รวมข่าว AEC 14 - 18 May 2012

สมัครรับบทวิเคราะห์ธุรกิจดีๆอย่างนี้ได้ฟรีที่ KSME STARTUP http://goo.gl/EXFDb


FTA...ช่วยเกษตรกรรับมือ AEC
Source - เว็บไซต์ไทยรัฐ (Th)
Monday, April 30, 2012  05:15
6751 XTHAI XEDU V%NETNEWS P%WTR

          กองทุน FTA...เป็นองค์กรหนึ่งซึ่งภาครัฐได้ให้ สำรองเม็ดเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ให้นำไปพัฒนาโครงสร้างในภาคเกษตรกรรมให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ...
          คุณอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร (กองทุน FTA ภาคเกษตร) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า...ว่า
          ...ในปี 2558 ไทยเราจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทย ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า แรงงานและทุนได้อย่างเสรี...จึงตระหนักถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น
          โดยเฉพาะกับการแข่งขันทางการค้าที่จะทวีความรุนแรง ยิ่งในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันแล้ว แต่ละประเทศสมาชิกมีการผลิตสินค้าที่คล้ายคลึงกัน ส่งผลให้เกษตรกรมีทั้งผู้ได้รับประโยชน์และผู้เสียประโยชน์
          ฉะนั้น เกษตรกรที่เสียประโยชน์จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น...!!!
          อย่างไรก็ตาม...ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนฯ ในปี 2549 เป็นต้นมา ได้อนุมัติจัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันไปแล้ว 14 โครงการ 7 ชนิดสินค้า ได้แก่ ข้าว กาแฟ ชา ปาล์มน้ำมัน สุกร โคนม และโคเนื้อ คิดเป็นวงเงินประมาณ 544.80 ล้านบาท
          โดยเงินที่ได้รับจากกองทุนฯ ได้นำไปดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตการแปรรูปที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกร การปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น รวมถึงการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า
          ขณะนี้...อยู่ระหว่างการพิจารณาจะให้ความช่วยเหลืออีก 8 โครงการ เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้าโคเนื้อ 3 โครงการ สินค้าโคนม 1 โครงการ สินค้าผัก 1 โครงการ สินค้าพริกไทย 1 โครงการ สินค้าข้าว 1 โครงการ และสินค้าปลากะพงขาว 1 โครงการ...คิดเป็นวงเงินราวๆ 238.54 ล้านบาท
          ส่วน...สินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ก็ขอรับการสนับสนุนจากกองทุน FTA ได้เช่นกัน โดยจัดทำเป็นโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ...ส่งให้กองทุน FTA สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพิจารณา
          ...สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2579-9036 และ 0-2561-4726 หรือทาง WWW2.oae.go.th/FTA E-mail: fta.oae.go.th...เวลาราชการ.
          ดอกสะแบง

คอลัมน์: Review: สร้างประเทศไทยให้เป็น 'HUBของAEC'
Source - ฐานเศรษฐกิจ (Th)
Monday, April 30, 2012  10:47
49252 XTHAI XECON XCORP XESTATE XCONSTR XMANUFAC XINFRA DAS V%PAPERL P%TSK

          อีก 2 ปี AEC และ AFTA จะชัดเจนยิ่งขึ้น กลุ่ม 10 ประเทศในเซาธ์อีสต์เอเชียจะมีการรวมตัวกันชัดเจนAFTA จะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดFREE TRADE คือค้าขายข้ามชาติไม่ต้องเสียภาษีต่างชาติข้ามมาทำงานในประเทศเพื่อนบ้านได้ และเดินทางผ่านกันไม่ต้องขอวีซ่า10 ประเทศนั้นมีประเทศไทยอยู่ในโลเกชันที่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ดีเยี่ยมเป็นศูนย์กลางจากเหนือ จากจีนมาลงใต้จากตะวันตกตั้งแต่อินเดีย ปากีสถานพม่าผ่านไทยมาลงอ่าวตังเกี๋ยของเวียดนาม เชื่อม 2 ทะเลเข้าด้วยกันทางใต้แหลมมลายูด้ามขวานทองของเราก็สามารถจะสร้างLandBridge จากมหาสมุทรอินเดียมาลงอ่าวไทยที่ชุมพรหรือจากกระบี่ท่าเรือมาลงท่าเรือสงขลา และหรือLandBridge ที่3ก็อาจทำได้โดยมีท่าเรือกันตังมาสงขลาได้ถึง 3 ช่องทางของเซาเทิร์นซีพอร์ต(Southern sea-port)
          การที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหรือ HUB ของการติดต่อทางรถ ทางรถไฟ ง่ายนิดเดียวคือ"เชื่อม Network ระดับ Region ให้ชัดเจน"ยิ่งขึ้นขณะนี้ก็เริ่มชัดขึ้นบ้างเช่นจากมุกดาหารผ่านลาวสู่เวียดนาม อ่าวตังเกี๋ย และมีเอกชนสร้างท่าเรือที่ทวายของอิตัลไทยเข้ากาญจนบุรีหวังจะผ่านกรุงเทพฯไปแหลมฉบังทางเหนือจีนก็ต้องการที่จะเชื่อมจีนตอนใต้จากกวางสีและคุนหมิงลงมาใต้ ถ้าเป็นถนนก็จะใช้คุนหมิงเป็นจุดเชื่อมเข้าเชียงรายถ้าเป็นทางรถไฟก็จะเชื่อมจากกวางสีที่มีท่าเรือที่ใหญ่มากๆ ใหญ่กว่าแหลมฉบัง3 เท่าเชื่อมจีนตอนใต้ด้วยรถไฟผ่านเวียดนามลาว เข้าไทยผ่านมุกดาหารมาแหลมฉบังทางเรือก็หลังท่าเรือภาคใต้ของกวางสีส่งสินค้ามายังท่าเรือสงขลาออกสู่น่านน้ำอินเดีย ย่นระยะทางได้เป็น 1,000 ไมล์แม้กระทั่งสนามบินประจำภูมิภาคที่มีคู่แข่งก็มีสิงคโปร์กับสนามบินสุวรรณภูมิที่แย่งกันเป็นHUB ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไทยเราอยู่สูงกว่าสิงคโปร์เป็นสนามบินที่โลเกชันดีกว่าแต่รอบกรุงเทพฯมีสนามบินน้อยไปหน่อยเมืองสำคัญของโลกที่เรียกกันว่าเป็น"World City" ประชากร 10 ล้านคน ซึ่งกรุงเทพฯเป็น 1 ในอันดับ 22 ของโลก ลอนดอนมี 5 สนามบิน เยอรมนีที่มิวนิกมี 3 สนามบิน ฝรั่งเศสมี 3 สนามบิน ในจีนมีสนามบินทั้งประเทศร่วม 1,000 สนามบิน คนรุ่นใหม่และสินค้ารุ่นใหม่จะใช้สนามบินขนส่งสินค้าราคาแพงเราควรเพิ่มสนามบินนานาชาติอีกรอบกรุงเทพฯ สัก 4 แห่งสุวรรณภูมิ ดอนเมือง(อย่าทุบทิ้ง นักการเมืองสายตาสั้น วิศวกรที่เป็นที่ปรึกษาสายตาสั้น) จะยกเลิก
          ถ้าทำเช่นกันก็เสียดายจริงๆน่าจะมีสนามบินตะวันตกของกรุงเทพฯที่นครปฐมหรือสมุทรสาครที่เป็นเมืองศูนย์กลางอาหารทะเลทางเหนือก็สระบุรีอีกแห่งที่สนามบินสัตหีบก็ใกล้อีสเทิร์นซีพอร์ต(ที่น้ำท่วม อย่าไปทำ เช่น อยุธยา)ฟังแล้วประเทศไทยมีโอกาสเหลือหลายที่จะสร้างโครงสร้างให้เป็น Network ของLogistic เชื่อมคนและสินค้าของเซาธ์อีสต์เอเชียได้อย่างง่ายๆ แต่พวกเราก็ไม่ทำกัน หรือทำกันอย่างช้าๆ ไม่ค่อย
          จะทันกาลหรือแบ่งเค้กระหว่างนักการเมืองไม่ลงตัว
          ดูการพัฒนาประเทศไทยที่เด่นชัดก็จากสภาพัฒน์ แผนที่ดีที่สุดคือแผนที่ 1 ปี 2502-2507 ที่เราทำถนนเชื่อมทั่วประเทศโดยการแนะนำของที่ปรึกษาอเมริกันทำให้ระบบถนนของไทยพัฒนาขึ้นมาดีมากก็ต้องขอขอบคุณกรมทางหลวงของไทยทำให้ประเทศเรามีระบบถนนที่นำหน้าเซาธ์อีสต์เอเชียและดีกว่าทุกประเทศใกล้เคียง แต่หลังจากแผนพัฒนาแผนที่1 แล้วก็หยุดการพัฒนาด้านระบบสาธารณูปโภคหันไปพัฒนาด้านสังคมจนเอียงกระเท่เร่ โดยสภาพัฒน์คงลืมไปว่าถ้าสังคมจะดี ท้องต้องอิ่ม คือ Economic ต้องดีก่อนเศรษฐกิจจะดีระบบNetworkการติดต่อต้องดีก่อนแต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่พวกเรา และรัฐบาลจะมาช่วยกันหันมาสร้างNetwork การติดต่อเดินทางขนส่งคนสินค้าและข่าวสารโดยมีไทยเป็นศูนย์กลางสร้างถนน ทางด่วน รถไฟ สนามบินและทางเรือ แล้วทำอย่างจีน ปล่อยให้แต่ละท้องถิ่น จังหวัด เป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" แต่ละแห่ง ช่วยกันเร่งสร้างโครงสร้าง 5 ปีก็จะเป็นเช่นจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางตุ้งประเทศไทยก็จะเป็นHUB ที่แท้จริงพอเป็น HUB แล้วเศรษฐกิจก็จะเดินคล่องสังคมก็จะติดต่อกันง่ายเข้าคนจนก็จะมีงาน ยกระดับเป็นคนชั้นกลางได้ทั่วประเทศ
          นโยบายจะเร่งเป็น HUB แห่งเซาธ์อีสต์เอเชียอยู่แค่เอื้อมท่านนายกฯหญิงเราก็ดูว่าจะเห็นคล้อยเพราะเดินทางไปเยี่ยมทุก AEC แล้วเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาก็ไปจับมือกับจีน ดูจะเอาจริง เสียอย่างเดียวที่จะเป็นปัญหาก็คือนักการเมืองไทยที่เอาแต่จะทะเลาะกัน และจะเริ่มทะเลาะกันมิใช่แค่ข้ามพรรคแต่กำลังจะทะเลาะกันในพรรคเดียวกันอีกแล้ว และปัญหาที่ 2 คือ ข้าราชการไทยมองโลกในแง่ร้ายเห็นพวกจะทำอะไรใหม่ๆ ก็จะเริ่มด้วยปัญหาทำไม่ได้เพราะกฎหมาย เพราะไม่มีงบ ก็เลยอยู่เฉยๆ รอนักการเมืองมาสั่ง แล้วก็รอที่เรียกกันว่า "ตามน้ำ"ดูอดีตปลัดกระทรวงคมนาคมของเราอยู่ดีๆก็มีพ่อค้าเอาเงินมาฝากที่บ้าน ที่จะไปแบ่งให้นักการเมืองเอาอย่างงี้ดีไหมเอาแบ่งกันไปเลยทุกพรรค พรรคละ4-5 โครงการเรียกว่าแบ่งกันตามน้ำ พรรคใหญ่ก็ตามน้ำมากหน่อย ก็คงจะเลิกทะเลาะกันได้กระมังอย่าลืมสร้างHUB สร้างNetwork ทางถนนทางด่วน รถไฟ สนามบิน ท่าเรือให้เสร็จใน 4-5 ปีนี้ให้ได้
          พอเป็นHUB แล้วสังคมเศรษฐกิจก็จะมีโครงสร้างให้ความเจริญเกิดตามโครงข่ายอย่างง่ายดายอย่าทะเลาะกันอีกเลยสงสารประเทศไทยจริงๆ--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 2555--


เปิด AEC ภาคการเกษตรไทยได้หรือเสีย
Source - เว็บไซต์แนวหน้า (Th)
Wednesday, May 02, 2012  07:00
40761 XTHAI XECON XCORP XAGRI XGEN XENV V%NETNEWS P%WNN

          ปัจจุบันความตื่นตัวเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เริ่มเป็นที่สนใจของผู้คนทุกมากขึ้นในทุกภาคส่วนของผู้คนในขณะนี้ ว่าจะมีผลดีผลเสียต่อการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตของตัวเองอย่างไรบ้างหลังจากเปิด AEC แล้ว โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย ยังประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม จะมีผลกระทบในเชิงลบ หรือทางบวก ได้รับผลประโยชน์จาก AEC มากน้อยเพียงได ต้องปรับตัวหรือเตรียมกันอย่างไร
          สำหรับประชาคมอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก10 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และ บรูไน มีประชากรรวมกัน ประมาณ 600 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่าตลาดการค้าการลงทุนจะขยายเพิ่มจาก 62 ล้านคนภายในประเทศไทยเป็น 600 ล้านคน การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารจากเดิมที่มุ่งเน้นผู้บริโภคคนไทยด้วยกัน ต่อจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับผู้บริโภคที่ที่อยู่ในอีก 9 ประเทศเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในทางกลับกัน ก็จะมีเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตร ผู้ประกอบการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอาหารในอีก 9 ประเทศที่คิดเช่นเดียวกันกับเรา และจะเข้าสู่ตลาดและดำเนินนโยบายทางการผลิตและการตลาดแข่งขันกับเรา เช่น นโยบายทางด้านราคา ด้านต้นทุนและด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหาร เป็นต้น
          ดังนั้น การเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเชียน หรือการเปิดเสรีทางการค้าจะทำให้สินค้าเกษตรและอาหารจะเคลื่อนย้ายผ่านกลไกการขนส่งได้อย่างเสรี ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเพิ่มพูนปริมาณการค้าและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้เพิ่มขึ้น จากการที่สินค้าเกษตรและอาหารจะถูกส่งไปจำหน่ายยังตลาดของประเทศในกลุ่มด้วยต้นทุนที่ถูกลง เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรที่แต่ละประเทศได้เคยกำหนดไว้ ระบบตลาดจะปรับตัวเข้าสู่สภาวะที่ซึ่งผู้ผลิตแต่ละรายจะดำเนินการผลิตสินค้าที่ตนเองมีความได้เปรียบในการแข่งขัน กล่าวคือผู้ผลิตที่สามารถผลิตสินค้าได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าแต่ยังรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้า ผู้ผลิตที่มีประสบการณ์หรือทักษะในการผลิตสูง และสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตทีมีคุณภาพได้ในราคาที่ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ จะดำเนินการผลิตสินค้าและส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศ ขณะเดียวกันผู้ผลิตรายอื่นก็จะปรับตัวหันไปผลิตสินค้าที่ตนเองมีความถนัดกว่า จึงเกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันนั้นผู้ซื้อจะมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นและมีราคาจำหน่ายหรือมีต้นทุนต่ำกว่า
          นอกจากนั้นทรัพยากรภายประเทศของแต่ละประเทศ จะถูกใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดีขึ้นกว่าการไม่เปิดเสรี เช่น สินค้าบางประเภทเราจะพบเห็นว่าเวลาเพื่อนเดินทางไปต่างประเทศจะมีการฝากซื้อสินค้า เนื่องจากว่ามีราคาถูกกว่าการซื้อภายในประเทศ ทั้งนี้ในการกลับกันก็เป็นเช่นเดียวกัน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการเปิดเสรีทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหารนั้น เป็นการดำเนินการตกลงกันที่จะลดอุปสรรคทางการค้าทางด้านภาษีศุลกากรโดยการลดและเลิกไปในที่สุด ส่วนอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี แต่ละประเทศยังสามารถที่จะกำหนดได้ เช่น เงื่อนไขมาตรการสุขอนามัยพืชและสุขอนามัยสัตว์ ที่แต่ละประเทศมีกฎ ระเบียบไว้เพื่อการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ได้รับอันตรายจากการบริโภคสินค้าและอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี สารชีวภาพ วัตถุอันตรายต่างๆ และเงื่อนไขพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่รักษาระดับความหลากหลายทางชีวิภาพของประเทศ ทั้งสินค้าที่จะนำเข้ามาหรือจะนำออกไป
          ดังนั้นในการเปิดเสรีทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหารนั้น เกษตรกรในทุกระดับจะต้องปรับตัวโดยการติดตามข้อมูลทางการตลาด พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภค ข้อมูลการผลิตของเกษตรกรในต่างประเทศ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาบริหารจัดการต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพกะบวนการผลิต การสร้างความแตกต่างในสินค้า ที่สำคัญการปรับตัวเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิตและมาตรฐานสินค้า และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ
          ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งผลิตด้วยกระบวนการที่ปนเปื้อนสารเคมี วัตถุอันตรายและมีราคาถูก จะไม่สามารถเข้ามาจำหน่ายได้ภายในประเทศไทยและกลายเป็นคู่แข่งขันหรือทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทส นอกจากนั้นการเสริมสร้างขีดความสามารถของกลุ่มสหกรณ์การเกษตรให้สามารถเข้าสู่ตลาดอาเซียน จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนบทบาทของเกษตรกรรายย่อยให้มีพื้นที่ทางการตลาดในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น
          นอกจากการเปิดเสรีทางด้านการค้าและ ประชาคมอาเซียนยังเปิดให้มีการลงทุนอย่างเสรี จะส่งผลให้นักลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายการเงินทุนหรือการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตสินค้า กล่าวคือ นักลงทุนไทยสามารถไปลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น การไปลงทุนทำธุรกิจรวบรวมสินค้าเกษตรและแปรรูปแล้วส่งออกไปจำหน่าย (โรงสีข้าว โรงงานมันสำปะหลัง) หรือการลงทุนทำการเกษตรกรรมผลิตสินค้าเกษตรขั้นต้น แล้วส่งออกผลผลิตมาแปรรูปขั้นกลาง ขั้นสูงในประเทศไทย เป็นต้น ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็จะมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นกลางและขั้นสูง หรือ การลงทุนผลิตปัจจัยการผลิตทางด้านการเกษตร เช่น เครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตร เทคโนโลยีทางด้านการเกษตร เป็นต้น
          ระบบเศรษฐกิจในลักษณะนี้ จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดปัจจัยการผลิต เกษตรกรจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ในการเลือกซื้อปัจจัยการผลิตที่มีมาตรฐานคุณภาพและราคาที่ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ ขนาดการผลิตสินค้าเกษตรขั้นต้นจะปรับตัวให้เหมาะสมกับศักยภาพของเกษตรกรแต่ละครัวเรือน นั้นหมายถึงเกษตรกรไทยจะมุ่งผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นคุณภาพ มากกว่าเน้นปริมาณ ที่ซึ่งเกษตรกรไทยมีความแตกต่างจากการใช้ฝีมือการผลิตที่เป็นจุดแข่ง รายได้สุทธิจากการผลิตจะปรับตัวเปลี่ยนผ่านเพิ่มขึ้นเมื่อตลาดเข้าสู่สมดุล ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรจะลดลงเนื่องจากเกษตรกรปรับตัวจากระบบการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นเน้นปริมาณ ไปสู่ระบบการผลิตที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้มข้นและเน้นคุณภาพสินค้า
          อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนนั้น จะต้องมีกฎระเบียบในการกำกับดูแลและสร้างบรรยากาศการลงทุนที่โปร่งใส่ เพื่อให้โอกาสแก่นักลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่ต้องการเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรของประเทศหรือมาลงทุนในกิจการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมของไทย และที่สำคัญจะต้องสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่นักลงทุนนำเข้ามา มิฉะนั้นประเทศไทยจะเสียโอกาสและไม่ได้ประโยชน์
          การเปิดเสรีทางด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน เมื่อมีระบบเศรษฐกิจอาเซียนมีการปรับตัวเข้าสู่สมดุลรอบใหม่แล้ว และจากการที่ปริมาณการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของแต่ละประเทศขยายตัว จะส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานทางด้านเกษตรรวมทั้งแรงงานฝีมือด้านอื่นๆเพิ่มขึ้น ตลาดแรงงานที่มีทักษะฝีมือจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในแต่ละประเทศ ค่าจ้างแรงงานภายในกลุ่มอาเซียนจะปรับตัวเข้ามาใกล้เคียงกันตามสภาพแวดล้อมการทำงานหรือมีความแตกต่างกันน้อยลง โอกาสที่แรงงานภาคเกษตรที่เป็นชาวต่างประเทศที่เคยมีอยู่ภายในประเทศจะเคลื่อนย้ายกลับสู่ประเทศเดิมจึงมีสูง ทั้งนี้รวมถึงแรงงานฝีมือของไทยก็อาจถูกจ้างในราคาที่สูงกว่าเพื่อไปทำงานในระดับการควบคุมกระบวนงานการผลิตด้านการเกษตร ในประเด็นนี้จึงเป็นทั้งโอกาสและผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทย ซึ่งผลกระทบจะมาก่อนโอกาส นั้นหมายถึง จะกดดันเร่งเร้าให้เกษตรกรต้องปรับตัว ต้องขยันเรียนรู้และก้าวทันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศึกษาเรียนรู้ในทุกๆด้านเพื่อวิเคราะห์หาทางเลือกที่จะอยู่ร่วมและอยู่รอด โดยการปรับลดขนาดการผลิตให้เหมาะสม กล่าวคือ เหมาะสมกับแรงงานภายในครัวเรือน และหันไปใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาทดแทนแรงงาน และหรือปรับระบบการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความแตกต่าง และเมื่อก้าวข้ามผลกระทบไปได้โอกาสทางการตลาดที่ดีกว่าจะเข้ามาแทนที่ อย่างไรก็ตามการเพิ่มขีดความสามารถ หรือการเพิ่มสมรถนะของแรงงานภาคการเกษตรมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในปัจจุบันเกษตรบางส่วนเป็นเพียงผู้จัดการแปลงผู้จัดการนา จ้างแรงงานที่มีทักษะบ้างไม่มีทักษะบ้างเข้ามาทำงานในแต่ละขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้จัดการก็ขาดความรู้ความเข้าใจในการควบคุมกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ
          โดยสรุปการเปิดเสรีสินค้าเกษตรในกรอบของ AEC สำหรับประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์จากภาษีที่ลดลง มีตลาดที่กว้างขึ้น สินค้าวัตถุดิบที่เป็นปัจจัยการผลิตนำเข้าราคาถูก ทำให้ลดต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออกเสริมสร้างโอกาสในการลงทุน ขยายกิจการ ย้ายฐานการผลิต เกิดการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ในสินค้าและบริการ มีการพัฒนาและเพิ่มคุณภาพบุคลากร แรงงาน ลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพิ่มอำนาจการซื้อมากขึ้นในส่วนของผลกระทบ จะมีผลต่อเกษตรกรของไทยบางส่วนอาจทำให้ราคาสินค้าตกต่ำได้ เมื่อมีการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากอาเซียน 9 ประเทศ อุตสาหกรรมเกษตรที่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำอาจแข่งขันไม่ได้ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีจะถูกนำมาใช้มากขึ้น นักลงทุนอาเซียนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น แรงงานฝีมือของไทยอาจเคลื่อนย้ายออกไปตลาดต่างประเทศที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า ซึ่งในเรื่องเหล่านี้ทางผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมการหามาตรการมารองรับและหาทางออกไว้พร้อมแล้ว
โอกาสหรือทางรอดของ SMEs ไทยใน AEC?
Source - มติชน (Th)
Wednesday, May 02, 2012  06:22
44544 XTHAI XGEN MIDD DAS V%PAPERL P%MTCD

          ธีระ นุชเปี่ยม  ศูนย์เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
          แนวทางการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ของไทย โดยเฉพาะในแง่ของการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ AEC ที่ผู้เขียนกล่าวมาแล้วในตอนก่อนๆ นั้น จะมีผลในทางปฏิบัติถึงกิจการเหล่านี้ทั่วถึงหรือมากน้อยเพียงใดคงยากจะระบุได้ชัดเจน SMEs ไทยปกติก็มีปัญหาอยู่มากแล้วโดยที่ SMEs แต่ละสาขาก็จะมีปัญหาเฉพาะของตนเองด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
          นอกเหนือไปจากปัญหาเฉพาะของแต่ละสาขาธุรกิจแล้ว ปัญหาพื้นฐานที่ SMEs ไทยมีอยู่ร่วมกัน ประการหนึ่ง คือ การขาดข้อมูลและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอาเซียนโดยทั่วไป (ยังไม่ต้องกล่าวถึงผล กระทบจาก AEC ซึ่งคนไทยทั่วไปก็ยังมีความรู้ความเข้าใจน้อยมาก) ผู้ประกอบการมักมีข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนาศักยภาพ ดังนั้น ที่ผ่านมาแม้จะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และมีหลายหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ AEC แต่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวน SMEs ทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย
          นอกจากปัญหาข้อจำกัดเรื่องเวลา SMEs กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งในเขตเมืองและชนบท และมีอยู่ไม่น้อยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้หาทางออกในเรื่องนี้ด้วยการจัดการอบรม online หรือ e-learning ขณะนี้ได้มีการจัดทำแล้ว 13 หลักสูตรผ่านเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า www. dbdacademy.com โดยเท่าที่ผ่านมาหลักสูตรเหล่านี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการจำนวนมาก)
          ข้อสำคัญก็คือ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ AEC ผลกระทบในทางลบจะตามมาอย่างแน่นอน ในทางตรงกันข้าม หากมีการ เตรียมความพร้อมอย่างเพียงพอ SMEs ไทยก็สามารถจะได้รับประโยชน์จากโอกาสด้านต่างๆ ที่เปิดกว้างมากขึ้นหลัง ค.ศ.2015
          ผลสำคัญประการหนึ่งจากการเปิดเสรีด้านการค้าบริการและการเคลื่อนย้ายแรงงาน คือ การที่สัดส่วนในการเป็นเจ้าของกิจการของนักลงทุนต่างชาติจะขยายสูงขึ้น ก่อนหน้านี้สัดส่วนการเป็นเจ้าของกิจการในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย อยู่ที่ร้อยละ 30, 40 และ 49 ตามลำดับ การที่สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 70 ในประเทศอาเซียนทุกประเทศจะกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนจากอาเซียนด้วยกันเองมากขึ้นใน การลงทุนในกิจการในประเทศอาเซียนอื่นๆ
          ประเทศอย่างเช่น กัมพูชา สิงคโปร์ และเวียดนาม เปิดกว้างในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่โอกาสที่เปิดใหม่นี้จะทำให้นักลงทุนในประเทศอย่างไทยสนใจที่จะลงทุนในประเทศอาเซียนอื่นๆ มากขึ้นด้วยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมดังกล่าวแล้วนั่นเอง
          จากข้อมูลของ "Insight: Moving forward with the AEC", Economic Intelligence Centre SCB, Monthly/February 2011 ธุรกิจที่เป็นเป้าหมาย สำคัญสำหรับการลงทุนในระยะแรก คือ ด้านบริการที่มีศักยภาพสูงและแสดงให้เห็นแล้วว่าให้ผลกำไรสูง เช่น ในสิงคโปร์ ธุรกิจประเภทนี้ส่วนใหญ่ เกี่ยวเนื่องกับการค้า ได้แก่ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ธุรกิจการเป็นตัวแทนจำหน่าย ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ส่วนในมาเลเซียนั้น กิจการที่เป็นเป้าหมายสำหรับการลงทุนในอนาคตจะอยู่ที่ด้านไอทีและบริการด้านซอฟต์แวร์
          อย่างไรก็ดี การขยายเพดานสัดส่วนการลงทุนโดยต่างชาติออกไปเป็นร้อยละ 70 อาจจะยังมีปัญหาและอุปสรรคในทางปฏิบัติอยู่มาก โดยเฉพาะกฎระเบียบต่างๆ ที่นักลงทุนต่างชาติจะต้องปฏิบัติ ตัวอย่างที่มักกล่าวถึงกันมากคือ สิทธิของชาวต่างชาติที่จะเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งยังคงทำไม่ได้ในหลายประเทศ รวมทั้งไทย บางประเทศหาทางออกด้วยการให้เช่าระยะยาว นอกจากนั้น ก็ยังมีกฎระเบียบอื่นๆ เช่น เกี่ยวกับมูลค่าต่ำสุดในการลงทุน รูปแบบการลงทุน องค์ประกอบคณะกรรมการบริหาร (ที่ต้องเป็นคนท้องถิ่น) การทดสอบความจำเป็นทางเศรษฐกิจ กิจการร่วมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี
          ธุรกิจที่มีผลกำไรสูงมีศักยภาพสำหรับ การขยายการลงทุน และสามารถจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาธุรกิจบริการที่น่าสนใจในประเทศอาเซียน ในเรื่องของผลกำไรนั้นพบว่ามาเลเซียและสิงคโปร์มีธุรกิจบริการหลายอย่างมีศักยภาพด้าน EBITDA margin (อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อมราคา) สูง
          โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์มี EBITDA margin โดยเฉลี่ยสูงสุดสำหรับ 7 สาขา และ 5 สาขา ของธุรกิจบริการตามลำดับจากทั้งหมด 21 สาขา
          ตลาดที่มีศักยภาพใน AEC สำหรับธุรกิจไทยมีอยู่ 4 ด้านด้วยกัน คือ การท่องเที่ยวภายในกลุ่มอาเซียน ประชากรมุสลิมของอาเซียน ซึ่งเป็นประชากรมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุดในโลก ชนชั้นที่มี รายได้ปานกลางที่กำลังขยายตัว และประชากร สูงอายุ ธุรกิจบริการจากศักยภาพที่มีอยู่เหล่านี้อาจเกิดจากการใช้ความเข้มแข็งที่ไทยมีอยู่แล้ว เช่น บริการด้านสุขภาพสำหรับประชากรสูงอายุ ที่อาจขยายออกไปเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ที่เกษียณอายุ การแปรรูปอาหารสำหรับประชากรมุสลิมที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล สำคัญของโลก และธุรกิจโรงแรมที่พัฒนาไปเป็นการจัดการโรงแรมที่เป็นตราสินค้าของไทยโดยเฉพาะ
          อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เกี่ยวกับ SMEs นั้น เรายังมิได้มีการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งอย่างจริงจังในกรณีที่จะได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่ AEC โดยเฉพาะในกรณีที่จะมีนักลงทุนจากชาติอาเซียนอื่นๆ เข้ามาลงทุนในธุรกิจด้านนี้ในประเทศไทย โดยมีโอกาสที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจะไปลงทุนในอาเซียนนั้นอย่างน้อยในระยะแรกน่าจะมีน้อยมาก
          ดังนั้น หากไม่มีการเตรียมการที่ดีพอ ซึ่งรวมไปถึงการออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อปกป้องและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทยอย่างจริงจัง SMEs ไทยก็อาจจะล้มหายไป เช่น จากการถูกซื้อกิจการโดยต่างชาติ พื้นที่อันสวยงามและแหล่งท่องเที่ยวที่ดีของไทยก็คงตกอยู่ในการครอบครองของต่างชาติในอนาคต

          "ในส่วนที่เกี่ยวกับ SMEs นั้น เรายังมิได้มีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งอย่างจริงจังในกรณีที่จะได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่ AEC โดยเฉพาะ ในกรณีที่จะมีนักลงทุนจากชาติอาเซียนอื่นๆ เข้ามาลงทุนในธุรกิจด้านนี้ในประเทศไทย "
--จบ--

คอลัมน์: CRISIS WATCH เมื่อวิกฤตไล่ล่าเรา: การแข่งขันก้าวสู่ธนาคารแห่งเออีซี
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th)
Monday, April 30, 2012  03:55
19523 XTHAI XECON XCORP XSALES XCONSUME DAS V%PAPERL P%PTD

          ...ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์
          สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
          เดิมเมื่อประมาณ40 ปีมาแล้ว ธนาคารกรุงเทพของประเทศไทยนับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่ในช่วงปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ได้มีการจัดอันดับธนาคารในอาเซียนตามขนาดของสินทรัพย์เมื่อ1-2 ปีมาแล้ว ปรากฏว่าธนาคารใหญ่ 3 อันดับแรกต่างล้วนเป็นธนาคารของสิงคโปร์ทั้งหมด คือ ธนาคาร DBS ธนาคารOCBC และ ธนาคาร UOB ตามลำดับ
          ส่วนธนาคารใหญ่ที่สุดในอาเซียนอีก 3 อันดับต่อมา คือ อันดับที่4-6 เป็นธนาคารของมาเลเซียทั้งหมด คือ ธนาคาร Maybank ธนาคารCIMB และธนาคาร Public Bank ถัดจากนั้นอีก 4 อันดับต่อมา คืออันดับ 7-10 เป็นธนาคารของไทยทั้งหมด คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
          อนึ่งสำหรับธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ แม้เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี2511 แต่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ที่สุดของอาเซียน ในปี 2554 มีสินทรัพย์ ประมาณ8.5 ล้านล้านบาท มากกว่าสินทรัพย์ของ 4 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของไทยรวมกัน คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์
          นักวิเคราะห์เห็นว่า โครงสร้างธุรกิจธนาคารในอาเซียนกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือAEC กำลังจะมาถึงในปี 2558 ธนาคารของสิงคโปร์และมาเลเซียกำลังรุกคืบอย่างหนักเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นธนาคารแห่งอาเซียนโดยเฉพาะธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ และธนาคาร CIMB ของมาเลเซีย ซึ่งนักวิเคราะห์เห็นว่า 2 ธนาคารแห่งนี้ เน้นกลยุทธ์แตกต่างกันไป กล่าวคือ ธนาคาร DBS มุ่งเน้นเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจรของอาเซียนขณะที่ธนาคาร CIMB มุ่งเน้นเป็นวาณิชธนกิจของอาเซียน
          ส่วนธนาคารของไทยและอินโดนีเซียนั้น นักวิเคราะห์เห็นว่ายังมีโอกาสน้อย อย่างน้อยในระยะกลางที่จะไปซื้อธนาคารในประเทศอื่นๆเนื่องจากโครงสร้างภาคสถาบันการเงินและกฎระเบียบยังไม่พัฒนาขึ้นเพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารสิงคโปร์และมาเลเซียดังนั้น กรณีธนาคารของไทยไปก่อตั้งธนาคารในประเทศอื่นๆในอาเซียน จะเป็นการเปิดสาขาไม่กี่แห่ง เน้นให้บริการนักธุรกิจไทยที่ไปทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ มากกว่าจะเน้นให้บริการเต็มรูปแบบแก่นักธุรกิจในประเทศนั้นๆ หรือมิฉะนั้นก็อยู่ในรูปแบบเป็นพันธมิตรกับธนาคารต่างประเทศมากกว่าจะลงทุนเอง
          เป้าหมายหลักของการไปลงทุนซื้อกิจการ คือ อินโดนีเซีย เนื่องจากมีGDP ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทำให้ความเสี่ยงจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลกมีน้อยกว่าประเทศขนาดเล็ก ประชากรมากถึง 240 ล้านคน มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อGDP เพียงแค่ 28% เปรียบเทียบกับไทย 72% มาเลเซีย118% และสิงคโปร์ 123% ขณะเดียวกันสินเชื่อในระยะที่ผ่านมาเติบโตสูงถึง 20% ต่อปี ทำให้ธุรกิจธนาคารมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก
          ธนาคาร CIMB เมื่อปี2551 เข้าไปถือหุ้น CIMB Niaga ที่เกิดขึ้นจากการควบกิจการระหว่าง Bank Niaga TBK และ Bank Lippo ทำให้กลายเป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับ 6 ของอินโดนีเซีย และในปีต่อมา คือ ปี 2552 ได้มาซื้อหุ้นไทยธนาคารของไทย จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารCIMB Thai
          ล่าสุดเมื่อต้นเดือนเม.ย. 2555 ที่ผ่านมา ธนาคาร DBS ได้ตกลงซื้อหุ้น 67.4% ในธนาคาร Danamon ของอินโดนีเซีย จากกองทุนเทมาเซกของสิงคโปร์ด้วยกัน ในมูลค่าประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทและมีแผนจะเสนอซื้อหุ้นในส่วนที่เหลือทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายอื่นทั้งนี้ธนาคาร Danamon มีสินทรัพย์ 5 แสนล้านบาท มีสาขา 3,000 แห่งฐานลูกค้ามากถึง 6 ล้านคน หากซื้อขายแล้วเสร็จและควบรวมกับกิจการธนาคาร DBS ซึ่งมีอยู่แล้วในอินโดนีเซีย จะทำให้กลายเป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับ 5 ของอินโดนีเซีย
          การรุกคืบหน้าอย่างรวดเร็ว นับว่าจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ดำเนินธุรกิจใน AEC เป็นไปอย่างสะดวกสบายมากขึ้นในอนาคตโดยธนาคารเหล่านี้จะสามารถให้คำแนะนำและสนับสนุนธุรกิจที่ทำธุรกิจการค้าและลงทุนระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียนอย่างครบวงจร เช่นนักลงทุนไทยที่สนใจไปทำธุรกิจในอินโดนีเซีย สามารถกู้เงินจากไทยโดยใช้ทรัพย์สินในประเทศไทย อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งในเวียดนาม มาค้ำประกันได้ ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถใช้บัตร ATM ใบเดียวเบิกเงินจากตู้ ATM ในทุกประเทศในอาเซียน ขณะเดียวกันนับเป็นความท้าทายของธนาคารไทยที่จะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ภายใต้สภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

AEC ฟีเวอร์ โอกาสทองขยายตลาด หรือกระแสสร้างภาพโกยกำไร!
Source - สยามธุรกิจ (Th)
Thursday, May 03, 2012  10:10
10495 XTHAI XECON XCORP XSALES V%PAPERL P%SBW

          ไม่ว่าจะมองไปในทิศทางใดของธุรกิจขายตรงในช่วงนี้ ก็จะเจอกับแผนการตลาดที่คิดถึงเรื่องของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่ง จะเกิดขึ้นในปี 2558 โดยวัตถุประสงค์ในความร่วมมือของ 10 ประเทศที่อยู่แถบเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่า จะเป็นไทย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, บรูไน, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, และพม่า และอีก 3 ประเทศผู้นำเศรษฐกิจเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น, จีน และอินเดีย ในครั้งนี้ ก็เพื่อทำลายกำแพงด้านภาษีระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อเปิดโอกาส การแข่งขันของธุรกิจอาเซียน สู่ตลาดโลก
          ความร่วมมือระดับภูมิภาคในครั้งนี้นี่เอง ถูกบรรดาบริษัทจากหลายวงการหยิบยกขึ้นเป็นเป้าหมายในการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการเปิดตลาดที่ว่านี้ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจขายตรง ซึ่งในช่วงที่ผ่าน มาบริษัทต่างๆ ก็พากันวางแผนรองรับการ เกิดขึ้นของ AEC จนกลายเป็นกระแสที่ทุกบริษัทต้องกล่าวต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อเป็นการแสดงถึงวิสัยทัศน์ การมองถึงอนาคต ความเปลี่ยนแปลง เพื่อวางแผนรองรับ
          มากมายหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็ก กลาง ใหญ่ หรือจะเป็นค่ายใหม่ที่จะเปิดตัวได้ไม่นาน ต่างก็มองไปที่การเกิดขึ้นของ AEC จนกลายเป็นกระแสประจำต้นปีที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้
          การขยายสาขาสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมา หลายบริษัทก็ได้ทำการขยายสาขาออกสู่ต่างประเทศบ้างแล้ว โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เหล่าบริษัทน้อยใหญ่ส่งแม่ทีมออกไปขยาย แต่ที่ถูกจับตามองในช่วงนี้ในส่วนของการขยายเขต ขยายสาขาก็เนื่องจากการโยงเรื่องการค้าเสรีเข้ามา ทำให้การเดินล่าปักธงกลายเป็นเรื่องที่ถูกนำขึ้นมาเป็นประเด็นจนกลายเป็น AEC ฟีเวอร์ของวงการขายตรงในช่วงนี้
          ในเรื่องของแผนต่างๆ ของหลายบริษัท ที่ประกาศรองรับการเปิดการค้าเสรี ในปี 58 ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมทุกบริษัทถึงต้องเอ่ยถึงเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่บางบริษัทมีการเปิดตัวได้ไม่นานก็ประกาศแผนรองรับในส่วนนี้ขึ้น
          โดย อ.ประสิทธิ์ รัตนพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการขายตรง เปิดเผยในประเด็นนี้กับ “สยามธุรกิจ” ว่า เรื่องของแผนรองรับ AEC ของธุรกิจขายตรง หลายบริษัทเป็นเสมือนการสร้างภาพ เพื่อให้บริษัทถูกมองจากบรรดาสมาชิก และนักขายว่ามีความพร้อม อีกทั้งยังมีแผนในการขยายสาขาสู่ต่างประเทศ ซึ่งเมื่อสาขา ต่างประเทศเปิด AEC รายได้ของนักขาย ย่อมเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
          “เรื่องของแผนรองรับการเปิดการค้าเสรี เป็นเรื่องที่หลายบริษัทสร้างภาพขึ้น เนื่องจากมีความต้องการกอบโกยรายได้ใน ช่วง 1-2 ปีนี้ ผ่านแผนการรองรับ AEC ของบริษัทที่หลายบริษัทสร้างขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของตัวบริษัท และให้เห็นถึงความมั่งคง และมั่งคั่ง” อ.ประสิทธิ์ เผย
          โดยอาจารย์คณะบริหารธุรกิจ ยังกล่าวต่อว่า “การที่ธุรกิจขายตรงต่างพากันพูดถึงเรื่องแผนการรองรับการเปิดการ ค้าเสรีอาเซียนในช่วงนี้ บางบริษัทก็ไม่ได้มุ่งเน้นแผนอย่างที่กล่าว แต่เป็นเพียงการ สร้างกระแส เนื่องจากทางรัฐบาลมีการพูด ถึงและจุดให้กลายเป็นประเด็น ทำให้บริษัทขายตรงหยิบขึ้นมาพูด ทั้งๆ ที่บางบริษัทก็ ไม่ได้มีความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด อีกทั้งบางบริษัทก็เพิ่งมีการเปิดตัวบริษัท แต่ก็กลับมองไกลจนลืมเอ่ยเรื่องการสร้าง ตลาดในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต่างจากการขยายสาขาของบริษัทไทย หรือบริษัทต่างชาติที่ใช้การขยายสาขาออกต่างประเทศ เพื่อสร้างภาพให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง แต่ไม่ได้มุ่งเน้นทำตลาดแต่อย่างใด”
          อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกบริษัทที่ใช้เรื่อง AEC เป็นกระแส แต่ก็มีหลายบริษัทที่มีความมุ่งมั่น มุ่งเน้นในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และต้องการขยายเขตเพื่อนบ้านอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่มีความพร้อมจ้อง แต่จะโกยรายรับจากกระแส แต่เมื่อตลาดเปิดก็ไม่สามารถทำอย่างที่กล่าวได้
          ซึ่งนั่นเป็นการแสดงความคิดเห็นหนึ่งจากผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการขายตรง โดย อ.ประสิทธิ์ ยังได้กล่าวถึงบริษัทขายตรงที่อยู่ต่างประเทศหลายบริษัทว่า “บริษัท ต่างประเทศ บริษัทหนึ่งในมาเลเซีย ซึ่งตนได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุย ซึ่งผู้บริหารของ บริษัทนั้น ก็ไม่ได้ยินดียินร้ายกับการเปิดการค้าเสรีอาเซียนมากนัก แต่กลับต้อง การเน้นเรื่องของการทำตลาดในประเทศของตนเองมากกว่า ซึ่งนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะถึงแม้การค้าเสรีเกิดขึ้นมา ต้นทุนในส่วนของภาษีอาจลดลงก็ตาม แต่เรื่องของการขนส่ง รายจ่ายในการตั้งสาขาย่อมขยับขึ้นตาม ซึ่งเมื่อมองแล้วผลดีจาก การเปิดการค้าเสรีของอาเซียน ก็ไม่ได้ส่งอานิสงส์ต่อธุรกิจขายตรงมากมายนัก”
          สิ่งที่อ.ประสิทธิ์ กล่าวผ่าน “นสพ. สยามธุรกิจ” เป็นเพียงหนึ่งความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็น แต่ที่น่าสังเกตและน่าจับตามองคงไม่ใช่เรื่องของบริษัทเก่า และยักษ์ใหญ่ เพราะบริษัทเหล่านี้ มีความพร้อมที่มากพอ ถึงแม้บางแผนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามเวลาก็ตาม แต่เมื่อเวลานั้นมาถึงบริษัทใหญ่ก็มีอาวุธมากพอที่จะทำให้ธุรกิจ เดินต่อไปได้ถึงแม้ AEC จะเกิดขึ้น
          ในทางกลับ แล้วบรรดาค่ายเล็ก หรือค่ายใหม่ที่แห่เปิดตัวในช่วงนี้ และพูดถึง AEC จะทำอย่างไร ในเมื่อหากนับเวลาดูก็เหลือไม่ถึง 3 ปี ตลาดที่กล่าวมาก็จะเกิดขึ้น
          ทั้งนี้ เรื่องของการเปิดการค้าเสรีอาเซียน หรือ AEC ที่กลายเป็นประเด็นใน ช่วงนี้ หลายกลุ่มคนก็มองเรื่องนี้ เป็นโอกาส ทางธุรกิจ แต่อีกมุมกระแส AEC ที่เกิดขึ้น กลายเป็นสิ่งที่ขายตรงหยิบขึ้นมาเป็นตัวสร้างภาพเพื่อหวังโกยรายได้ในระยะสั้น แต่ทั้งหมดคงต้องตามดูว่า แผนที่ออกมาของแต่ละบริษัทจะมีความเป็นไปได้และเกิดขึ้นจริงอย่างที่กล่าวหรือไม่อย่างไร แต่ท้ายที่สุด ตลาดบ้านเรา ก็ยังมีพื้นที่ขยายได้อีกมาก ซึ่งไม่จำเป็นต้องมุ่งไปที่เรื่องของอาเซียนเพียง อย่างเดียว--จบ--

ยกระดับมาตรฐานรับสร้างบ้านรับมือการแข่งขันหลังเปิดเวทีAEC
Source - เว็บไซต์แนวหน้า (Th)
Friday, May 04, 2012  07:00
38550 XTHAI XECON V%NETNEWS P%WNN

          นางพัชรา ตัณฑยรรยง นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดรวมของบ้านสร้างเองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีมูลค่าประมาณ 55,000 ล้านบาทต่อปี โดยบริษัทรับสร้างบ้านมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 11,000 ล้านบาท หรือ 20% ชี้ให้เห็นว่ามูลค่าตลาดอีกกว่า 80% หรือประมาณ 44,000 ล้านบาท เป็นของผู้รับเหมาอิสระ อีกทั้งตลาดรับสร้างบ้านยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาสมาชิกของสมาคมฯและผู้ประกอบการรายย่อยยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานการบริการ การออกแบบ การก่อสร้าง รวมถึงข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการและลูกค้ามาโดยตลอด
          ทั้งนี้ทางสมาคมฯจึงมีนโยบายที่จะยกระดับมาตรฐานของธุรกิจรับสร้างบ้านให้มีความเข้มแข็ง ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความรู้ เทคโนโลยี และความน่าเชื่อถือของผู้บริโภค สามารถรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมรับสร้างบ้านและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่จะมีการหลั่งไหลเข้ามาของเงินทุน สินค้า การค้า แรงงาน บริการ และเทคโนโลยีต่างๆ
          โดยในวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 สมาคมฯจะมีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “2012 ธุรกิจรับสร้างบ้าน ยกระดับมาตรฐาน เพื่อการแข่งขันในเวที AEC” ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งมีปาฐกถาพิเศษ “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2555 การปรับตัวรับ AEC และทิศทางการพัฒนาที่อยู่อาศัย”
          นอกจากนี้ยังเตรียมจัดฝึกอบรมแบบเจาะลึกในด้านมาตรฐานวิชาชีพอีก 6 ครั้ง เริ่มเดือนมิถุนายน-กันยายน 2555 ในหัวข้อการบริหารต้นทุน เวลา คุณภาพ การออกแบบและพัฒนาการแบบบ้านพักอาศัยในไทย ข้อกฎหมายและจรรยาบรรณสำหรับธุรกิจรับสร้างบ้าน และกลยุทธ์ทางธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดในธุรกิจรับสร้างบ้าน
          นายฐกร นิติปัญญาวุฒิ เลขาธิการ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานเป็นปัญหาสำคัญของธุรกิจรับสร้างบ้าน เนื่องจากไม่สามารถใช้แรงงานต่างด้าวทดแทนแรงงานไทยได้เหมือนการรับสร้างอาคารสูง เพราะเจ้าของบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการใช้แรงงานต่างด้าว และไม่เชื่อมั่นในฝีมือ อีกทั้งเมื่อเปิด AEC แรงงานต่างด้าวไม่จำเป็นต้องเข้ามารับจ้างในไทย ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหา จึงได้เข้าหารือกับสมาคมเหล็กและเหล็กกล้าไทย เพื่อพัฒนาระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูป ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นและใช้แรงงานน้อยลง

          ที่มา: http://www.naewna.com
    
อสังหาฯ-กลุ่มวัสดุรับAEC 'ตราเพชร'เพิ่มกำลังผลิต 'ศุภาลัย'ซุ่มศึกษาโอกาสการตลาด
Source - ฐานเศรษฐกิจ (Th)
Monday, April 30, 2012  10:23
10813 XTHAI XECON XCORP XESTATE XCONSTR XMANUFAC XINFRA DAS V%PAPERL P%TSK

          กลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างและดีเวลอปเปอร์  เตรียมตั้งรับการเปิดเออีซี ปี 2558  "ตราเพชร" ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าคาดทำสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศขึ้นเป็น13-14% จากปัจจุบัน10%ด้านแอลแอนด์อีลงทุน300 ล้านขยายโรงงานพร้อมรวม9แบรนด์สินค้าเป็นแบรนด์เดียวหวังตีตลาดใน10 ประเทศ เอเชีย  ขณะที่โมเดอร์นฟอร์ม เตรียมจับมือพันธมิตรทำธุรกิจใน 2-3ประเทศขณะที่ศุภาลัยซุ่มศึกษาตลาดเปิดทาง พัฒนาโครงการส่วนเอสซีเตรียมจ้างเอเยนซีขนของออกขาย
          นายสาธิต สุดบรรทัด รองกรรมการผู้จัดการสายการขายและการตลาด บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า  การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือAEC ในปี2558 นั้นมีผลดีที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสที่จะออกไปทำตลาดในต่างประเทศได้มากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการส่งสินค้าออกไปทำตลาดในต่างประเทศอยู่แล้วก็ตาม ในส่วนบริษัทมีการส่งสินค้าออกไปทำตลาดในหลายประเทศเพื่อนบ้านอาทิ พม่า กัมพูชา ลาว เป็นต้น   ซึ่งหากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว น่าจะมีการนำเข้าและส่งออกของสินค้าระหว่างไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้มากขึ้น
          "ถ้าในปี2558 มีการจัดสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดมองว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากอัตราค่าขนส่งที่จะถูกลงส่วนแบรนด์ตราเพชรในประเทศเพื่อนบ้านนั้นถือว่าเป็นที่รู้จักและให้การยอมรับ  แต่การส่งออกของบริษัทยังมีสัดส่วนไม่มากประมาณ 10%เนื่องจากปัญหาด้านการผลิตที่ยังไม่เพียงพอ แต่บริษัทก็มีการลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง คาดหวังว่าในอนาคตหากเปิดเสรีการค้าแล้วสัดส่วนรายได้น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 13-14%" นายสาธิตกล่าวและว่า
          ในไตรมาสที่ 2 นี้คาดว่าการขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 72,000 ตัน จากการลงทุนไป 480 ล้านบาทนั้น  ไลน์การผลิตน่าจะแล้วเสร็จก็จะส่งผลให้บริษัทสามารถทำตลาดได้เพิ่มมากขึ้น โดยมีโอกาสที่จะส่งสินค้าไฟเบอร์ซีเมนต์ออกไปทำตลาดเพิ่ม เนื่องจากขนส่งได้สะดวกและยังสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายประเภทด้วย การขยายการลงทุนในส่วนของกำลังการผลิตส่วนหนึ่งก็เป็นการรองรับกับตลาดในต่างประเทศด้วยเช่นกัน
          นายปกรณ์ บริมาสพร  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์อีควิปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าบริษัทเตรียมงบลงทุน 300 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกเท่าตัวทั้งในส่วนของการผลิต  การพัฒนาสินค้า  สำหรับการรับมือกับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียในอีก1-3 ปีข้างหน้าซึ่งจะมีการเปิดการค้าเสรีอย่างจริงจังในปี2558  เชื่อว่าจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตได้เท่าตัวจากปีที่ผ่านมามีรายได้ 2,017 ล้านบาทนอกจากนี้บริษัทยังมีการรวมแบรนด์สินค้าทั้ง9 แบรนด์ของบริษัทให้เหลือเพียงแบรนด์เดียวคือแอลแอนด์อี รองรับกับตลาดที่จะเป็นตลาดเดียวด้วย
          "แนวทางการทำตลาดบริษัทยังเน้นการให้บริการแบบครบวงจร  ซึ่งการลงทุนเพิ่มในส่วนการผลิตก็เพื่อรองรับยอดขายที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศซึ่งในส่วนตลาดต่างประเทศปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้เพียง7% ในปีที่ผ่านมาเชื่อว่าอีก 3 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้จะเพิ่มเป็น30-40%ซึ่งบริษัทก็จะขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มอย่างเช่นอินโดนีเซีย ที่ถือว่าเป็นตลาดใหญ่มากและปัจจุบันบริษัทก็ยังไม่มีการเข้าไปทำตลาด มาเลเซีย ก็เป็นตลาดที่มีโอกาส และศักยภาพ  พม่า ก็มีโอกาสขยายตลาดเพิ่มปัจจุบันบริษัททำตลาดโดยตรงกับลูกค้าในอนาคตกำลังพิจารณาที่จะมีตัวแทนจำหน่าย หรือขายผ่านเอเยนต์ ส่วนฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์  บริษัทมีตัวแทนจำหน่ายแล้ว" นายปกรณ์  กล่าว
          ด้านนายทักษะ บุษยโภคะ  ประธานกรรมการบริหารบริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวทางการรับมือกับการเปิดเออีซีนั้น  ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาที่จะเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน 2-3 ประเทศซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจในแต่ละประเทศนั้นอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางว่าจะเป็นรูปแบบใดโดยมีความเป็นไปได้ทั้งในส่วนที่บริษัทจะเข้าไปร่วมทุน การจัดตั้งตัวแทนจำหน่าย การจ้างผลิตสินค้าซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแข่งขันกับการเปิดเขตการค้าเสรีดังกล่าวได้
          ขณะที่นายประทีป ตั้งมติธรรมประธานกรรมการบริหาร  บริษัท ศุภาลัยจำกัด (มหาชน)  กล่าวว่าในส่วนของการรับมือการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนนั้นบริษัทก็อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โอกาสทางตลาดศึกษาข้อมูลด้านกฎหมาย ภาษี  และวิธีการดำเนินธุรกิจเพื่อที่จะเข้าไปทำตลาดในต่างประเทศใน2-3 ประเทศ โดยได้ศึกษาความเป็นไปได้ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย  ศรีลังกาฟิลิปปินส์ พม่า และเวียดนาม
          "ตอนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะไปประเทศใดหรือจะไปเมื่อใดยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพราะหลายประเทศก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน อย่างเช่น เวียดนามก็ดีแต่ค่าเงินผันผวน อินโดนิเซียมีประชากรจำนวนมาก  และยังขาดแคลนบ้าน ทำให้มีความต้องการสูง  มาเลเซีย  ประชากรมีรายได้ดี กำลังซื้อดีและไม่มีการคุมกำเนิดทำให้คนเกิดมาก ราคาอสังหาฯ ก็ไม่แตกต่างกับประเทศไทยมากนัก  ระบบกฎหมายที่ใช้ก็เป็นระบบอังกฤษ  นอกจากนี้  บริษัทคงยังต้องดูสภาพตลาด ดีมานด์ซัพพลาย และคู่แข่ง ซึ่งบริษัทอาจจะไม่ได้ไปทำในทุกประเทศ อาจจะไปลงทุนใน1-2 ประเทศก็ได้การเปิดเออีซีประเทศอื่นเข้ามาทำตลาดยากกว่าการที่ผู้ประกอบการจะไปทำตลาดในต่างประเทศ" นายประทีป กล่าว
          นายอรรถพล  สฤษฎิพันธาวาทย์ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด  (มหาชน)กล่าวว่าหลังจากบริษัทพัฒนาคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในปีนี้แล้ว   บริษัทมีแผนจะจับมือกับบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีฐานลูกค้าในต่างประเทศเพื่อนำเสนอสินค้าสู่ลูกค้าชาวต่างชาติ โดยประเทศแรกๆที่จะนำสินค้าเข้าไปทำตลาด คือ ฮ่องกงและสิงคโปร์  แต่อย่างไรก็ตาม แผนการไปต่างประเทศยังไม่ได้มองถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากต้องศึกษาตลาดในเชิงลึกก่อนขณะเดียวกันก็รองรับกับตลาดชาวต่างชาติที่สนใจอสังหาฯ ของไทยด้วย--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 2555--
  
         
  



ไทยจับมือพม่าดึงเทคโนโลยี ALIS พัฒนาข้อมูลเกษตร/ความมั่นคงอาหารอาเซียน
Source - พิมพ์ไทย (Th)
Monday, April 30, 2012  04:28
29103 XTHAI XECON DAS V%PAPERL P%PIMD

          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ AFSIS ร่วมหารือหารือสหภาพพม่า ปรับปรุงระบบสารสนเทศ ทางการเกษตรของพม่า โดยดึงเทคโนโลยีAgricultural Land Information System หรือ ALIS มาจัดทำข้อมูล และปรับปรุงคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารของไทยให้ถูกต้องรวดเร็ว ยิ่งขึ้น รองรับการ ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางข้อมูลของภูมิภาคอาเซียน และความร่วมมือกันทางด้าน AEC ที่จะมาถึงในปี 58
          นายสุรศักดิ์  พันธ์นพ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทย ในฐานะ Lead Country ได้    ดำเนินโครงการโครงการระบบสารสนเทศเพื่อความมั่นคงทางอาหารแห่ง ภาคพื้นอาเซียน หรือ AFSIS (ASEAN Food Security Information SystemProject) ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจ การเกษตร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นงบประมาณที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้แก่รัฐบาลไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดทำข้อมูลและปรับปรุงคุณภาพข้อมูล ด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารของประเทศในภูมิภาคอาเซียนโดยใช้เทคโนโลยี Agricultural Land Information System หรือ ALIS นั้น ดังนั้น จึงได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เพื่อร่วมหารือ เกี่ยวกับการปรับปรุงระบบสารสนเทศทางการเกษตรของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าเมื่อวันที่ 25-28 มีนาคม ที่ผ่านมา พร้อมคณะ ซึ่งประกอบด้วย นายมณฑลเจียมเจริญ ผู้จัดการโครงการ AFSIS และ Mr. Shoji Kimura ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นประจำโครงการ AFSIS
          ในการนี้ Mr. Aung Myint Swe อธิบดีฝ่าย Settlement and Land Records Depar tment กระทรวงเกษตรและชลประทานของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เป็นผู้ให้การต้อนรับ และร่วมปรึกษาหารือ ซึ่งทาง สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าได้แสดงท่าทีเห็นชอบ และยินดีที่ประเทศไทยและโครงการAFSIS จะจัดทำข้อมูล ความมั่นคงทางด้านอาหาร อย่างไรก็ตาม จะมีการลงนามความร่วมมือร่วมกัน ในเดือนพฤษภาคม และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในเดือนสิงหาคมนี้
          ทั้งนี้ การจัดทำข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยี ALIS เป็นโครงการนำร่องโปรแกรมข้อมูลสารสนเทศการเกษตร ซึ่งทางโครงการ AFSIS ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท NTT DATA Corporation ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการจัดทำ โปรแกรมข้อมูลสารสนเทศการเกษตร ALIS Program (Agricultural Land Information System Program)
          เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดทำข้อมูลและปรับปรุงคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร และความมั่นคง ทางอาหารของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนให้ถูกต้องรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางข้อมูลของภูมิภาคอาเซียน อันจะเป็นผลสอดรับกับความร่วมมือทางด้านAEC ที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
    
  
         
  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

K-SME Analysis ธุรกิจชานมไข่มุก จากไต้หวัน