ผลกระทบจากAEC ในธุรกิจ Telecom และ Computer



ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://ksmestartup.com สมัครวันนี้สัมมนาออนไลน์ฟรี ทั้งปี


ธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์...ก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
มีนาคม 2555


ธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ นับเป็น 1 ใน 4 ของสาขาธุรกิจบริการเร่งรัดการเปิดเสรีในปี 2553 ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) ซึ่งครอบคลุมถึงการให้บริการโทรคมนาคมเพื่อการติดต่อสื่อสารทั้งด้านเสียงและข้อมูล เช่น บริการโทรศัพท์พื้นฐาน บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการเพลงและคอนเทนต์ต่างๆผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ตลอดจนบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านคอมพิวเตอร์หรือระบบสารสนเทศ เช่น บริการที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาระบบสารสนเทศ บริการติดตั้งพร้อมบำรุงรักษาระบบงานสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น

ทั้งนี้ การเปิดเสรีสาขาบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ จะครอบคลุมการขยายเพดานสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติเป็นสูงสุดร้อยละ 70 และการลดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการในรูปแบบต่างๆ (Mode of Services) ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) โดยแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 หรือ Mode-1 : การให้บริการข้ามพรมแดน (Cross Border Supply) เป็นการให้บริการจากพรมแดนของประเทศผู้ให้บริการไปยังพรมแดนของประเทศที่เป็นลูกค้า โดยผู้ให้บริการ ยังคงอยู่ในประเทศตน ไม่ต้องไปลงทุนหรือร่วมลงทุนจัดตั้งธุรกิจให้บริการในประเทศลูกค้า เช่น การให้บริการฟังเพลงออนไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

รูปแบบที่ 2 หรือ Mode-2 : การบริโภคในต่างประเทศ (Consumption Abroad) เป็นการให้บริการที่เกิดขึ้นในพรมแดนของประเทศผู้ให้บริการ โดยผู้เป็นลูกค้าเดินทางจากประเทศตนเข้ามาขอรับบริการในประเทศผู้ให้บริการ เช่น การเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการโดยผู้ประกอบการในประเทศที่ตนเดินทางไป เป็นต้น

รูปแบบที่ 3 หรือ Mode-3 : การจัดตั้งธุรกิจเพื่อให้บริการ (Commercial Presence) เป็นการให้บริการโดยผู้ให้บริการเข้าไปลงทุนหรือร่วมลงทุนจัดตั้งธุรกิจ (นิติบุคคล) เพื่อให้บริการในประเทศลูกค้า เช่น การเข้ามาลงทุนจัดตั้งบริษัทในไทย เพื่อเปิดให้บริการสื่อสารบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น

รูปแบบที่ 4 หรือ Mode-4 : การให้บริการโดยบุคคลธรรมดา (Presence of Natural Person) เป็นลักษณะของการให้บริการที่บุคคลธรรมดาเดินทางเข้าไปทำงานประกอบวิชาชีพในสาขาบริการด้านต่างๆ ในประเทศลูกค้า เช่น นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาประกอบวิชาชีพในไทย เป็นต้น

การเปิดเสรีบริการด้านโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ย่อมมีทั้งโอกาสและความท้าทายต่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งนอกจากจะเผชิญกับการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศแล้ว ยังต้องแข่งขันกับนักลงทุนอาเซียนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพร้อมที่จะรุกและรับภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ และเตรียมพร้อมในการปรับตัว และขยายโอกาสทางธุรกิจในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน-AEC... ผลต่อธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ไทย

Ø  ข้อจำกัดด้านกฎหมายยังจำกัดผลกระทบต่อธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ไทย

ปัจจุบัน การเปิดเสรีบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ในทางปฏิบัติ พบว่า ประเทศไทยรวมถึงหลายประเทศในอาเซียนยังคงมีข้อจำกัดในการดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้ข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านโทรคมนาคม ซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ จึงทำให้มีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบและกฎหมายภายในประเทศ ทำให้ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ตามข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการชุดที่ 7 ของ AEC ได้อนุญาตให้ธุรกิจต่างชาติสามารถเปิดให้บริการด้านโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ในรูปแบบการให้บริการข้ามพรมแดน (Mode-1) และอนุญาตให้ผู้บริโภคสามารถเดินทางไปใช้บริการในต่างประเทศได้ (Mode-2) ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐานของการให้บริการระหว่างประเทศในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบการให้บริการข้ามพรมแดน ซึ่งผู้ประกอบการมักใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางในการให้บริการ เช่น บริการรับเขียนโปรแกรมประยุกต์โดยติดต่อสื่อสารกันผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

ในขณะที่การเข้ามาจัดตั้งธุรกิจเพื่อให้บริการในประเทศไทย (Mode-3) ซึ่งมีการตั้งเป้าไว้ในแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ที่ได้อนุญาตการถือหุ้นของคนสัญชาติอาเซียนสูงสุดที่ร้อยละ 70 ตั้งแต่ปี 2553 นั้น ในส่วนของบริการโทรคมนาคมสามารถกระทำได้เฉพาะผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง แต่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทขายต่อบริการ หรือใบอนุญาตประเภทที่ 1 จากหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคม (กสทช.) ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าผู้ประกอบการ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) เท่านั้น เนื่องจากไม่เข้าข่ายกฏเกณฑ์เกี่ยวกับสัดส่วนผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติต่อผู้ถือหุ้นชาวไทยในนิติบุคคลไทยได้ไม่เกินร้อยละ 49:51 ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในขณะที่ผู้ประกอบการที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองนั้น ยังคงได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่

จากสภาพการณ์ดังกล่าวข้างต้น คาดว่า ในธุรกิจบริการโทรคมนาคม ผู้ประกอบการสัญชาติอาเซียนที่ต้องการจะเข้ามาเปิดให้บริการในไทย  น่าจะเข้ามาในรูปแบบ MVNO และจับตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แทนที่จะเป็นตลาดหลักที่ถูกครอบครองโดยผู้ประกอบการรายหลักของไทย ซึ่งมีโครงข่ายสื่อสารเป็นของตนเองและมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงในตลาดเมืองไทย สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่มที่น่าจะเป็นเป้าหมายของผู้ประกอบการสัญชาติอาเซียน คือ ตลาดชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคชาวอาเซียนในไทย โดยอาจจะเป็นผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพ ทำธุรกิจ ท่องเที่ยว หรือแม้แต่ผู้เข้ามาศึกษาต่อในไทย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังการเปิดเสรี AEC เนื่องจาก ปัญหาในเรื่องภาษา และความต้องการความเป็นกันเองในการติดต่อสื่อสารเพื่อขอรับบริการ ทำให้เกิดความต้องการในบริการหลังการขายด้วยภาษาประจำชาติ และคอนเทนต์ต่างๆ ที่เป็นภาษาของประเทศนั้นๆ รวมถึงความต้องการในบริการติดต่อสื่อสารกลับมายังบ้านเกิดของตนที่สะดวกและราคาย่อมเยาอีกด้วย

ในขณะที่บริการที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น ถูกจัดอยู่ในบัญชีสามซึ่งเป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งระบุว่าต้องมีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นชาวไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 จึงยังคงเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และส่งผลให้ผู้ประกอบการสัญชาติอาเซียนที่ต้องการเข้ามาเปิดบริการด้านคอมพิวเตอร์ในไทย น่าจะเข้ามาในรูปแบบของการเป็นพันธมิตรกับนักลงทุนชาวไทย เพื่อประกอบธุรกิจบริการดังกล่าวในไทย

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการเข้ามาลงทุนในธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ของผู้ประกอบการสัญชาติอาเซียน น่าจะยังคงอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากบริบทของกฎหมายในไทยที่ยังคงมีข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุด ประเทศไทยรวมถึงประเทศต่างๆในอาเซียนก็ย่อมต้องดำเนินการผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนต่างๆในอนาคตเพื่อการเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น ผู้ประกอบการชาวไทยควรเร่งพัฒนาและจัดหาบุคลากรที่มีทักษะและความชำนาญ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

Ø  โอกาสการลงทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในประเทศอาเซียน

สำหรับโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในการลงทุนในอาเซียนนั้น แม้หลายประเทศในอาเซียนยังคงมีข้อจำกัดด้านกฎหมายดังเช่นกรณีของไทยอยู่ อย่างไรก็ดี บางประเทศในอาเซียนค่อนข้างเปิดเสรีธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่าและสิงคโปร์ ซึ่งอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นเป็นสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 100 จึงนับเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะก้าวออกไปขยายตลาดในประเทศอาเซียนดังกล่าว

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีโอกาสหลากหลายในการลงทุนในธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ในอาเซียน เช่น ธุรกิจรับจ้างบริการวางโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศที่โครงข่ายสื่อสารกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา ธุรกิจรับจ้างหรือรับช่วงต่อการพัฒนาระบบสารสนเทศต่างๆ และธุรกิจให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์อย่างเช่นเกมส์ออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ทั้งนี้ การเลือกลงทุนขยายธุรกิจบริการใด ควรพิจารณาข้อมูลพื้นฐานทางด้านความพร้อมและการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในประเทศอาเซียนแต่ละประเทศประกอบในการตัดสินใจเลือกธุรกิจที่ต้องการลงทุนได้เหมาะสม

                ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นและโอกาสทางธุรกิจของแต่ละประเทศสมาชิกในอาเซียน เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจจะออกไปเจาะตลาดอาเซียนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ดังนี้

สิงคโปร์/มาเลเซีย
ข้อมูลเบื้องต้น
v มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม โดยเฉพาะโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงทั้งมีสายและไร้สาย
v สิงคโปร์มีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนราวร้อยละ 77 ในขณะที่มาเลเซียราวร้อยละ 62[1]  
v มีการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างกว้างขวางทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน

โอกาสทางธุรกิจ
v ความพร้อมของโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง และอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สูงของผู้บริโภค ทำให้เกิดโอกาสหลากหลายทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ต่างๆผ่านอินเทอร์เน็ต ธุรกิจพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และธุรกิจรับจ้างพัฒนาระบบสารสนเทศต่างๆ เป็นต้น
อินโดนีเซีย/เวียดนาม/ฟิลิปปินส์
ข้อมูลเบื้องต้น
v มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมทั้งมีสายและไร้สายเฉพาะเขตตัวเมือง ในขณะที่ในเขตชนบทกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาโครงข่ายสื่อสารต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงไร้สาย 3G
v อินโดนีเซียมีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตราวร้อยละ 22 เวียดนามราวร้อยละ 34 และฟิลิปปินส์ราวร้อยละ 29
v อยู่ในช่วงการเร่งพัฒนาและประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั้งในภาครัฐและเอกชน

โอกาสทางธุรกิจ
v จากการเร่งขยายโครงข่ายสื่อสารต่างๆในเขตชนบท ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการรับจ้างให้บริการวางโครงข่ายสื่อสารต่างๆ อย่างไรก็ดี การลงทุนเพื่อเปิดให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมโดยตรงในประเทศต่างๆดังกล่าว ยังคงเผชิญข้อจำกัดทางด้านกฎหมายดังเช่นกรณีของไทย
v จากการเร่งพัฒนาและประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจด้านบริการที่ปรึกษาและรับจ้างพัฒนาระบบสารสนเทศต่างๆ
พม่า / สปป.ลาว / กัมพูชา
ข้อมูลเบื้องต้น
v โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมทั้งมีสายและไร้สายยังคงอยู่ในช่วงการพัฒนา และมีนโยบายเปิดเสรีด้านธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์เพื่อรับเงินลงทุนจากต่างประเทศ
v พม่ามีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตราวร้อยละ 0.2 สปป.ลาวราวร้อยละ 8.1 และกัมพูชาราวร้อยละ 3.1
v อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั้งในภาครัฐและเอกชน
v ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีกำลังซื้อที่ไม่สูงนัก ทำให้การตัดสินใจส่วนใหญ่เน้นพิจารณาจากราคาและประโยชน์ของสินค้าและบริการเป็นสำคัญ ขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆยังได้รับความนิยมจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง

โอกาสทางธุรกิจ
v จากการที่พม่า สปป.ลาว และกัมพูชา เป็นประเทศที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ส่งผลให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการรับจ้างให้บริการวางโครงข่ายสื่อสาร ตลอดจนโอกาสในการเปิดให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมโดยตรง จากนโยบายเปิดเสรีด้านธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ในประเทศต่างๆดังกล่าว
v จากการที่การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศต่างๆดังกล่าวยังคงอยู่ในภาวะเริ่มต้น ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายในบริการด้านคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นบริการที่ปรึกษาและรับจ้างพัฒนาระบบสารสนเทศ บริการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น


การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ...เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

นอกจากการทำความเข้าใจผลกระทบและโอกาสจากการเปิดเสรีบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์แล้ว ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจให้แข็งแกร่ง และพร้อมที่จะแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศอาเซียนต่างๆ ดังนี้

Ø ศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็น AEC
ผู้ประกอบการที่ยังคงขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดของ AEC ควรที่จะเริ่มต้นศึกษาให้เข้าใจอย่างชัดเจนเสียก่อน ทั้งทางด้านกฎระเบียบ เงื่อนไขการลงทุน ภาษี และกฎหมายแรงงาน โดยอาจจะเข้าร่วมฟังสัมมนาของทางหน่วยงานภาครัฐ หรือสอบถามไปยังหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องดังกล่าว เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงไอซีที เป็นต้น

Ø พัฒนาคุณภาพของบุคลากร
ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ คือ ทรัพยากรบุคคล เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการควรที่จะคัดเลือกบุคลากรที่มีศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในอนาคต และวางแผนที่จะยกระดับทักษะและความชำนาญของบุคลากรเหล่านั้นอยู่เสมอ

Ø รักษาฐานลูกค้าเก่าให้มั่น ไปพร้อมๆกับการสร้างฐานลูกค้าใหม่
ภายหลังการเปิดเสรี AEC ผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญการแข่งขันจากคู่แข่งในอาเซียนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยความได้เปรียบของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่มีความใกล้ชิด เข้าใจในพฤติกรรม และผูกพันกับกลุ่มลูกค้าเก่าในไทยมายาวนาน ซึ่งนับเป็นจุดแข็งที่ผู้ประกอบการไทยควรใช้ในการรักษาฐานที่มั่นของลูกค้าในไทย ในขณะที่แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆในอาเซียนภายใต้การเปิดเสรีดังกล่าว

Ø เตรียมความพร้อมทางด้านภาษา
ภาษาอังกฤษนับได้ว่าเป็นภาษากลางในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษของบุคลากรให้พร้อมเพื่อรองรับการแข่งขัน และการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมด้านภาษาแล้ว ก็อาจที่จะศึกษาภาษาอื่นในอาเซียนเพิ่มเติม เช่น ภาษาลาว พม่า กัมพูชา เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสในการเข้าสู่ลูกค้าในประเทศนั้นๆได้ง่ายยิ่งขึ้น

Ø ศึกษาระเบียบและกฎหมายของประเทศในอาเซียน
ก่อนที่จะขยายธุรกิจไปในอาเซียน ผู้ประกอบการควรศึกษาและทำความเข้าใจระเบียบและกฏหมาย ของแต่ละประเทศสมาชิกให้ชัดเจนเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดของกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ ซึ่งแต่ละประเทศย่อมมีกฏระเบียบและข้อปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งการเข้าใจถึงกฎระเบียบจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้อย่างถูกต้อง สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

Ø สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ
เพื่อลดความเสี่ยงในการขยายการลงทุนในประเทศอาเซียน ผู้ประกอบการอาจให้ความสำคัญในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทในประเทศที่เราต้องการไปลงทุน เพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน  และร่วมถ่ายทอดเทคนิคการจัดการ ทักษะต่างๆ ในการทำตลาดในประเทศนั้น ตลอดจนสร้างอำนาจต่อรองในตลาด ให้มากขึ้นกว่าการดำเนินธุรกิจเพียงลำพัง



บทสรุป

การก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ของไทยมีการตื่นตัวกันมากขึ้น และน่าจะเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย โดยภายหลังจากการเปิดเสรี AEC คาดว่า ผลกระทบจากการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการสัญชาติอาเซียนในธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ของไทย น่าจะยังคงอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านโทรคมนาคม ซึ่งจัดเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ และมีลักษณะของข้อจำกัดเดียวกันกับประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุด ประเทศไทยรวมถึงประเทศต่างๆในอาเซียนก็ย่อมต้องดำเนินการผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนต่างๆในอนาคตเพื่อการเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น

แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ในภูมิภาคอาเซียนน่าจะเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นในอนาคตภายหลังการเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใดที่มีความพร้อมและสามารถปรับตัวได้ก่อนทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ย่อมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใดที่ไม่พร้อมที่จะปรับตัว ก็อาจจะทำให้เสียโอกาสให้กับคู่แข่งไป ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยจะต้องเร่งปรับตัว โดยอาจจะเริ่มจากการศึกษาและทำความเข้าใจในกฎระเบียบและรายละเอียดของการเปิดเสรีด้านบริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็เร่งจัดหาบุคลากรที่มีทักษะและความชำนาญ รวมไปถึงการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจให้แข็งแกร่ง และพร้อมที่จะแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศอาเซียนต่างๆต่อไป


แหล่งที่มา
Internet World Stats :  www.internetworldstats.com
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
World Trade Organization : The General Agreement on Trade in Services (GATS)


[1] ข้อมูลจาก Internet World Stats

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
Actually agitated at a new attention of minka kelly maxim almost certainly choosing anne aunt alternatively of anne, her converted helen again
again additionally poured a cup of as well as
aquatic.
My page > minka kelly feet

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

K-SME Analysis ธุรกิจชานมไข่มุก จากไต้หวัน