(Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship: STEER) ความร่วมมือระหว่างไทยและสิงคโปร์...ขยายลู่ทางการค้าและการลงทุน

STEER: ความร่วมมือระหว่างไทยและสิงคโปร์...ขยายลู่ทางการค้าและการลงทุน
(บทสรุปผู้บริหาร)
อ่านบทวิเคราะห์ฉับเต็มได้ที่ www.ksmecare.com


หากเปรียบเทียบระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ จะพบว่าระหว่างประเทศในอาเซียนด้วยกัน สิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงที่สุด แม้จะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กและมีจำนวนประชากรอยู่เพียง 5 ล้านคน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในหลายๆด้านของสิงคโปร์ ดังนั้น เมื่อไทยและสิงคโปร์มีการประชุมหารือร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของการค้าและการลงทุนก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้สินค้าไทยมีโอกาสทางธุรกิจในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น  จึงเป็นที่มาของการหารือกรอบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship: STEER) เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2540
การประชุมภายใต้กรอบ STEER เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2546 โดยสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ในครั้งนั้นฝ่ายไทยได้สนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชนของสิงคโปร์ในสาขาที่ไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ในขณะที่การประชุมครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 เป็นการหารือเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้น ทั้งนี้ นับจากการประชุมในครั้งที่ 2 กรอบความร่วมมือ STEER ก็ได้หยุดชะงักไป
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการประชุมระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายได้ว่างเว้นมานานกว่า 7 ปี ในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  ไทยและสิงคโปร์ได้ประชุมหารือร่วมกันในกรอบ STEER เป็นครั้งที่ 3 ณ ประเทศสิงคโปร์ ในการประชุมครั้งนี้นับเป็นการรื้อฟื้นความร่วมมือระหว่างไทยและสิงคโปร์โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระชับและขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงการจัดทำความร่วมมือในสาขาต่างๆ อาทิ ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยวเรือสำราญ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ สินค้าเกษตรและอาหารน่าจะเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากความร่วมมือ STEER อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากไทยและสิงคโปร์ต่างมีความถนัดที่จะช่วยส่งเสริมกัน และกัน กล่าวคือ ไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมไปถึงมีศักยภาพในการผลิตอาหารระดับโลก ในขณะที่สิงคโปร์ยังมีปริมาณการผลิตที่ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น สิงคโปร์จึงยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากต่างประเทศอยู่ อีกทั้ง สิงคโปร์เองก็มีความสามารถในการทำการตลาด และเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปสู่ประเทศอื่นๆทั่วโลก ดังนั้นสินค้าไทยที่ส่งไปยังสิงคโปร์จะไม่จำกัดเพียงแค่ตลาดผู้บริโภคชาวสิงคโปร์เท่านั้น
ในด้านการลงทุน นักลงทุนชาวสิงคโปร์ได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทย และธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งสองฝ่ายยังมีการกระชับความร่วมมือกันมากขึ้นในส่วนของการลงทุนด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญในเส้นทางระหว่างไทยและสิงคโปร์ รวมไปถึงด้านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการผลิตแอนิเมชั่น (Animation)
กล่าวได้ว่า ความร่วมมือระหว่างไทยและสิงคโปร์ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตจากกรอบความร่วมมือทวิภาคี STEER จะเป็นปัจจัยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศและกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย และสร้างโอกาสทางการตลาดในการเข้าสู่ตลาดโลก โดยสิงคโปร์จะเป็นเสมือน Gateway สู่ตลาดโลกสำหรับสินค้าไทย


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

K-SME Analysis ธุรกิจชานมไข่มุก จากไต้หวัน