รวมนโยบายหาเสียงกับ SME ของพรรคการเมืองเลือกตั้ง2566 ชูจุดไหนที่ SME ควรดู

 

นโยบาย SME พรรคชาติพัฒนากล้า

พรรคชาติพัฒนากล้ามีนโยบายหาเงินให้ประเทศ 5 ล้านล้านบาทในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ด้วยยุทธศาสตร์ Spectrum Economy

  • เศรษฐกิจสีเขียว: กรีนอีโคโนมี เศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน ต้องแยกระบบสายส่งออกจากการไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งของรัฐ ขยายพื้นที่ป่าเป็น 40% หรือ 26 ล้านไร่ของประเทศ ด้วยการออกพันธบัตรป่าไม้มูลค่า 65,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งการขายพืชเศรษฐกิจและคาร์บอนเครดิต 
  • เศรษฐกิจสีเทา: เปลี่ยนส่วยเป็นภาษี ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจสีเทาแฝงอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สูงถึง 50% ของ GDP แต่ขาดโอกาสในการเก็บภาษีเข้ารัฐ จึงเสนอให้มีคาสิโนในรีสอร์ตเหมือนสิงคโปร์ ที่มีรายได้ในส่วนนี้ 200,000 ล้านบาทต่อปี 
  • เศรษฐกิจสีขาว: เศรษฐกิจสายมู ตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวสายมูที่เป็นเทรนด์ใหม่ในโลก จังหวัดละ 1,000 ล้านบาท 
  • เศรษฐกิจสีน้ำเงิน: เศรษฐกิจสายเทค สร้างโอกาสด้านดิจิทัลอีโคโนมี 1.75 ล้านล้านบาท สร้างโอกาสให้คนไทยเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ที่ทำได้ก่อนคือการท่องเที่ยว สามารถจองห้อง จองโรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งรายได้ให้กับเจ้าของแพลตฟอร์ม ทำให้เราสูญเสียโอกาสไปมาก 
  • เศรษฐกิจสีรุ้ จากความเท่าเทียมสู่โอกาสทางเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อสูงสุด 1 ล้านล้านบาททุกปี เริ่มด้วยการปรับกฎหมายให้สมรสได้ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรองรับกำลังซื้อใหญ่จากทั่วโลก
  • เศรษฐกิจสีเงิน ชูเศรษฐกิจวัยเก๋า สร้างบ้านผู้สูงอายุ ปรับปรุงบ้าน 50,000 ล้านบาท 1 ล้านครัวเรือน ลดสถิติคนสูงอายุล้มในบ้านปีละ 2 ล้านคน
และอีก 12 นโยบายหลัก
12 นโยบายประกอบด้วย
 
  1. นโยบายในเรื่องการที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่จะมาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่เม็ดเงินประมาณ 5 ล้านล้านบาท 
  2. นโยบายลดค่าใช้จ่าย จะจัดโครงสร้างภาษีใหม่ บุคคลเงินเดือน 40,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี
  3.  นโยบายสร้างเกษตรใหม่ที่จะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ทางด้านเศรษฐกิจเป็นจุดแข็งของประเทศ
  4.  นโยบายสินเชื่อ จากปัญหาเรื่องเครดิต จะผ่อนคลายให้ทุกคนกลับมาใช้สินเชื่อกันได้ใหม่
  5.  นโยบายการใช้ระบบดิจิทัลมาปรับปรุงระบบราชการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวดเร็ว โปร่งใส
  6.  นโยบายทางด้านการท่องเที่ยว ที่จะมาสร้างเงิน สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มนักท่องเที่ยว 2 เท่า 
  7. นโยบายด้านพลังงานในเรื่องของราคาไฟฟ้าและราคาน้ำมัน
  8.  นโยบายด้านการศึกษา เพิ่มทักษะให้คนมีโอกาสทำงานมากขึ้น ประเทศไทยต้องเรียนรู้หลายภาษา
  9.  นโยบายทุนธุรกิจสร้างสรรค์ สูงสุดรายละ 1 ล้านบาท ไม่จำกัดวุฒิและวัย
  10.  นโยบายสูงวัยไฟแรง งานใหม่ 500,000 ตำแหน่ง
  11.  นโยบายอารยสถาปัตย์ปรับปรุงบ้าน 50,000 บาทให้ผู้สูงวัยและผู้พิการ 
  12.  นโยบายมอเตอร์เวย์ทั่วไทย 4 ทิศ 2,000 กิโลเมตร
ไม่มีข้อมูลจากเว็บทางการของพรรค https://thestandard.co/12-policies-chart-pattana-kla/


นโยบาย SME พรรคก้าวไกล 



พรรคก้าวไกล นำโดย วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และทีมงานที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจ SMEs มายาวนาน ต่างวิเคราะห์ว่า สิ่งที่ SMEs ต้องการ ประกอบด้วย (ก) แต้มต่อเพื่อให้ SMEs ลดความเสียเปรียบในการแข่งขันกับทุนใหญ่ (ข) สร้างโอกาสทางการตลาดให้กับ SMEs ได้ลองตลาดกับผู้ซื้อใหม่ๆ หรือเรียกว่า เติมตลาด (ค) เติมทุน สำหรับให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนสำหรับทุนหมุนเวียนและขยายกิจการ (ง) ลดจ่าย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งภาระค่าเช่า ค่าแรง และภาษี ให้กับ SMEs และ (จ) สร้างการรวมกลุ่ม ของ SMEs ให้มีตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงสะท้อนความต้องการถ่วงดุลกับกลุ่มทุนใหญ่เพื่อป้องกันการออกนโยบายภาครัฐที่เอื้อให้เกิดการกีดกันและผูกขาดกับทุนใหญ่ ซึ่งสามารถขยายให้เข้าใจง่ายขึ้นตามเนื้อหาต่อไปนี้


1. แต้มต่อ
SMEs ต้องการแต้มต่อ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ได้ จากขนาดและทรัพยากรของ SMEs ที่น้อยกว่ากลุ่มทุนใหญ่

  • หวย SMEs สำหรับธุรกิจ B2C ที่ขายสินค้าหรือให้บริการแก่ผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภค ซื้อสินค้า/บริการของ SMEs ผ่าน แอพฯ เป๋าตัง ทุกๆ 500 บาท จะได้รับ สลากกินแบ่งรัฐบาล 1 ใบ โดยจำกัดไว้ที่คนละ 2 ใบต่อ เดือน (หรือ 1 ใบต่องวดสลาก) จะเป็นการสร้างแต้มต่อให้กับ SMEs ในการแข่งขันกับห้างร้านของทุนใหญ่ และต้องมีนโยบายจูงใจให้ SMEs เข้าร่วมโครงการนี้เช่นกัน ด้วยการกำหนดว่า ทุกๆ ยอดขาย 5,000 บาท ผ่านแอพฯ เป๋าตัง SMEs จะได้รับ สลากกินแบ่งรัฐบาล 1 ใบ โดยจำกัดไว้ที่คนละ 2 ใบต่อ เดือน (หรือ 1 ใบต่องวดสลาก) เหมือนกับผู้ซื้อ , รายได้จากการขายผ่านแอพฯ เป๋าตัง SMEs จะสามารถหักค่าใช้จ่ายเหมา สำหรับภาษีบุคคลได้เพิ่มขึ้นเป็น 90% จากเดิมที่หักค่าใช้จ่ายเหมาได้เพียง 60% และ สามารถนำยอดขายผ่าน แอพฯ เป๋าตัง กู้สินเชื่อในระบบกับธนาคารออมสินได้แน่นอน สูงสุด 3 เท่าของยอดขายต่อเดือน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและสำหรับขยายกิจการต่อไปได้ 
  • ซื้อ SMEs เพิ่ม หักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ถ้าเป็นธุรกิจ B2B ที่ขายสินค้าให้กับธุรกิจ ถ้าบริษัทไหนซื้อสินค้า/บริการ SMEs เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จะสามารถนำส่วนเพิ่มไปหักค่าใช้จ่ายทางภาษีนิติบุคคลได้ 1.5 เท่า ถ้าเป็น SMEs ซื้อ SMEs กันเอง จะสามารถนำส่วนเพิ่มจากปีก่อนหน้าไปหักค่าใช้จ่ายทางภาษีนิติบุคคลได้ 2 เท่า ทำให้ทุกธุรกิจหันมาซื้อสินค้า/บริการจาก SMEs มากขึ้น สนับสนุนให้เกิดบริการ Outsource งานให้กับธุรกิจ SMEs มากขึ้นด้วย จูงใจไม่ให้กลุ่มทุนใหญ่ขยายกิจการลงมากินรวบในห่วงโซ่อุปทาน 

2. เติมตลาด
SMEs ต้องการโอกาสในการเข้าถึงตลาด โดยเฉพาะจาก นักท่องเที่ยวต่างชาติ และ ผู้เสียภาษีบุคคล ที่มีกำลังซื้อและสามารถเป็นลูกค้าหลักในอนาคตต่อไปได้ หรือ โอกาสในการวางขายใน ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เพื่อทดลองตลาดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

  • เคาน์เตอร์สินค้าตัวอย่าง SMEs ทุกสนามบินนานาชาติ SMEs ยินดีที่จะให้สินค้าตัวอย่างกับนักท่องเที่ยวต่างชาติฟรีอยู่แล้ว ดังนั้นภาครัฐควรตั้งจัด พื้นที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาเลือกรับสินค้าตัวอย่าง SMEs ได้ฟรี ทั้งขาเข้าและขาออกทุกสนามบินนานาชาติ เพราะถ้านักท่องเที่ยวต่างชาติถูกใจ ย่อมหมายถึง โอกาสของยอดขายที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวจากตลาดต่างประเทศ และ หมายถึงโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาซื้อซ้ำผ่าน อีคอมเมิซ เมื่อกลับไปยังประเทศตัวเองได้ (Cross-border Ecommerce Platform ของเอกชน)
  • เครดิตจากภาษีบุคคล 1,000 บาท สำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์/OTOP/สหกรณ์เกษตร ถ้าผู้เสียภาษีบุคคล ที่เป็นคนมีกำลังซื้อมากอยู่แล้ว มีเครดิต 1,000 บาท สำหรับเลือกซื้อสินค้า OTOP หรือสินค้าเกษตรจากสหกรณ์เกษตร หรือสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่าง เพลง ภาพยนตร์ เกม ศิลปะไทย จะทำให้เกิดโอกาสที่ผู้เสียภาษีบุคคล จะหันมาสนใจและเลือกซื้อสินค้าพรีเมียมเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเครดิต 1,000 บาทที่ได้รับไป และกลายมาเป็นลูกค้าหลักที่สนับสนุนให้สินค้า/บริการที่ภาครัฐต้องการสนับสนุนเติบโตต่อไปได้
  • ชั้นวางสินค้า SMEs ใน ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ถ้า Modern Trade มี ชั้นวางสินค้า SMEs ที่เปิดโอกาสให้สินค้า SMEs ได้มีโอกาสมาทดลองวางขายได้ 3 เดือน ก็จะช่วยให้สินค้า SMEs มีโอกาสเข้าถึงตลาดใหญ่ได้เร็วขึ้น ถ้าสินค้า SMEs ขายดี Modern Trade ย่อมจะนำมาวางขายในชั้นวางสินค้าหลักต่อไป เป็นโอกาสในการเติบโตของสินค้า SMEs ที่มีคุณภาพได้เร็วขึ้นมาก ถ้าภาครัฐกำหนดสัดส่วนชั้นวางสินค้า SMEs ในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น 1% ของพื้นที่ขาย ก็จะจูงใจให้ Modern Trade ต้องหาสินค้า SMEs ใหม่ๆ มาทดลองวางขาย โดยไม่ตั้งค่าแรกเข้าไว้สูงเกินจนไม่มีสินค้า SMEs มาวางขายได้ และทำให้เกิดการแข่งขันจากสินค้าใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคได้เลือกลองซื้อได้ง่ายขึ้นด้วย

3. เติมทุน
SMEs ต้องการโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ทั้งสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและเงินทุนขยายกิจการ โดยไม่ติดกับดักของหนี้นอกระบบ

  • เพิ่มงบอุดหนุนให้ บสย. ค้ำประกันความเสี่ยงให้ SMEs 90,000 ล้านบาทต่อปี สถาบันการเงินจะกล้าปล่อยกู้ให้ SMEs รายย่อย มากขึ้นถ้า มี บสย. มาช่วยค้ำประกันความเสี่ยงให้ SMEs เพราะถ้า SMEs เป็นหนี้เสีย บสย.จะช่วยชดเชยให้กับสถาบันการเงิน ดังนั้นถ้าภาครัฐจัดงบอุดหนุนให้ บสย. มากขึ้น ย่อมหมายถึง บสย.จะสามารถค้ำประกันความเสี่ยงให้ SMEs ได้สูงขึ้น และหมายถึง โอกาสที่ SMEs จะได้รับการอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงินมากขึ้นด้วย เช่น วงเงิน 1 แสนบาท 300,000 รายต่อปี, วงเงิน 1 ล้านบาท 30,000 รายต่อปี, วงเงิน 10 ล้านบาท 3,000 รายต่อปี ซึ่งย่อมหมายถึง SMEs ทุกรายจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน ในทุกช่วงของการเติบโตของกิจการ และต้องขยายให้ บสย.ค้ำประกันความเสี่ยงให้มากกว่าแค่ธนาคาร แต่รวมถึงผู้ประกอบการสินเชื่อ หรือ Non-Bank รายอื่นๆ ทั้งหมดด้วย เพื่อเป็นการแข่งขันและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs
  • ปลดล็อค FinTech เพิ่มการแข่งขันธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมการเงินโดยเฉพาะธนาคารเป็นอุตสาหกรรม “ผูกขาด” เพราะไม่เพิ่มใบอนุญาตให้ผู้เล่นรายใหม่มาหลายสิบปี และ FinTech ไม่ว่าจะเป็น Virtual Bank (ธนาคารที่ไม่ต้องมีสาขา) สินเชื่อดิจิทัล Crowdfunding หรือ Peer-to-peer Lending ทั้งหมดยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายจำนวนมากที่ปิดกั้นไม่ให้ FinTech ได้มีโอกาสเข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าภาครัฐปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายเพื่อเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจการเงิน ย่อมหมายถึงการแข่งขันของบริการและการเพิ่มขึ้นของโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs ด้วย รวมถึงมาตรการสนับสนุนอื่นๆ เช่น รายการ SMEs Crowdfunding รายสัปดาห์ ที่ให้โอกาส SMEs ได้มาระดมทุนหรือกู้ยืมจากประชาชนทั่วไปที่ต้องการสนับสนุนในกิจการของ SMEs โดยที่มี บสย. ช่วยค้ำประกันความเสี่ยงให้ได้ด้วย หรือรายการ Startup Pitching ประจำเดือน ที่เปิดโอกาสให้ Startup เข้าถึง VC, Angel Investor ได้มากขึ้น

4. ลดจ่าย
SMEs ต้องการให้ภาครัฐช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งภาระค่าเช่าร้าน ค่าแรง และภาษีนิติบุคคลที่ควรเปลี่ยนเป็นขั้นบันไดตามอัตราก้าวหน้า และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ SMEs มากขึ้น

  • คนละครึ่งค่าเช่าร้าน สูงสุด 1,000 บาท/เดือน ค่าเช่าร้าน/แผงขาย เป็นต้นทุนสำคัญของ SMEs ถ้าภาครัฐช่วยลดภาระค่าเช่าร้านของ SMEs ลงได้ ก็จะทำให้ SMEs มีต้นทุนลดลงและแข่งขันได้ดีขึ้น
  • ค่าแรง SMEs หักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ถ้าภาครัฐต้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างจากสภาวะเงินเฟ้อ ก็ควรที่จะให้ SMEs สามารถนำค่าแรงมาหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 1.5 เท่า เพื่อแบ่งเบาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงสำหรับ SMEs และเป็นการจูงใจให้นายจ้างนำลูกจ้างเข้าระบบประกันสังคมเพื่อสิทธิของลูกจ้างอย่างถูกต้องต่อไปด้วย
  • เปลี่ยน VAT เป็น Tech สูงสุด 10,000 บาท ถ้า SMEs ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายไปกลับมาเป็น Tech ที่นำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ SMEs เช่น ระบบ Software ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลของกิจการต่อได้ อย่างเช่น POS/ ERP SMEs ก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจได้มากขึ้น และเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับภาคธุรกิจต่อไปด้วย 
  • ลดภาษีนิติบุคคลสำหรับ SMEs ปัจจุบันช่วงภาษีของ SMEs ที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีนิติบุคคลนั้นน้อยเกินไปที่จะทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันกับทุนใหญ่ได้ ควรจะต้องปรับช่วงภาษีนิติบุคคลให้เป็นอัตราก้าวหน้ามากขึ้น และเพิ่มเพื่อจูงใจให้ SMEs หันมาจดนิติบุคคลที่ตรวจสอบได้ง่ายกว่ามากขึ้นด้วย


5. รวมกลุ่ม
SMEs ต้องการกลไกในการรวมกลุ่มเพื่อสะท้อนความคิดเห็นหรือเสนอแนะนโยบายกับหน่วยงานภาครัฐได้เหมือนกับที่กลุ่มทุนใหญ่มีกลไกการรวมกลุ่มอย่าง สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย จึงควรเพิ่ม สภา SMEs และ สมาคม SMEs ทุกจังหวัด ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกในการเสนอแนะนโยบายและสามารถถูกเสนอเป็นกรรมการที่ภาครัฐต้องการความเห็นจากเอกชน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้ยินเสียงและข้อเสนอของ SMEs มากขึ้น ซึ่งนิยามของ SMEs จะต้องกำหนดให้สามารถป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนแตกบริษัทออกมาเป็นบริษัทย่อยๆ เพื่อมารับสิทธิประโยชน์ของ SMEs ได้



ทั้งหมดนี้ คือข้อเสนอนโยบายเศรษฐกิจ SMEs ที่พรรคก้าวไกลต้องการนำเสนอ โดยมีเป้าหมายคือเพิ่มสัดส่วน SMEs ต่อ GDP ให้ถึงเป้าหมาย 50% ได้ภายใน 10 ปี ซึ่งเป็นระดับเดียวกับประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่ SMEs เป็นกลไกหลักในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และแข่งขันกับตลาดโลกได้มากขึ้น 

นโยบายที่เกี่ยวกับ  SME พรรคก้าวไกล

นโยบาย SME พรรคเพื่อไทย 


ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผอ.ศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย นำเสนอว่า ต้นไม้พิษ  3 ต้นที่ทำให้เอสเอ็มอีไทยเดินหน้าไม่ได้ ได้แก่ ต้นเงิน ต้นทุน ต้นตอ  เรื่องเล็กที่สุด คือ ต้นเงิน ปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เราจะคุ้นเคยกับการใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่เป็นเพียงปลายทาง ในความเป็นจริง เอสเอ็มอี เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง ด้านธนาคาร ก็ไม่ต้องการให้สินเชื่อกับกลุ่มที่มีความเสี่ยง สิ่งที่ขาดไปคือกลไกที่จะทำให้สองส่วนมาเจอกันตรงกลาง และกลไกตัวนี้มีชื่อว่า การค้ำประกันสินเชื่อ สิ่งนี้คือกลไกที่ขาดไป ถึงแม้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะดำเนินการอยู่

แต่ยังมีการชวนให้ตั้งคำถามในเรื่องประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อไทยจะเข้าไปยกเครื่องประสิทธิภาพของ บสย. ในการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้เกิดสภาพคล่องของเอสเอ็มอี ส่วนต้นทุน เน้นที่ต้นทุนไฟฟ้า เราแบ่งเป็น ภาคครัวเรือน กับ ธุรกิจ ซึ่งครัวเรือนจ่ายถูกกว่า

แนวทางแก้ไข 1. รื้อสัดส่วนการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติ 2. รื้อกำลังการผลิตส่วนเกิน 3. รื้อโครงสร้างราคาพลังงานและการคิดราคา 4. เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน เรื่องต้นตอ เพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการพูดขาด แต่จะไม่ทุบทุนใหญ่ให้ตาย วิธีแก้ สร้างเวทีคู่ขนาดให้ทั้ง 2 กลุ่ม ด้วยกฎหมายที่แตกต่างกัน สิทธิประโยชน์และพื้นที่ที่แตกต่างกัน จะทำให้เอสเอ็มอีและรายใหญ่เดินไปด้วยกันได้ 

นโยบายสร้างประเทศด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลผ่านเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone)

เขตเศรษฐกิจพิเศษและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนที่รัฐบาลปัจจุบันได้ทำมา เป็นแค่คำพูดการตลาดที่จับต้องไม่ได้ และปัญหาหลักของประเทศไม่ได้ถูกแก้ไข การแก้กฎหมายช้าและทำไม่ได้จริง แต่พรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนทั้งหมดให้เป็น “โอกาสด้วยกุญแจ 3 ดอก ด้วยการสร้างเขตธุรกิจใหม่” เพื่อ “ดึงเงินนอก ปลุกเงินใน เปลี่ยนเงินที่หลับใหล เป็นเงินที่สร้างเงิน”

สร้างเขตธุรกิจใหม่ 4 แห่งเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ ด้วยความพร้อมทางด้านมหาวิทยาลัย สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมเพื่อขับเคลื่อน Startups และ SMEs สู่การสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ประชาชน ด้วยกุญแจ 3 ดอก ดังนี้

กุญแจดอกที่ 1 “กฎหมายธุรกิจชุดใหม่” เพื่อเป็นการปลดล็อกปัญหาการทำธุรกิจของ Startups และ SMEs ในทุกมิติรวมถึงดึงเงินนักลงทุนจากต่างชาติ เข้าแก้ไขปัญหาด้านใบอนุญาตต่างๆ ปัญหาแรงงาน การนำเข้าส่งออก และการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ 
กุญแจดอกที่ 2 “สิทธิประโยชน์ใหม่” ให้สิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีนำเข้า จะไม่แพ้ที่ใดในโลก
กุญแจดอกที่ 3 “ระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่” โดยการสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ระบบการศึกษาและการผลิตคนทำงานใหม่ ระบบธนาคารใหม่ เพื่อผลักดันให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนได้

นโยบายด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย 
https://ptp.or.th/%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%a2%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2/%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%a2%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a8%e0%b8%a3%e0%b8%a9%e0%b8%90%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%88


นโยบาย SME พรรคประชาธิปัตย์

“SME ต้องมีแต้มต่อ 3 แสนล้าน” อธิบายว่า “SME” ถือเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ครอบคลุมหลากหลายธุรกิจ เช่น ภาคเกษตรกรรมภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น จากข้อมูลในปี 2565 พบว่า มีจำนวนผู้ประกอบการ SME ประมาณ 3.2 ล้านรายก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 12.6 ล้านคน โดยมีมูลค่าส่งออกกว่า 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของยอดการส่งออกรวมตลอดปี

นโยบาย “SME ต้องมีแต้มต่อ 3 แสนล้าน” จึงต้องการยกระดับขีดความสามารถของ SME ไทยให้สามารถแข่งขันทั้งตลาดภายใน และต่างประเทศ โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ตลอดจน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทั้งนี้ จะดำเนินมาตรการเพื่อเป็นแต้มต่อให้กับ SME 3 ประการ คือ

  • แต้มต่อที่ 1 ด้านการผลิต สนับสนุนให้ SME มีการบริหารธุรกิจที่ทันสมัย บนพื้นฐานของนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการดำเนินธุรกิจ สร้างการยอมรับของตลาด และมุ่งปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Transformation)
  • แต้มต่อที่ 2 ด้านการตลาด ผลักดัน SME ให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดทั้งภายใน และต่างประเทศ โดยให้สิทธิพิเศษด้านการตลาดในนิทรรศการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า และบริการของตนต่อตลาดภายนอกได้
  • แต้มต่อที่ 3 จัดตั้งกองทุน 3 แสนล้านบาท เพื่อให้กลุ่ม SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับการพัฒนา ต่อเติมขยายกิจการตลอดจนการเพิ่มทุนธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้กับประเทศต่อไปได้
นโยบายเศรษฐกิจพรรค ประชาธิปัตย์ https://www.democrat.or.th/policy-08/

นโยบาย SME พรรคพลังประชารัฐ

"เศรษฐกิจประชารัฐ สร้างความสามารถและโอกาสที่เท่าเทียม"
1. เกษตรประชารัฐ

วางแผนการผลิต ด้วยการตลาดนำการผลิต
ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ด้วยความรู้และเทคโนโลยี
เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูป
2. เศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้ กระจายโอกาสด้วยการท่องเที่ยวชุมชน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ สร้างเส้นทางเชื่อมโยงชุมชนสู่ชุมชน

3. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างสรรค์สินค้าและโอกาสทางธุรกิจด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ

4. สร้างเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว (BCG) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจสําคัญที่ประเทศไทย มีโอกาสแข่งขันในเวทีโลกและตอบโจทย์ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ครอบคลุมถึงการเกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ พลังงานและการท่องเที่ยว

5. SMEs, Startup และ Social Enterprise สามารถเริ่มธุรกิจได้รวดเนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ หัวหน้าทีมนโยบายการเมืองและเครือข่าย พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า “โครงสร้างของรัฐฯที่จะผลักนโยบายมันผิดเพี้ยน ถ้าพรรคพลังประชารัฐเข้าไปดูแล SME รอบนี้ จะเสนอให้แปรบทบาทของสสว. สิ่งที่สสว.ต้องทำทุกวันนี้คือเป็น Masterplan ทาง policy และจัดสรรงบประมาณที่จะเข้าไปขับเคลื่อนวงการ SME ทั้งหมด”

“คงปฎิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ SME จะเดินไปข้างหน้าได้ เราต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital transformation อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่อง Online Platform หรือ Technology แต่เป็นเรื่องของ Mindset นอกจากนี้เราต้องพัฒนาบุคลากรที่จะรองรับใน SME  20 ปีผ่านไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่เป็นดิจิทัลแล้ว แต่ SME ส่วนใหญ่ยังปรับตัวไม่ได้”

“และสุดท้ายเราพูดถึงเรื่องหนี้ การแก้หนี้และการเติมทุน SME นั้นไม่มีสิทธิทำได้ถ้าไม่เกิดกองทุน ระบบ Bank ไม่เคยประสบความสำเร็จ ส่วนการเติมทุนที่ดีที่สุดคือดูจาก cashflow และ ผลประกอบการ”

นโยบายเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ





นโยบาย SME พรรครวมไทยสร้างชาติ

เพิ่มรายได้ประเทศไทยปีละ 4 ล้านล้านบาท
• เศรษฐกิจโตปีละ 5%
• รายได้ต่อคนเพิ่มขึ้นปีละ 20,000 บาท
• สร้างงานเพิ่ม 6.25 แสนตำแหน่ง
นโยบายพร้อมทำ 10 นโยบาย

สำหรับนโยบายที่ “พร้อมทำ” 10 นโยบาย ประกอบด้วย

1.เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัส เพิ่มสิทธิเดือนละ 1,000 บาท/คน, กู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท/คน

2.ตั้งกองทุนฉุกเฉินประชาชน วงเงิน 30,000 ล้านบาท

3.คืนเงิน 30% เงินสะสมชราภาพผู้ประกันตน มาตรา 33

4.แก้หนี้แช่แข็งหนี้ปลดหนี้ด้วยงาน

5.รื้อกฎหมาย ที่รังแกประชาชนและที่เป็นอุปสรรคการทำกิน

6.ลดหย่อนภาษี ค่ารักษาพยาบาลตนเองและพ่อ แม่รวมสูงสุด 60,000 บาท

7.เบี้ยตอบแทน อปพร. คนละ 1,000 บาท/เดือน

8.ออมเงินพร้อมลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน LTF

9.ลดต้นทุน เกษตรกร ปุ๋ย น้ำมัน ไฟฟ้า ราคาถูก

10.ไม่เลิกเงินบำนาญ ให้ข้าราชการเลิกเงินสมทบ กบข. ได้ก่อน 30%

นโยบายเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ


นโยบาย SME พรรคไทยสร้างไทย

นโยบายยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 เป็นเวลา 3 ปี

เพื่อเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ SMEs ไทย ประกอบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา SMEs ไทย ต้องประสบกับปัญหาจากผลกระทบอย่างหนักของเศรษฐกิจถดถอยอันเป็นผลมาจากโควิด-19 จึงเห็นสมควรที่จะออกมาตรการมาช่วยเหลือ SMEs โดยให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล SMEs เป็นเวลา 3 ปี 

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายได้สุทธิไม่เกิน 3 แสนบาท/ต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี

ปัญหาของคนไทยในวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยทำงานจะคล้ายๆ กัน มีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลตนเองและครอบครัว ภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลพ่อแม่ ค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับหมดไปกับการกินอยู่หลับนอน และค่าเดินทาง ในขณะที่รายได้ยังคงเท่าเดิม สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในชีวิตก็คือหนี้สินพร้อมดอกเบี้ยที่ใช้คืนเท่าไหร่ก็ไม่หมด  

พรรคไทยสร้างไทย จึงมีนโยบายที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมายมาลดภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนที่อยู่ในวัยทำงานกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มคนไทยประมาณ 2 ล้านคน ที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวมีรายได้ประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนบุคคลต่างๆ ในตอนที่ยื่นแบบเสียภาษีแล้ว จะมีเงินได้สุทธิทั้งปีอยู่ประมาณ 260,000-300,000 บาท ซึ่งปัจจุบันสำหรับผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว แต่คนกลุ่มนี้ยังต้องเสียภาษีจากรายได้ในส่วนที่เกิน 150,000 บาท จะต้องนำเงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่เกิน 150,001 บาท ไปคำนวณตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นโยบายของพรรคก็คือการเสนอให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่อยู่ในช่วง 150,001 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ซึ่งเดิมผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 คิดเป็นเงินภาษีเท่ากับ 7,500 บาท ที่จะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี

นโยบายเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย https://thaisangthai.org/party-policies/


ทั้งหมดนี้รวบรวมจากสื่อต่างๆ ที่ค้นหาด้วย Keyword "นโยบาย sme พรรค......"
เพื่อรวมไว้อ่านหลังใครได้เป็นรัฐบาลแล้วจะทำหรือไม่ทำเราจะมาดูกัน



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

K-SME Analysis ธุรกิจชานมไข่มุก จากไต้หวัน