเป็นเจ้านายของชะตาชีวิต

เราเป็นกัปต้นของจิตวิญญาน"

ความสำเร็จต่างๆที่ได้มา เป็นเพราะเราสะสมหาความรู้ ประสบการณ์ หรือ สะสมจุด ในชีวิต ทำให้เรามีมุมมองต่างๆที่กว้าง ทันสมัย และ สุดท้ายแล้วเราก็มีโอกาสที่จะเจอกับโชคดี เพราะ:

ความโชคดี = การเตรียมพร้อม + โอกาส 

ถ้าโอกาสมี แต่เราไม่พร้อม หรือ ไม่มีจุดสะสมไว้ เราจะไม่สามารถเปลี่บนโอกาสให้เป็นโชคดีได้

====================

2. ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ 

ผมเองตอนเริ่มงานในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม เป็นช่วงต้นปี พ.ศ.2555 จากนั้นในเดือน พฤษภาคม 2555 เอแบคโพลล์ ก็ประกาศว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  นำอันดับ 1 ของรัฐมนตรีโลกลืมที่ ประชาชนไม่รู้จักร้อยละ 38.1 (เอแบคโพลล์) นสพ.ยังบอกว่าหนาวแน่ 

ปัญหาคืออะไร?

ผมว่าส่วนหนึ่งของปัญหาที่สำคัญคือการสื่อสาร การทำงานของผมมันก็เหมือนเดิมมาตลอด แต่ผมสื่อสารสิ่งที่เราทำไม่เป็น จนกระทั่ง เหมือนโชคช่วยพลิกชะตาชีวิต คือมีรูปผมที่ถือถุงแกง ใส่ชุดวิ่ง เดินเท้าเปล่า ตอนไปใส่บาตรวัดหลวงปู่ดุลย์ที่จังหวัดสุรินทร์ พร้อมกับ ฉายารัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ซึ่งก็มาแบบงงๆ ขำๆ แต่ก็ทำให้เกิดเป็นช่องทางที่ทำให้เราสามารถสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น มีคนเข้ามาดู Facebook มากขึ้น และ เราเข้าใจวิธีการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น


ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่น้องๆต้องฝึกไว้ให้ดีในอนาคตคือ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าเราตั้งใจทำงานเพียงไหน ถ้าเราสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ โอกาสประสบความสำเร็จจะน้อยลง

หนังสือคลาสสิคที่ผมชอบมากสำหรับการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพชื่อ How to Win Friends and Influence People 

Dale Carnegie พ.ศ. 2479 (มีฉบับแปลไทย คือ วิธีชนะมิตรและจูงใจคน แปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์) หนังสือเล่มนี้ เขียนไว้เกือบ 90 ปีแล้ว แต่หลายๆเรื่องยังใช้ได้ดี โดยหัวใจของการสื่อสารคือ การให้ความสำคัญกับผู้ฟัง ไม่เอาตัวเราเองเป็นที่ตั้ง ฟังให้เยอะ ดูว่าคนฟังสนใจเรื่องอะไร อย่าไปทะเลาะ โต้แย้ง 

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสื่อสาร คือ ความไว้วางใจ (Trust) ถ้าเราได้รับความไว้วางใจแล้ว จะทำให้การสื่อสารของเราทำได้ง่ายขึ้น

ความไว้วางใจเกิดขั้นจากองค์ประกอบสองส่วนคือ

1. ตัวตน ความประพฤติ (Character) 

2. ความสามารถ (Competency)

หรือพูดง่ายๆคือ ความดีและความเก่ง เราต้องมีทั้งสองส่วน ถึงจะได้รับความไว้วางใจ ถ้าเราเก่งเรื่องงานแต่นิสัยเราเห็นแก่ตัว ก็ยากที่คนอื่นจะไว้ใจเรา หรือถ้าเราเป็นคนมีน้ำใจ ช่วยเหลือคนอื่น แต่เราไม่มีความสามารถในงานที่เราทำ โอกาสที่คนอื่นจะไว้ใจเราก็น้อยลง

ผมคิดว่าในหลายๆครั้ง ความไว้วางใจมีค่ามากกว่าความรัก เสียอีก ความรักบางทีมันเหมือนจะเป็นอ้ตโนมัติ เป็นแนว "ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆเขาก็รัก" แต่ความไว้วางใจนั้น มันเป็นผลจากการกระทำของเรา ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ มันจะเกิดเฉพาะกับคนที่คู่ควรเท่านั้น

ดังนั้น ชีวิตเราต้องสร้างและรักษาความไว้วางใจให้ดีที่สุด 

การประสบความสำเร็จในชีวิต คือ ต้องสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ สร้างและรักษาความไว้วางใจให้ดีที่สุด

====================

3. ทำอย่างไรให้มีความสุข

ที่ผ่านมา สังคมเราเน้นที่ตัวเองมากขึ้น เราเอาตัวเราเองเป็นที่ตั้ง ความต้องการของเราเป็นที่ตั้ง ความสุขของตัวเราเป็นที่ตั้ง

แต่สังคมที่ดีและมีความสุขแบบยั่งยืนนั้น น่าจะเป็นสังคมที่ทุกคนช่วนกันดูแลกันและกัน แบ่งปันความสุขให้กันและกัน

ถ้าเราไปดูงานวิจัยของ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ที่ศึกษาค่านิยมที่พ่อแม่สอนลูกสามอย่างคืออะไร

ในประเทศที่กำลังพัฒนา (รวมถึงประเทศไทย) จะเน้นสามเรื่องคือ

  • เชื่อฟังผู้ใหญ่
  • มีระเบียบวินัย
  • เรียนหนังสือสูงๆ

แต่สำหรับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเน้นสามเรื่องคือ

  • เคารพสิทธิสาธารณะ
  • รับฟังความเห็นคนอื่น
  • ช่วยเหลือคนแปลกหน้า

สามข้อแรกเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่สามข้อหลังก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน



การที่เราจะมีความสุขในอนาคตได้ เราควรจะต้องเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น (Empathy) ให้มากขึ้น 

ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเอง แต่ควรต้องคิดถึง และ เข้าใจคนอื่นในสังคมด้วย ถ้าเรามีความเข้าใจ (Empathy) แล้ว ความเห็นอกเห็นใจ (Compassion)

และ ความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน (Kindness) ก็จะตามมา

ถ้าเราทำแบบนี้ได้ สังคมจะขัดแย้งกันน้อยลง เราน่าจะหันมาฟังกันและเข้าใจกันมากขึ้น และ สังคมน่าจะมีความสุขขึ้น มันเป็นเรื่องไม่ง่ายแต่เราก็ควรจะกล้าฝัน และ ทุกอย่างเริ่มได้ที่ตัวเรา

====================

สรุปสามเรื่องที่เล่าให้น้องๆฟังคือ

1. ทำอย่างไรให้โชคดี: 

โชคดี = การเตรียมพร้อม + โอกาส

ความอยากรู้อยากเห็น ระเบียบวินัย Growth Mindset 

2. ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ:

สื่อสารให้เป็น สร้างและรักษาความไว้วางใจให้ดีที่สุด

3. ทำอย่างไรให้มีความสุข:

เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น (Empathy) เห็นอกเห็นใจ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน คนอื่นๆในสังคม

ขอให้น้องๆม.ปลายทุกคน มีพลัง และ กำลังใจที่เข้มแข็ง ในการก้าวเดินต่อไปในอนาคตที่เราเลือกนะครับ

ถึงแม้บางคนจะพลาดหวัง ท้อ แต่ขออย่ายอมแพ้ เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น เพิ่มจุดในชีวิต แล้วสักวันหนึ่งเราต่อจุดในชีวิตได้สำเร็จได้ตามที่หวังครับ

ที่มา https://www.facebook.com/chadchartofficial

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

รับชำระเงินด้วย อาลีเพย์ (Alipay) และ วีแชทเพย์ (WeChat Pay) ทำยังไง