รวมข่าว AEC สำหรับ SME ประจำวันที่ 15 -30 มิถุนายน ข่าวเด่น โอกาสส่งออกไทยใน AEC … คาดปี 2555 เติบโตโดดเด่นถึง 20%

ตลาด CLMV : โอกาสส่งออกไทยใน AEC … คาดปี 2555 เติบโตโดดเด่นถึง 20%

       ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรโซน ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปแล้วนั้น ภูมิภาคอาเซียนจึงเป็นความหวังสำคัญของธุรกิจไทยในการขยายฐานตลาดสินค้า ซึ่งไม่เพียงแต่เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในระยะสั้นจากการพึ่งพาตลาดหลักเดิมอย่างกลุ่มประเทศ G-3 อันประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่นเท่านั้น แต่การวางแผนการตลาดสำหรับภูมิภาคอาเซียนยังนับเป็นกลยุทธ์สำคัญที่หลายธุรกิจกำลังเตรียมการเพื่อรองรับโอกาสจากการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจ (Business Landscape) ของไทย ที่จะสลายเส้นแบ่งพรมแดนการตลาดในขอบเขตของประเทศ มาเป็นการมองตลาดในระดับภูมิภาคอาเซียนในฐานะตลาดร่วมตลาดเดียว (Single Market)
          จุดสนใจของธุรกิจไทย ณ เวลานี้กำลังพุ่งเป้าหมายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ ที่มีผืนแผ่นดินเชื่อมต่อกับไทย หรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา (Cambodia)
สปป.ลาว (Laos) พม่า (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam) ซึ่งจากข้อมูลตามฐานศุลกากรในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 นี้ การส่งออกของไทยไป CLMV มีการเติบโตโดดเด่นถึงร้อยละ 16.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การส่งออกโดยรวมหดตัวร้อยละ 1.5 และการส่งออกไปยังยูโรโซนหดตัวถึงร้อยละ 11.8 นอกจากนี้ การเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องของตลาด CLMV ยังหนุนให้สัดส่วนตลาด CLMV ขึ้นแซงยูโรโซนมาอยู่ที่ร้อยละ 7.8 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 (จากร้อยละ 6.8 ในปี 2554) ในขณะที่สัดส่วนของตลาดยูโรโซนลดต่ำลงมาเป็นร้อยละ 6.8 (จากร้อยละ 7.3 ในปี 2554) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าช่วยชดเชยผลกระทบจากความอ่อนแอลงของตลาดยูโรโซนไว้ได้ระดับหนึ่ง
          ตลาดประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มนี้มีความน่าสนใจเนื่องจากผู้บริโภคมีความนิยมต่อสินค้าไทย โดยมองว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และผู้บริโภคมีการรับรู้ต่อตราสินค้าของไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะใน 3 ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยโดยตรง หรือ CLM คือ กัมพูชา สปป.ลาว และพม่า 
          ความต้องการสินค้าไทยมีหลากหลาย ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ รวมไปจนถึงสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน เช่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่องจักรอุตสาหกรรม
          ถ้าพิจารณาเป็นรายประเทศ ตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555) คือเวียดนาม ตามมาด้วยกัมพูชา สปป.ลาว และพม่า แต่หากมองถึงอัตราการขยายตัว ตลาดที่เติบโตสูงที่สุดในปีนี้ได้แก่
          - กัมพูชา ขยายตัวร้อยละ 51.8 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและทองคำ (ที่ยังไม่ขึ้นรูป) ออกไปเป็นมูลค่าสูงมาก อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังกัมพูชาที่ไม่รวมน้ำมันสำเร็จรูปและทองคำก็ยังขยายตัวสูงร้อยละ 44.8
          - สปป.ลาว ขยายตัวร้อยละ 45.0 แม้ สปป.ลาว มีประชากรน้อยที่สุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน หรือเพียงประมาณ 6.4 ล้านคน แต่ สปป.ลาว มีความต้องการสินค้าจากไทยสูงเนื่องจากสินค้าหลายชนิดไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ
          - พม่า ขยายตัวร้อยละ 15.6 แม้ปัจจุบันยังมีมูลค่าการส่งออกน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น แต่การเปิดประเทศของพม่าเป็นก้าวย่างที่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับธุรกิจไทยที่สนใจขยายตลาดไปยังพม่า ซึ่งมีประชากรกว่า 60 ล้านคน ที่จะมีกำลังซื้อสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่เห็นการลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าไปยังพม่าอีกจำนวนมาก
          - สำหรับการส่งออกไปยังเวียดนามหดตัวลงร้อยละ 8.4 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากอุทกภัยในไทย ซึ่งอุตสาหกรรมในเวียดนามส่วนหนึ่งพึ่งพาวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากไทย อีกทั้งมีผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจเวียดนามเอง จากทั้งปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ และผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเวียดนามเป็นประเทศที่พึ่งพาตลาดส่งออกในยูโรโซนสูงประมาณร้อยละ 13 ของการส่งออกรวม
          ทั้งนี้ หากไม่นับรวมเวียดนาม ซึ่งการส่งออกหดตัวในช่วง 5 เดือนแรกนั้น การส่งออกไปยังเพื่อนบ้าน 3 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทย หรือ CLM ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 37.2

การส่งออกของไทยไปยัง CLMV รายประเทศ
          การส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกทางชายแดนเป็นหลัก ยกเว้นเวียดนามที่ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย ช่องทางการส่งออกหลักจึงเป็นการส่งออกทางทะเล สำหรับการส่งออกไปยังแต่ละประเทศ CLMV มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้

          พม่า
          การส่งออกของไทยไปยังพม่าส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านชายแดนเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 75 ของการส่งออกรวมจากไทยไปพม่า โดยช่องทางการส่งออกที่สำคัญคือ การส่งออกทางชายแดนจังหวัดตาก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 50 ของการส่งออกชายแดนไทย-พม่า  ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยไปพม่าที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ  ก็มีการขยายตัวโดดเด่น (ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 การส่งออกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของไทยไปพม่ามีอัตราขยายตัวถึงกว่า 3 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันในปีก่อน)  ทั้งนี้เป็นอานิสงส์จากการเร่งพัฒนาโครงสร้างและสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศพม่า โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ที่พม่าจะเป็นเจ้าภาพในปี 2556 ณ นครเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า ผนวกกับการเปิดประเทศและพัฒนาการทางการเมืองของพม่าที่มีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ ยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจเข้ามาลงทุนและเดินทางมาท่องเที่ยวในพม่ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนให้กิจกรรมเศรษฐกิจในพม่าคึกคัก และเป็นโอกาสขยายการส่งออกสินค้าไทยรองรับความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

          สปป.ลาว
          การส่งออกสินค้าของไทยไป สปป.ลาว เป็นการส่งออกผ่านชายแดนเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 98 ของการส่งออกไป สปป.ลาว โดยรวม  นับเป็นสัดส่วนสูงสุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะด่านชายแดนระหว่างไทยกับ สปป.ลาว มีความเชื่อมโยงและเข้าถึงพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของ สปป.ลาว โดยตรง ทำให้สินค้าไทยค่อนข้างเข้าถึงตลาดผู้บริโภคใน สปป.ลาว ได้ง่าย  สำหรับช่องทางการส่งออกสำคัญคือ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นช่องทางส่งออกสำคัญราวร้อยละ 57 ของการส่งออกทางชายแดนไทย-สปป.ลาว รองลงมาคือ มุกดาหาร อุบลราชธานี และเชียงราย โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งไป สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวแข็งแกร่งต่อเนื่อง และสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างที่เติบโตรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน สปป.ลาว  ทั้งนี้ แม้ประชากร สปป.ลาว ส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก แต่มีพฤติกรรมการบริโภคที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับคนไทยทำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักคุ้นเคยและได้รับการยอมรับในตลาด สปป.ลาว เป็นอย่างดี  ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้รับการถ่ายทอดพฤติกรรมการบริโภคของไทยผ่านสื่อโทรทัศน์ด้วยและการเดินทางผ่านชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว เป็นไปโดยสะดวกและคล่องตัว

          กัมพูชา
          การส่งออกของไทยไปกัมพูชามีสัดส่วนการส่งออกผ่านชายแดนราวร้อยละ 57 ของการส่งออกไปกัมพูชาโดยรวม อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกของไทยโดยรวมของไปกัมพูชามีทิศทางเติบโตดี โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 การส่งออกโดยรวมของไทยไปกัมพูชาขยายตัวถึงร้อยละ 51.8 (YoY) ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ทั้งนี้ การเชื่อมโยงช่องทางการส่งออกทางชายแดนที่สำคัญของไทยไปกัมพูชา คือ จังหวัดสระแก้ว ราวร้อยละ 60 ของการส่งออกทางชายแดนไทยไปกัมพูชา เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีชายแดนเป็นแนวยาวถึง 165 กิโลเมตร ช่วยให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดกัมพูชาผ่านจังหวัดบันเตียเมียนเจย ซึ่งเป็นจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญแห่งหนึ่งของกัมพูชา รองลงมาคือจังหวัดตราดและจันทบุรีที่มีพรมแดนติดกับจังหวัดพระตะบองและจังหวัดเกาะกงซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการขยายตัวของกัมพูชาเช่นกัน

          เวียดนาม
          การส่งออกของไทยไปเวียดนามค่อนข้างต่างจากการส่งออกไปประเทศ  CLM  ทั้งในแง่ช่องทางการส่งออกที่เป็นการส่งออกทางทะเลเป็นหลัก มีการส่งออกผ่านแดนค่อนข้างน้อย  รวมทั้งความแตกต่างในแง่กลุ่มสินค้าซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ค่อนข้างกระจุกตัวในกลุ่มสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางเพื่อใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม  ส่วนหนึ่งเนื่องจากเวียดนามค่อนข้างมีการพัฒนาการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและรองรับความต้องการในประเทศที่เข้มข้นกว่าประเทศ CLM  ทั้งนี้ ตลาดเวียดนามนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายการส่งออกสินค้าไทย  เนื่องจากชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้น  มีความเป็นเมืองที่กระจายตัวมากขึ้น  จึงนับเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยซึ่งค่อนข้างเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพและตราสินค้า อย่างไรก็ดี พฤติกรรมผู้บริโภคชาวเวียดนามค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละโซนพื้นที่ ผู้ส่งออกไทยจึงควรศึกษาและวางกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดอย่างเหมาะสม

          โดยสรุป ตลาด CLMV เป็นตลาดที่มีอนาคตค่อนข้างสดใสสำหรับธุรกิจไทยในการรุกเปิดตลาดและขยายช่องทางกระจายสินค้าให้กว้างขวางขึ้น โดยอาศัยปัจจัยสนับสนุนหลานด้าน อาทิ
          - ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกันทางบก ผ่านเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค (Economic Corridors) ที่ปัจจุบันมีความสะดวกยิ่งขึ้น และน่าจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปิดประตูการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต 
          - การเปิดเสรีมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดย CLMV มีกำหนดที่จะลดภาษีศุลกากรลงเป็น 0% ในปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเริ่มต้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยนอกจากการเปิดตลาดเสรีในด้านสินค้าแล้ว อาเซียน 10 ประเทศมีเป้าหมายที่จะลดมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีลง (Non-Tariff Barriers) รวมทั้งเปิดเสรีมากขึ้นในสาขาการบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะ และการเคลื่อนย้ายเงินทุน
          - รายได้ประชากรในประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวสูง ขณะที่การเติบโตของธุรกิจบริการในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การท่องเที่ยว จะทำให้ความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น

          จากโอกาสทางการตลาดดังกล่าว ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกไปยัง CLMV อาจขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20 ในปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 18,700 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 570,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ช่วยให้การส่งออกของไทยโดยรวมในปีนี้อาจขยายตัวในระดับประมาณร้อยละ 10 (กรอบคาดการณ์อยู่ในช่วงร้อยละ 7-15) ท่ามกลางความยืดเยื้อของวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน
          ทั้งนี้ ภายใต้กรอบประมาณการปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนน่าจะประสบภาวะถดถอย (โดยอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 0.8 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.2) อย่างไรก็ดี หากปัญหาในยูโรโซนลุกลามถึงขั้นนำไปสู่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเงินอย่างรุนแรง จนฉุดให้ภาพรวมการส่งออกของไทยอาจถลำลงสู่แดนติดลบได้นั้น (ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังมีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดขึ้น) สำหรับตลาดส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน พม่า สปป.ลาว และกัมพูชา (CLM) คาดว่าจะยังสามารถรักษาการขยายตัวเป็นบวกได้ แม้จะเป็นอัตราที่ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระบุไว้ข้างต้น เนื่องจากความต้องการสินค้าจากไทยของประเทศกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่นำไปใช้เพื่อการบริโภคในประเทศ และตอบสนองโครงการลงทุนระยะยาว


รวมข่าว AEC  สำหรับ SME ประจำวันที่ 15 -30 มิถุนายน


“เลคิเซ่ กรุ๊ป”ชู 4 ศักยภาพรับ AEC ปี 15
Source - เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ (Th)
Wednesday, June 27, 2012  09:01
9808 XTHAI XGEN V%NETNEWS P%WTSK

          นายสมนึก โอวุฒิธรรม ประธานกรรมการบริหาร เลคิเซ่กรุ๊ป และบริษัท เลคิเซ่ ไลท์ติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหลอดไฟและอุปกรณ์ประหยัดพลังงานไฟฟ้าเลคิเซ่ (LeKise) เปิดเผยว่า บริษัทติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับ..การรวมตัวของชาติอาเซียน 10 ประเทศ...หรือ Asean Economics Community : AEC เพื่อที่จะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันและจะมีรูปแบบคล้ายๆ กลุ่ม Euro Zone ซึ่งจะทำให้มีผลประโยชน์,
          อำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้การนำเข้า-ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี ในฐานะที่เลคิเซ่กรุ๊ปคือผู้ผลิตและจำหน่ายหลอดไฟและอุปกรณ์ประหยัดพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ที่ดำเนินธุรกิจต่อเนื่องมานานกว่า 44 ปี จึงมั่นใจว่าศักยภาพที่มีอยู่จะทำให้เลคิเซ่กรุ๊ปได้เปรียบด้านการค้าจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยความมั่นใจนี้เกิดจากศักยภาพ 4 ด้านคือศักยภาพด้านการผลิต เนื่องจากปัจจุบันเลคิเซ่กรุ๊ปคือผู้ผลิตระดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมมีระบบการผลิตและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด ผลิตสินค้าเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีสินค้ามากกว่า 1,500 รายการให้ลูกค้าเลือกช๊อป ศักยภาพด้านการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยทีมวิจัยพัฒนากว่า30 คน พร้อมการจัดสรรงบสนับสนุนด้านงานวิจัยต่อเนื่อง ศักยภาพด้านการตลาดและขาย และมุมคิดที่แตกต่างของทีมบริหารด้วยการเน้นประเด็นสำคัญที่ว่า...ทุกวิกฤตคือโอกาส ซึ่งจะส่งผลให้เรามีโอกาสทางการตลาดและการเติบโตทางธุรกิจเกิดขึ้นตลอดเวลา
          แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังเชื่อว่ายังมีผู้ประกอบการอีกเป็นจำนวนมากกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายหลัง AEC ที่มีผลจริงจังในวันที่ 1 มกราคม 2015 จึงเป็นการดีหากรัฐบาลจะประกาศถึง Roadmap และเสนอมาตรการเพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบในแต่ละธุรกิจอย่างชัดเจน
          “AEC หรือ Asean Economics Community คือการรวมตัวของชาติใน Asean 10 ประเทศ โดยมี ไทย, พม่า, ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, บรูไน เพื่อที่จะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน จะมีรูปแบบคล้ายๆ กลุ่ม Euro Zone สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือ ความเป็นตลาดใหญ่เพียงตลาดเดียว (Single Market) เมื่อตลาดใหญ่ขึ้น กำลังซื้อมากขึ้น นั่นหมายถึงโอกาสทางธุรกิจของเราก็จะมีเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างจริงจังคือเรามีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ เข้าใจและเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับ AEC แล้วหรือไม่
          อย่างเลคิเซ่กรุ๊ปเราศึกษาเรื่องนี้มาต่อเนื่อง เพื่อหาจุดที่เหมาะสมสำหรับเรามากที่สุดเละใช้เวลาที่มีอยู่เตรียมความพร้อมในทุกด้าน ในภาพรวมสามารถพูดได้ว่าไทยมีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมไลท์ติ้งมากที่สุด ไทยถูกเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์มาตลอด เพราะว่าเริ่มทำอุตสาหกรรมไลท์ติ้งมาพร้อม ๆ กัน แต่ปัจจุบันพวกนี้นำเข้ากันหมด อาจจะมีอินโดนีเซียที่ยังมีการผลิตอยู่บ้าง ดังนั้นเมื่อ AEC เกิดขึ้นไทยคือเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมนี้แน่นอน
          โดยปัจจุบันตลาดไลท์ติ้งทั้งโซนนี้ยังคงมีส่วนแบ่งมากที่สุดอยู่ที่หลอดไฟประเภทหลอดฟลูออเรสเซนต์ (ซึ่งมีหลอดตะเกียบและหลอดคอมแพคอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย) มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 93% ส่วนหลอดไส้แบบดั่งเดิมมีส่วนแบ่งตลาด 2% และหลอดแอลอีดีหรือหลอดที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ มีส่วนแบ่งประมาณ 5% โดยหลอดแอลอีดีจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นแต่จะมาตอบโจทย์ด้านการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกมากกว่า ส่วนการตอบโจทย์ด้านแสงสว่างคงต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงหนึ่ง ”นายสมนึกกล่าว
          สำหรับการตลาดและขายนั้น นายสมนึกกล่าวว่า เลคิเซ่กรุ๊ปส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศมานานหลายสิบปี เราได้ เปรียบเรื่องนี้เพราะจะรู้ถึงความเหมาะสมและพฤติกรรมของลูกค้าในแต่ละประเทศว่าตลาดไหนเป็นอย่างไร หากจะเข้าขยายตลาดในประเทศใดจะใช้วิธีการใดจึงจะเหมาะสมที่สุด นอกจากนี้เราเป็นผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับไลท์ติ้งที่ผลิตสินค้าได้ครบวงจรที่สุดมีสินค้ามากกว่า 1,500 รายการให้ลูกค้าเลือกช้อป โดยในจำนวนนี้มีกลุ่มสินค้าปกติ และกลุ่มสินค้าในระดับไฮเอนท์ด้วย เราจึงสามารถคัดเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศได้ โดยสินค้าที่มีสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้จากตลาดบนสุดถึงตลาดล่างสุด ขึ้นอยู่กับว่าเลคิเซ่กรุ๊ปจะเลือกจุดที่เหมาะสมอย่างไร โดยในกลุ่ม 10 ประเทศนี้ทุกตลาดมีความน่าสนใจทั้งสิ้น
          นายสมนึกกล่าวว่าการเตรียมความพร้อมของบุคลากรก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่ความพร้อมขององค์กรสำคัญกว่า เพราะว่าถ้าองค์กรไม่พร้อมโอกาศสมองไหลมีแน่นอน แรงงานที่มีฝีมือของคุณอาจจะถูกช็อปได้ง่าย สำหรับเลคิเซ่เตรียมความพร้อมขององค์กรแล้ว ในส่วนของบุคคลากรเราคิดถึงการเพิ่ม performance เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น องค์กรสามารถลดกำลังคนลงได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่สามารถทำให้เกิดรายได้สูงขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่หลายคนกำลังพยามแก้ปัญหาค่าแรง 300 บาท สำหรับเลคิเซ่เราไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้เรากำลังข้ามช็อทไปที่ค่าแรง 500 บาทแล้ว สำหรับผู้ประกอบการท่านอื่นๆ ผมคิดว่า...เราคงต้องยอมรับว่า AEC คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เหลือเวลาอีก 2 ปีครึ่ง ผู้ประกอบการที่จะอยู่รอดได้คือต้องปรับตัว เตรียมความพร้อมและมองหาโอกาสจากความเป็น Single Market นี้ให้ได้

          ที่มา: http://www.thanonline.com
 เชียงรายโมเดลต้นแบบแผนท่องเที่ยวรับเปิดเออีซี
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th)
Tuesday, June 26, 2012  04:24
27223 XTHAI XECON XCORP XSALES XCONSUME DAS V%PAPERL P%PTD

          เป็นเรื่องที่น่าตกใจเมื่อสำนักเลขาธิการอาเซียนเปิดเผยผลการสำรวจ การเตรียมความพร้อมของแต่ละประเทศที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างสมบูรณ์แบบในปี 2558 พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความรู้เกี่ยวกับเออีซีน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับ9 ประเทศสมาชิก ขณะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประเทศที่มีความสนใจเรียนรู้เรื่องเออีซีเป็นอันดับหนึ่ง
          ทั้งนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวเป็นเรื่องที่หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องเร่งวางแผนเตรียมความพร้อม เสริมศักยภาพให้คนไทยในแต่ละกลุ่ม เพราะเหลือเวลาอีก 926 วันประเทศสมาชิกเออีซีทั้ง 10 ประเทศ จะก้าวเข้าสู่สังคมเออีซีอย่างสมบูรณ์แบบ
          ขณะนี้ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะรับผิดชอบด้านการตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทย จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมท่องเที่ยวไทย ก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้ง 5 ภูมิภาค ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย.ที่จะถึงนี้ เริ่มจาก จ.เชียงรายสงขลา นครพนม ตราด และกาญจนบุรีตามลำดับ เพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีความรู้ความเข้าใจพร้อมปรับตัวรับการเปิดเออีซี
          โดย สุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการ ททท.กล่าวว่า การจัดงานประชุมที่ จ.เชียงรายเนื่องจากมีศักยภาพการเดินทางในหลายเส้นทาง เป็นประตูเชื่อมสู่อาเซียนโดยภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยได้เปรียบมากกว่าประเทศสมาชิกอื่นเนื่องจากมีจุดแข็งหลายด้านทั้งความสมบูรณ์ของธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐาน
          "ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องเร่งปรับโครงสร้างการตลาดให้สอดคล้องกับตลาดอาเซียน พฤติกรรมความชื่นชอบในแต่ละประเทศ พร้อมเร่งฝึกทักษะภาษาอังกฤษเพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับสถานที่ท่องเที่ยวและการบริการ" สุรพล กล่าวขณะที่ประเทศไทยมีจุดอ่อนเรื่องการขยายตัวของแหล่งท่องเที่ยวบางพื้นที่ไม่สามารถจัดระเบียบเรื่องสิ่งแวดล้อมการฝึกทักษะการสื่อสารและมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว โดยเรื่องเหล่านี้รัฐบาลต้องเร่งรวบรวม พร้อมวางแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
          ด้าน สรรเสริญ เงารังษี รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า ประชากรในอาเซียนมีจำนวน 580-600 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 10 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประมาณ3 หมื่นล้านบาทนับเป็นแหล่งเงินทุนที่มีศักยภาพอย่างมหาศาล
          ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังการเปิดเออีซี เชื่อว่าจะมีธุรกิจแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวรับการสถานการณ์ดังกล่าว
          นอกจากนี้ สัดส่วนการตลาดของคนไทยจะถูกแย่งชิง โดยภาครัฐบาลต้องเตรียม 3 แนวทาง เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้แก่1.รัฐสนับสนุนงบประมาณให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หรือการออกไปลงทุนในประเทศกลุ่มเออีซีได้ 2.รัฐบาลควรหาตลาด รวมถึงชี้เป้าหมายและทิศทางการดำเนินงาน แนวทางส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจ
          3.การเคลื่อนย้ายของแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติ ในส่วนของภาคจังหวัด ในแต่ละพื้นที่ ควรศึกษาแผนการ การวางยุทธศาสตร์การทำงานระดับจังหวัดรองรับเออีซีอย่าง จ.เชียงราย ควรทำเชียงราย ทัวริซึมฟอร์ เออีซี เพื่อใช้เป็นต้นแบบการทำงานด้านการท่องเที่ยว
          "ทุกจังหวัดควรวางแผนรองรับการเปิดเออีซีด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้รู้ว่าจังหวัดของตัวเองมีของดีของเด่นอะไรบ้าง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการราว 6 เดือนก่อนมาจัดกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ในแต่ละภูมิภาคเพื่อเลือกสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน มานำเสนอพร้อมกัน" สรรเสริญ กล่าวอย่างไรก็ตาม การทำแผนยุทธศาสตร์อย่างเชียงรายโมเดล จะทำให้จังหวัดรู้ถึงสินค้าทางการท่องเที่ยว ว่าสินค้าประเภทไหนที่ต้องการส่งเสริม เช่น จิ๋วแต่แจ๋วเป็นต้น ขณะที่ ททท.ได้วางแผนยุทธศาสตร์การตลาดของ ททท.เพื่อเข้าสู่เออีซีด้วย
          ธานินทร์ สุภาแสน ผวจ.เชียงราย กล่าวว่า จ.เชียงราย มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูง ซึ่งมองว่าในอนาคตเมื่อเปิดเออีซีจ.เชียงราย จะเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ด้านการท่องเที่ยวภาคเหนือ แทน จ.เชียงใหม่ พร้อมเป็นประตูออกสู่อาเซียน
          ทั้งนี้ จะมีนักท่องเที่ยวจากยูนนาน คุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางเข้ามาจำนวนมาก โดยตั้งเป้าปี 2558 จ.เชียงราย จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 4 ล้านคน รายได้ทางการท่องเที่ยว1 แสนล้านบาท เฉลี่ยวันพัก 5 วัน จากปัจจุบัน 2 ล้านคน รายได้ 5 หมื่นล้านบาทเฉลี่ยวันพัก 3 วัน
          การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการแต่งตัวรับเออีซี โดย ททท.และเอกชนได้หวังว่า ความหวังที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ รัฐบาลจำเป็นต้องให้การส่งเสริมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป้าหมายรายได้ 2 ล้านล้านบาท จะไม่เป็นเพียงเป้าหมายแบบลมๆ แล้งๆ เท่านั้น m--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
            
คอลัมน์: รับมือ AEC: อสังหาริมทรัพย์ไทย'โกอินเตอร์' ดีกว่า
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th)
Monday, June 25, 2012  02:23
33476 XTHAI XECON XCORP XINSURE XBANK XFINMKT DAS V%PAPERL P%PTD

          ...โสภณ พรโชคชัย
          ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
          ผมเชื่อว่าอสังหาริมทรัพย์ไทยสามารถGo Inter ได้สบายๆ โดยเฉพาะในอาเซียน และมีโอกาสดีๆ สำหรับประเทศไทยอีกด้วย
          ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (area.co.th) ที่ผมบริหารอยู่นี้ ได้ไปสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงจาการ์ตา กรุงพนมเปญ กรุงมะนิลา และนครโฮจิมินห์ มาตั้งแต่ปี 2549 และต่อเนื่องมาเป็นระยะๆผมเชื่อว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านานาชาติ
          มาเลเซีย อาจเป็นประเทศที่เจริญกว่าเรา โดยเฉพาะด้านการเงินผมเคยได้รับเชิญจากสมาคมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มาเลเซียไปบรรยาย และเดี๋ยวนี้ยังมีโอกาสไปเป็นระยะๆ แม้ว่ามาเลเซียจะมีความก้าวหน้ากว่าไทยทางเศรษฐกิจ แต่ใช่ว่าในแง่อสังหาริมทรัพย์จะเด่นกว่า การออกแบบ การก่อสร้างของไทยไม่น้อยหน้ามาเลเซียแน่นอน
          ประเด็นความอ่อนไหวทางการเมืองที่อาจกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินในระยะสั้นก็คือ การประท้วงรัฐบาลที่ต่อไปจะมีถี่มากขึ้นคล้ายกรณีเสื้อเหลืองในยุคหนึ่งของไทย กรณีนี้แสดงถึงความอ่อนแอทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งอาจสร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนจากสิงคโปร์ ตะวันออกกลาง และจีน ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของมาเลเซีย
          ส่วนสิงคโปร์ แม้จะมีการพัฒนาอย่างยิ่งยวดด้านอสังหาริมทรัพย์แต่ก็มีประสบการณ์เฉพาะในเกาะเล็กๆ และอาจเลยไปเกาะอื่นเช่นเกาะบาหลี เกาะบาตัม และอื่นๆบ้าง แต่ขาดประสบการณ์พัฒนาแนวราบอย่างขนานใหญ่เช่นไทย
          อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์มีประเด็นที่ต่างจากไทยก็คือ สิงคโปร์กำลังจำกัดการเติบโตของพลเมืองต่างชาติในประเทศดังกล่าว เพราะการไหลบ่าของประชากรต่างชาติ ทำให้สาธารณูปโภคต่างๆ ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์แสดงความไม่พอใจรัฐบาลเป็นระยะๆ ดังนั้นเมื่อปลายปี2554 รัฐบาลจึงมีมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมโอนซื้ออสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติสูงถึง 10% ของมูลค่า
          ประเทศที่พุ่งแรงมากก็คือ อินโดนีเซียกำลังเติบโตอย่างขนานใหญ่ปรากฏว่าอัตราการเติบโตของอุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงตลาดที่คึกคักมากเป็นพิเศษ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์สได้ไปสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงจาการ์ตามาตั้งแต่ปี 2550 พบว่าเศรษฐกิจและการเมืองของอินโดนีเซียมีความมั่นคงมาก ทำให้ความสามารถในการซื้อของประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
          อย่างไรก็ตาม สินค้าที่กำลังได้รับความนิยมในกรุงจาการ์ตาประกอบด้วยห้องชุดใจกลางเมือง ซึ่งทำให้การเดินทางง่ายขึ้น เนื่องจากกรุงจาการ์ตาไม่มีระบบขนส่งมวลชนแบบรถไฟฟ้า มีเพียง "บีอาร์ที" หรือรถประจำทางพิเศษ เช่นประเทศไทยเท่านั้น สินค้าอีกประเภทหนึ่งก็คือโครงการบ้านจัดสรรสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงที่มีความปลอดภัยดีและมีการจัดสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งแต่เดิมมีน้อยมากในชานกรุงจาการ์ตา
          อาจกล่าวได้ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงมะนิลากำลังเบ่งบานใหญ่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียคาดว่าในปี2554-2558 จะมีห้องชุดเกิดใหม่อีก 2.6 หมื่นหน่วยและจะมีพื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้นอีก 4.7 แสนตารางเมตร ในช่วงปี 2555-2557 ดังนั้นจึงส่งสัญญาณเตือนว่าอาจเกิดการล้นเกินของอุปทานในอนาคต อย่างไรก็ตามตลาดอสังหาริมทรัพย์มะนิลายังมีขนาดเล็กกว่าไทย
          การที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในฟิลิปปินส์เติบโต ก็เพราะผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในสามประเทศที่เติบโตมากที่สุดในเอเชียตะวันออก ซึ่งยังประกอบด้วยจีนและอินโดนีเซีย จึงทำให้เกิดกำลังซื้อสูงกว่าแต่ก่อน และกลุ่มที่อยู่อาศัยที่ได้รับความนิยมก็เช่นเดียวกับกรุงจาการ์ตาคือ ห้องชุดใจกลางเมืองและบ้านจัดสรรคุณภาพ
          สำหรับในเวียดนาม อสังหาริมทรัพย์กำลังดิ่งเหว ซึ่งล้อไปตามภาวะเศรษฐกิจของเวียดนาม ซึ่งแตกต่างไปจากเมื่อ5 ปีก่อนที่ผมไปเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังเวียดนาม เมื่อปลายปี2554 ผมถึงกับต้องไปบรรยายเกี่ยวกับการกู้วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ โดยปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยในช่วงวิกฤตก็คือ ได้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ Non-Performing Loans (NPL) โดยสถาบันการเงินบางแห่งมีหนี้เช่นนี้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
          นอกจากนี้ กำไรของสถาบันการเงินต่างๆ ก็ลดลงอย่างชัดเจน แม้ฐานะทางการเงินจะยังไม่ง่อนแง่น แต่ก็แสดงถึงความเพลี่ยงพล้ำของสถาบันการเงินต่างๆ ที่อำนวยสินเชื่อเกินไปในช่วงที่ผ่านมาและส่งผลให้ในปัจจุบันค่าเงินด่องตกต่ำลงมาเหลือเพียงประมาณ 2.1 หมื่นด่องต่อเงินหนึ่งเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยมีช่องทางดีๆ เข้าเสียบในแง่การก่อสร้างแบบกึ่งสำเร็จรูปสำหรับอาคารแนวราบที่จะเติบโตในอนาคตของนครโฮจิมินห์ ซิตี แทนการสร้างตึกสูงเป็นหลักเช่นแต่ก่อน
          ประเทศไทยเองมีเมืองภูมิภาคจำนวนน้อยที่สามารถพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างจริงจัง เพราะนครใหญ่อันดับหนึ่งก็คือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีประชากร 10 ล้านคน แต่ขณะที่นครอันดับที่สองไม่ว่าจะเป็นพัทยา เชียงใหม่ หาดใหญ่ มีประชากรราว 5 แสนคน (รวมประชากรแฝงแล้ว) ทำให้มีขนาดต่างกันถึง 20 เท่า ในขณะที่มีนครที่มีประชากรเกินล้านนับสิบเมืองในอินโดนีเซียและเกือบสิบเมืองในฟิลิปปินส์
          ถ้านักพัฒนาที่ดินไทยมีโอกาสไปปักหลักในประเทศทั้งสองได้ คงหากินได้อีกนานจนอาจลืมไทย! m

          หมายเหตุ :พบกับคอลัมน์รับมือ AEC ทุกๆ วันจันทร์ โดยจันทร์แรกของเดือนพบกับ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) จันทร์ที่สองและที่สามของเดือนพบกับ ดร.เกษมสันต์ วีระกุล นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจากธรรมศาสตร์จันทร์สุดท้ายของเดือนพบกับ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
           
กรีนสปอตอาศัยช่องAECบุกอาเซียน ส่งไวตามิ้ลค์-วีซอยเจาะตลาด เล็งตั้งโรงงานผลิตสินค้าที่พม่า
Source - เว็บไซต์แนวหน้า (Th)
Thursday, June 28, 2012  10:00
8031 XTHAI XECON V%NETNEWS P%WNN

          นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนสปอต จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายนมถั่วเหลือง “ไวตามิ้ลค์” เปิดเผยว่า บริษัทมีความพร้อมขยายตลาดเครื่องดื่มนมถั่วเหลืองไปในตลาดอาเซียนอย่างเต็มที่ ทั้งใช้แบรนด์ “ไวตามิ้ลค์”และ “วีซอย” เพราะมั่นใจกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ที่มีโอกาสส่งออกในอาเซียนได้เพิ่มขึ้น ตั้งเป้าส่งออกไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นปีละ 5-10%และส่งออกสินค้าไปใน 50 ประเทศทั่วโลก โดยปัจจุบันส่งออกไปต่างประเทศในสัดส่วน 20%และอีก 80%ทำตลาดในไทย
          ทั้งนี้การที่บริษัทมีแนวคิดส่งนมถั่วเหลืองเข้าไปทำตลาดในอาเซียน ก็เพื่อรับการเปิดเออีซี เพราะเล็งเห็นศักยภาพที่เป็นตลาดใหญ่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน แม้อินโดนีเซียที่มีประชากรถึง 250 ล้านคน จะนิยมดื่มช็อกโกแลตมากกว่านมถั่วเหลืองขณะที่ฟิลิปปินส์มีประชากร 100 ล้านคน ก็ไม่นิยมดื่มนม เพราะราคาแพงถึง 20-30 บาท สูงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ที่มีราคา 10 กว่าบาท
          ส่วนการจะเข้าไปบุกตลาดกัมพูชาและเวียดนาม โดยไม่มีพันธมิตรจะเป็นเรื่องยาก เช่นเดียวกับการจะเข้าไปในสิงคโปร์ที่มีมาตรการภาษีที่เข้มแข็งทำให้การดำเนินธุรกิจมีข้อจำกัดหลายด้าน โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีน้อย
          อย่างไรก็ตามบริษัทได้มีการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างละเอียด จนทำให้ปัจจุบันสามารถบุกประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้นแล้ว ล่าสุดไวตามิ้ลค์เริ่มเข้าไปทำตลาดในพม่า ซึ่งระยะ (เฟส) ต่อไปจะเข้าไปลงทุนตั้งโรงงาน เพื่อแก้ปัญหาต้นทุน โดยเฉพาะค่าขนส่งที่สูงมาก เหมือนการเข้าไปจำหน่ายสินค้าในลาว แม้ไม่มีภาษี แต่ก็มีค่าขนส่งที่สูงมาก ซึ่งจะส่งผลต่อการตั้งราคาสินค้า
          นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า พร้อมกันนี้มีแผนเปิดตัวสินค้านวัตกรรมใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผู้บริโภค ล่าสุดได้ร่วมมือกับกลุ่มมิตรผล เพื่อใช้น้ำเชื่อมของมิตรผลมาเป็นส่วนประกอบผลิตนมถั่วเหลืองแทนน้ำตาลทราย เพื่อลดต้นทุนการผลิต ช่วยประหยัดพลังงานและเวลาในการผลิต รวมทั้งนำบรรจุภัณฑ์แบบกล่องที่มีโลโก้มิตรผลมาพิมพ์ที่ด้านหลังกล่อง ซึ่งจะช่วยสร้างแบรนด์มิตรผลและไวตามิ้ลค์ออกสู่ตลาดร่วมกันทั้งในไทยและอาเซียน
          สำหรับปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนั้น มีผลกระทบต่อบริษัทพอสมควร ทั้งต้นทุนด้านค่าแรงและถั่วเหลืองที่มีราคาสูงขึ้นเป็น 800-900 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จากเดิมมีราคา 500 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน แต่บริษัทไม่มีแผนปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ คงราคาขายไว้เท่าเดิมนาน 3 เดือน โดยปัจจุบันไวตามิ้ลค์มีราคา 10 บาทต่อกล่อง และ 12 บาท ในแบบขวด

          ที่มา: http://www.naewna.com  
คอลัมน์: Breakthrough Marketing: ตลาดเกิดใหม่สิ่งที่ธุรกิจต้องคิดคู่ขนานกับ AEC 2015
Source - โกลบอล บิสซิเนส (Th)
Wednesday, June 27, 2012  11:24
46428 XTHAI XECON XCORP DAS V%PAPERL P%GBB

          วันนี้จะเห็นธุรกิจในบ้านเรามีการตื่นตัวสูงมากขึ้นกับการรับรู้และสนใจต่อการรวมเป็นกลุ่มเศรษฐกิจเดียวของอาเซียนหรือ  AEC 2015 ผู้เขียนเห็นด้วยที่เรื่องของ  AEC 2015 เป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ธุรกิจต้องไม่ลืมประเด็นที่เกิดขึ้นของโลกธุรกิจและอุตสาหกรรมในปัจจุบันด้วยว่า มีการเติบโตและแข่งขันในทิศทางใด ซึ่งการโฟกัสเพียง  AEC 2015 อาจทำให้เราสูญเสียโอกาสไปกับประเทศคู่แข่งก็เป็นได้ โดยผู้เขียนมี 2 ประเด็นหลักให้พิจารณาดังนี้
          ประเด็นแรก รูปแบบของบริษัทระดับโลกในตลาดเกิดใหม่
          มีการวิจัยว่า บริษัทระดับโลกในตลาดเกิดใหม่มีประมาณ 200 บริษัทซึ่งมีรายได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
          ธุรกิจหรือ บริษัท 200  EM (Emerging Market) สามารถจัดเป็นกลุ่มได้ 27 อุตสาหกรรมและจับลงโมเดลศักยภาพ-โลกาภิวัตน์ มี 13 ตลาดที่อยู่ในเซ็กเม้นท์ (III) ซึ่งมีศักยภาพต่ำ และเป็นระดับต่ำของโลกาภิวัตน์ หมายความว่า ธุรกิจ EM กลุ่มนี้เป็นธุรกิจที่ต่ำกว่าเพื่อนในกลุ่มตลาดขั้นสูงหรือเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ มีเพียง 1 กลุ่มในเซ็กเม้นท์ (I) ที่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูง-เป็นระดับสูงของโลกาภิวัตน์ มี 6 กลุ่มที่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพต่ำ-เป็นระดับสูงของโลกาภิวัตน์ (II) และ มี 2 กลุ่มอยู่ในกลุ่มที่มีศักยภาพสูงและเป็นระดับต่ำของโลกาภิวัตน์ (IV)
          โดยทั้งหมดแล้ว ผลการวิจัยให้คำแนะนำว่า บริษัท EM ทั้งหมดทุกกลุ่มยังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามธุรกิจในเซ็กเม้นท์ที่สี่ มีความเป็นไปได้สูงในการก้าวกระโดดเข้าไปในเซ็กเม้นท์ที่หนึ่งถ้ามีการเร่งของระดับโลกาภิวัตน์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาระดับของการพัฒนาบริษัทอย่างมีพลวัต
          ประเด็นที่สอง รูปแบบของบริษัทระดับโลกใน EM และเส้นทางการพัฒนา
          ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า บริษัทระดับโลกใน EM ต้องศึกษาระดับการพัฒนาของบริษัทอย่างมีพลวัต
          ในควอแดรนท์ I (มีศักยภาพสูงและเป็นระดับสูงของโลกา- ภิวัตน์) บริษัท  EM ต้องเข้าเกาะกุมตลาดระดับโลก ซึ่งในปัจจุบันมีอุตสาหกรรมเดียวคือ โรงงานเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (Arc elor  Mittal) ซึ่งเราเรียกว่า "ผู้นำตลาดโลก"
          ในควอแดรนท์  II (มีศักยภาพต่ำและเป็นระดับสูงของโลกาภิวัตน์) บริษัทใน  EM เรียกว่า พันธมิตรต้นทุนต่ำ (Low-Cost Partners) ของบริษัทต่างชาติ สิ่งที่ธุรกิจในกลุ่มนี้ทำได้คือ ส่งเสริมตำแหน่งในตลาดโลกจากการสร้างจุดแข็งในมูลค่าเพิ่มในหน้าที่ใช้สอยให้สูงของผลิตภัณฑ์ หรือ บริการ
          ตัวอย่างของธุรกิจบริการสนับสนุนธุรกิจ เช่น Tata Consultancy
          ในควอแดรนท์ III (ต่ำทุกอย่าง) บริษัทระดับนำยังคงรักษาความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมไว้ได้ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า รถยนต์และยา บริษัท  EM ในกลุ่มนี้มีเป้าหมายอยู่ที่ผู้บริโภคในระดับล่างเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดในตลาดท้องถิ่นและตลาดโลก หากเป็นไปได้ควรก้าวกระโดดด้วยกลยุทธ์สปริงบอร์ดคือ การซึมซับโนว์-ฮาว์จากธุรกิจขั้นสูงเพื่อเร่งสู่โลกาภิวัตน์ เช่น  Shanghai Automotive
          กลุ่มสุดท้ายในควอแดรนท์ IV (มีศักยภาพสูงและเป็นระดับต่ำของโลกาภิวัตน์) เป็นธุรกิจ  EM ในท้องถิ่น มีตลาดโลกเล็กน้อยคือ ผู้ผลิตในตลาดโพ้นทะเล มุ่งที่ความต้องการในประเทศ ดังนั้นควรมีกลยุทธ์มุ่งไประดับโลกอย่างรวดเร็ว เช่น ธุรกิจก่อสร้าง (China  Railway  Construction Corporation) ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งอาจใช้กลยุทธ์ M&A (ซื้อและควบรวมกิจการ)
          นี่คือ 2 ประเด็นตัวอย่างที่ฝากให้ธุรกิจไทยได้คิดไปพร้อมๆ กับการก้าวสู่  AEC 2015 ครับ!


          --GLOBAL BUSINESS ประจำวันที่ 20 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม พ.ศ.2555-- 



จับตาก่อสร้าง-วัสดุฯปรับตัวรับAEC การตื่นตัวที่มาพร้อมกับวาระแห่งชาติ
Source - ASTV ผู้จัดการรายวัน (Th)
Monday, June 25, 2012  04:49
13487 XTHAI XECON XCORP XESTATE XCONSTR XMANUFAC DAS V%PAPERL P%ASMD

          ASTVผู้จัดการรายวัน - ภายหลังที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการปรับตัวของภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน (AEC) ให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของภาคเอกชน และรัฐบาลในการปรับตัวรับมือกับการเปิด AEC ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในปี 2558 ที่จะมาถึงนี้โดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีการปรับตัวในรอบด้านเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างองค์กร การเพิ่มมูลค่าสินค้า การลดต้นทุนการผลิต และการเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน ฯลฯ
          ล่าสุด ASTVผู้จัดการรายวันมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารบริษัทวัสดุก่อสร้างกลุ่มกระเบื้องปูพื้น บุผนัง"โสสุโก้" บริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) หรือ SCG พบว่าเป็นอีกบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านการลดต้นทุน และการปรับตัวรองรับการทำงานร่วมกันของบุคลากรในองค์กรที่จะเข้ามาร่วมงานกันภายหลังการเปิด AEC โดยนายกิตติชัย ไกรก่อกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008)จำกัด กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรับมือในด้านการเพิ่มคุณภาพตัวสินค้าและการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้านั้นบริษัทได้มีการปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้วทำให้สินค้าของบริษัทเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งในด้านรูปแบบ, ดีไซน์,คุณภาพ และราคาขาย
          ส่วนในด้านการแข่งขันของตลาดในประเทศและต่างประเทศนั้นเชื่อว่าการแข่งขันในด้านราคานั้นจะเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อสินค้าของบริษัท เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าแล้วผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียนให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพและดีไซน์มากกว่าราคา เนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตต่างๆ นั้นปัจจุบันหากเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ผลิตจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศไม่ทิ้งห่างกันมากนัก ดังนั้นความสำคัญในเรื่องของการคุมต้นทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก
          ทั้งนี้ เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นหลังปี 2558 บริษัทมีแผนจะใช้งบประมาณ 1,400 ล้านบาทในการลงทุนปรับปรุงคุณภาพเครื่องจักรและการผลิต เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านการใช้พลังงานให่ต่ำลง เนื่องจากแนวโน้มต้นทุนด้านพลังงานนั้นมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังมีแผนการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายการส่งออกของบริษัทภายหลังปี 2557 ด้วยโดยจะใช้งบประมาณ200-300 ล้านบาทในการขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า เพื่อให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) ต่อปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่ 48 ล้านตร.ม.
          นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องมีการปรับตัวรองรับ การเปิดAEC คือ การหลอมรวมวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกันของบุคลากรในองค์กรในอนาคต เนื่องจากจะมีการไหลเข้าออกและการทำงานร่วมกันของแรงงานฝีมือ และบุคลากรมากขึ้นและเพื่อเป็นการสร้างการเติบโตในตลาดต่างประเทศมากขึ้น บริษัทได้จับมือกับพันธมิตรทางการค้าโดยให้บริษัท สุริยาสยาม เคอร์รามิค ดูแลด้านการตลาดในประเทศอินโดนีเซียและบริษัท บาลิวาซา เป็นตัวแทนดูแลการขายในประเทศฟิลิปปินส์นอกจากนี้ในอนาคตยังมีแผนจะขยายตลาดด้วยการควบรวมบริษัทต่างชาติในการขยายตลาดด้วย
          นายสัญชัย เนื่องสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวเดอสมาร์ท จำกัด(มหาชน) หรือ BSM หนึ่งในผู้นำบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและตกแต่งภายในคุณภาพสูงแบบครบวงจร เปิดเผยว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า AEC เปิดเรามองว่าถ้าประเทศที่มีความแข็งแกร่งมีศักยภาพด้านไหนจะได้รับผลประโยชน์มาก เช่นเดียวกับในประเทศไทยเองที่เรามีความแข็งแกร่งในด้านวัสดุก่อสร้างเราก็จะได้เปรียบเนื่องจากเรามีโนว์ฮาว และโรงงานในการผลิต ซึ่งมันก็จะเป็นการตอบโจทย์ที่ดีได้ของบริษัทฯเรา เนื่องจากเรามีฐานการผลิตเอง
          โดยสินค้าที่จะนำไปยิปซัมจะเป็นคอมมูนิตีมอลล์โปรดักต์ที่เราจะส่งออกไปยังประเทศต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าในส่วนของผู้รับเหมาเราคงต้องใช้ในต่างประเทศในการติดตั้ง ขณะที่เฟสเชอร์เรามีดีไซน์ที่ดีและขนส่งง่าย ทั้งนี้ ในอนาคตกลยุทธ์ที่จะใช้กับ AEC เราจะรุกหาพาร์ตเนอร์ในแต่ละประเทศ ซึ่งขณะนี้มีติดต่อเข้ามาหลายรายแล้ว โดยพาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามาจะต้องได้รับการอบรมจากบริษัทเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับการติดตั้ง โดยเราจะเป็นฐานการผลิตในประเทศไทย
          ด้านนายสิทธิพร สุวรรณสุตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพีดีเฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือพีดีเฮ้าส์ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีการปรับตัวเองอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปิด AEC ที่จะถึงนี้ จากเดิมดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านโดย ปทุมดีไซน์ดีเวลลอปบริษัทเดียว แต่ปัจจุบันมีการแตกตัวออกเป็น 11 บริษัท ดำเนินกิจการ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจรับสร้างบ้าน 2. ธุรกิจบริหารสิทธิ์แฟรนไชส์ และ 3. ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
          โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง พร้อมมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบและบริหารงานทั้ง 11 บริษัท +20 แฟรนไชส์โดยมีเป้าหมายที่จะมุ่งดำเนินธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน แบ่งออกเป็น 5 สายงานหลัก ประกอบด้วย สายงานธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Business) สายงานการตลาด (Marketing) สายงานทรัพยากรและบุคคล(Human & Resource) สายงานออกแบบ และวิศวกรรม (Engineer & Design) และสายงานมาตรฐานแฟรนไชส์ (Franchise Standard Controller)
          นายพิศาล ธรรมวิเศษ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า อยากชี้ให้เห็นว่าการปรับตัวของผู้ประกอบการนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การพูดคุยหรือจัดเวทีสัมมนากันเท่านั้น หากแต่ผู้ประกอบการจะต้องมีการขับเคลื่อนจากแผนงานไปสู่การปฏิบัติจริงแล้วโดยเฉพาะบริษัทรับสร้างบ้านรายกลางและรายเล็ก เพราะหากยังไม่มีทิศทางการปรับตัวเองที่ชัดเจน เมื่อเปิดสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีเต็มรูปแบบจะเสียเปรียบรายใหญ่มาก หรืออาจไม่มีที่ยืนบนเวทีธุรกิจรับสร้างบ้านอีกต่อไป เพราะบนเวทีการแข่งขันใหม่ภายใต้กรอบเออีซี กติกาจะเอื้อเฉพาะรายใหญ่หรือรายที่เข้มแข็งกว่าเท่านั้น บริษัทรับสร้างบ้านรายกลางรายเล็ก จึงควรเร่งปรับตัวในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 2 ปี6 เดือนโดยเร็ว เพื่อสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่จะเกิดขึ้นได้ทัน--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

K-SME Analysis ธุรกิจชานมไข่มุก จากไต้หวัน