KSME Analysis : ของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้าน : โอกาสเติบโตในตลาดอาเซียน



ของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้าน : โอกาสเติบโตในตลาดอาเซียน

สมัครรับบทวิเคราะห์ธุรกิจดีๆอย่างนี้ได้ฟรีที่ KSME STARTUP http://goo.gl/EXFDb



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 มีนาคม 2555

                ธุรกิจของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้าน จากทุกภาคของไทย เป็นที่นิยมค่อนข้างสูงในกลุ่มชาวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศจนสามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้ปีละประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 10,000 ล้านบาท โดยมีสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกหลักคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 70 โดยอาศัยจุดเด่นที่สำคัญคือ การเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ แสดงภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นของประเทศ รวมถึงชิ้นงานที่ผลิตออกมาก็มีความประณีตสวยงาม ละเอียดอ่อน และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จึงทำให้สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ประมาณ 1,950 ราย[1] ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการในกลุ่ม SME ถึงกว่าร้อยละ 95 ส่วนอีกร้อยละ 5 จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ อีกทั้งมีผู้เกี่ยวข้องที่เป็นแรงงานในภาคการผลิตสินค้าถึงประมาณ 250,000 คน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้านของไทย กำลังเผชิญความท้าทายจากคู่แข่งที่มีจุดเด่นทางด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ซึ่งเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงาน และต้นทุนวัตถุดิบต่ำกว่าไทย อาทิ จีน อินเดีย รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้านของไทย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มขยายตัวลดลง ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรต้องเร่งพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน ทั้งทางด้านการพัฒนารูปแบบสินค้า ให้มีความโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนการแข่งขันทางด้านราคา รวมทั้งการพัฒนาตราสินค้าของตนเอง เพื่อให้ชื่อสินค้าติดตลาดโลก ในขณะเดียวกัน ก็ควรเร่งแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ทดแทนการพึ่งพาตลาดดั้งเดิม เพื่อขยายโอกาสไปสู่ตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะตลาดที่ไทยมีข้อตกลงทางการค้า ที่จะช่วยทำให้สินค้าไทยขยายตลาดได้ โดยไม่มีข้อจำกัดจากมาตรการด้านภาษี ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นประเทศคู่แข่งทางด้านการส่งออกสินค้าของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้านของไทย แต่จากการที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กำลังมีการเติบโตสูงต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น และมีความต้องการสินค้าเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของตนเอง โดยให้ความสำคัญทางด้านคุณค่าและคุณภาพของสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึง กลุ่มประเทศอาเซียนจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งจะช่วยให้สินค้าของไทยมีศักยภาพและโอกาสในการขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น
ตลาดส่งออกหลัก....เผชิญปัญหาเศรษฐกิจ และแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรง
ของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้าน[2] นับว่าเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยมูลค่าการส่งออกในปี 2554 มีมูลค่าเท่ากับ 371.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.9 (YoY) ซึ่งขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าปีก่อนหน้า หากพิจารณาการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2555 พบว่า มีมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 47.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 (YoY)
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่มีแนวโน้มการขยายตัวลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการหดตัวของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ประกอบกับการส่งออกไปยังตลาดหลักอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น มีอัตราการขยายตัวไม่สูงมากนัก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป มีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 3.4 (YoY) โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ตลาดหลักมีทิศทางชะลอลง เนื่องจาก
  • การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ไทยส่งออกไปมากถึงเกือบร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลอย่างมากต่อกำลังซื้อและพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าในกลุ่มของขวัญ ซึ่งเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถชะลอการซื้อออกไปได้ หากผู้บริโภคกำลังประสบกับปัญหากำลังซื้อลดลง
Rectangular Callout: การส่งออกของขวัญของตกแต่งบ้านของไทยในตลาดหลักต่างๆ มีแนวโน้มลดลง
ตลาดหลัก
แหล่งนำเข้า
สหรัฐฯ
จีน (74.1%) เม็กซิโก (9.1%)
ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 8
EU
จีน (40.9%) เยอรมนี (11.3%)
ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 24
ญี่ปุ่น
จีน (74.3%) ไทย (4%)
ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 2
ที่มา: UNCTAD/WTO รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ð   สินค้าไทยเผชิญการแข่งรุนแรงภายในตลาดส่งออกหลัก ดังจะเห็นได้จากการส่งออกของไทยไปยังประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก มีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพราะสินค้าส่งออกของไทยเผชิญการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ ประเทศจีน ซึ่งนอกจากจะมีจุดเด่นทางด้านราคาสินค้าแล้ว สินค้าจากจีนยังมีการพัฒนาคุณภาพและการออกแบบให้ทันสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ สำหรับการส่งออกของขวัญไปยังตลาดสหภาพยุโรป ยังต้องเผชิญการแข่งขันจากการค้าภายในสหภาพยุโรปด้วยกันเอง เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลี โปแลนด์ ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ก็ยังต้องเผชิญการแข่งขันจากประเทศเม็กซิโก และแคนาดา ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าที่มีภูมิประเทศอยู่ใกล้กับสหรัฐฯ
เบนเข็มการส่งออกสู่ตลาดรอง......หนึ่งในแนวทางขยายตลาดส่งออกสินค้าของขวัญของไทย
จากศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีความประณีต ทนทาน สวยงาม ประกอบกับเอกลักษณ์และรูปลักษณ์ที่โดดเด่นของสินค้าของขวัญของไทย สามารถสร้างโอกาสและขยายการส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการไทยในตลาดอื่นๆ ที่นอกเหนือจากตลาดหลักที่กำลังเผชิญกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งนี้ ตลาดส่งออกอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในการขยายตลาด มีดังนี้
  • ตลาดจีน แม้ว่าจีน จะเป็นประเทศคู่แข่งทางด้านการส่งออกสินค้าประเภทของขวัญ ด้วยจุดเด่นทางด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ แต่ในขณะเดียวกัน จีนเอง ก็เป็นตลาดที่มีความต้องการบริโภคสินค้าประเภทนี้ในแต่ละปีค่อนข้างสูง เนื่องจากจำนวนประชากรที่มากถึงกว่า 1,300 ล้านคน รวมทั้งเศรษฐกิจจีนยังมีการเติบโตในอัตราสูงต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้กลุ่มผู้มีฐานะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของสถาบันวิจัยธุรกิจของขวัญแห่งประเทศจีน ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน กระทรวงพาณิชย์จีน และวิสาหกิจในธุรกิจของขวัญของจีนพบว่า ความต้องการซื้อสินค้าประเภทของขวัญของภาคประชาชนและภาคธุรกิจจีนในปี 2554 สูงถึง 868,400 ล้านหยวน แยกเป็นตลาดของขวัญสำหรับส่วนบุคคลร้อยละ 58 และตลาดของขวัญสำหรับกลุ่มคณะร้อยละ 42 ซึ่งมูลค่าตลาดของขวัญในจีน ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนประชากรที่มีรายได้สูงที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค โดยเริ่มให้ความสำคัญกับสินค้าที่สะท้อนรสนิยมมากขึ้น ทำให้สินค้าของขวัญ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีการออกแบบโดดเด่น สวยงาม ค่อยๆ เข้าไปขยายตลาดในจีนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสของสินค้าไทย ที่ได้รับประโยชน์จากการทำข้อตกลงเสรีทางการค้าระหว่างกัน จึงช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและลดกำแพงภาษีลง

  • ตลาดอินเดีย ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึงกว่า 1,200 ล้านคน ประกอบเข้ากับเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลาง ในขณะเดียวกัน เนื่องจากพฤติกรรมของคนอินเดียมีการซื้อของขวัญ เพื่อมอบให้ในเทศกาลวันสำคัญที่มีอยู่ด้วยกันหลายงาน จึงถือเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยน่าจะเข้าไปขยายตลาดได้ ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบัน มูลค่าการส่งออกของขวัญ ของไทยไปยังตลาดอินเดีย จะยังมีสัดส่วนไม่สูงมากนักเพียงประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 1.4 ของมูลค่าการส่งออกไทย) แต่ที่ผ่านมา ตลาดนี้ก็มีการเติบโตต่อเนื่อง เพราะนอกจากความต้องการสินค้าในกลุ่มของขวัญ โดยเฉพาะสินค้าตกแต่งบ้าน ในประเทศอินเดียจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากการพัฒนาที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์แล้ว ตลาดอินเดียนับว่าเป็นศูนย์กลางและประตูทางการค้าไปสู่ประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเซียใต้ ได้แก่ ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน และมัลดีฟส์ อีกทั้งผลจากข้อตกลงทางการค้าที่ไทยทำกับอินเดีย จะช่วยสนับสนุนให้สินค้าของไทย เข้าไปเปิดตลาดในอินเดียได้สะดวกมากขึ้น จึงนับว่าตลาดอินเดียเป็นประเทศที่ไทยมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออก รวมทั้งใช้เป็นฐานส่งออกต่อไปยังประเทศในเอเชียใต้อื่นๆ ด้วยเช่นกัน
§   ตลาดอาเซียน สำหรับอาเซียนเอง ก็มีหลายประเทศที่ถือเป็นคู่แข่งขันทางด้านการส่งออกสินค้าของขวัญ ที่สำคัญของไทย อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ประเทศในอาเซียนเองก็เหมือนกับจีน และอินเดีย กล่าวคือเศรษฐกิจมีการเติบโตในอัตราสูงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อที่สูงขึ้น ฉะนั้น จึงถือได้ว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนนอกจากจะเป็นคู่แข่ง แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นคู่ค้าและตลาดส่งออกสินค้าประเภทของขวัญ ที่น่าสนใจสำหรับไทย โดยเฉพาะในปี 2558 ทั้ง 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน จะมีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งถือเป็นตลาดเดียวที่มีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน จึงเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการของขวัญของไทย น่าจะเข้าไปขยายตลาดได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรรายได้ปานกลางขึ้นไปในสัดส่วนที่สูงอาทิ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV(กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม) ซึ่งมีการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ภายใต้แรงจูงใจจากค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ รวมทั้งการมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าทั้งน้ำมัน แร่ธาตุ และป่าไม้อุดมสมบูรณ์ จนทำให้ประเทศเหล่านี้ มีประชากรกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมา ไทยจะมีปัญหาเรื่องต้นทุนการแข่งขันด้านราคา จึงมักเน้นการทำตลาดแบบรับคำสั่งซื้อในปริมาณมากเพื่อลดต้นทุน และสามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่น เช่น จีน และสินค้าท้องถิ่นที่มีต้นทุนต่ำกว่าได้ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปลักษณ์สินค้าที่โดดเด่น มีคุณภาพ ช่วยสร้างความแตกต่างเมื่อเทียบกับสินค้าคู่แข่ง ประกอบกับวัฒนธรรม ประเพณี ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก จึงทำให้รูปแบบสินค้าของไทยน่าจะสอดคล้อง และเป็นที่ต้องการของตลาดในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง
ตลาดอาเซียน: โอกาสในการขยายการส่งออกของขวัญของไทย
อาเซียน นับว่าเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสินค้าของขวัญที่ไทยมีโอกาศขยายตลาดค่อนข้างสูง แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มของขวัญของไทยไปยังตลาดอาเซียนในปี 2554 ยังคงมีมูลค่าส่งออกเพียง 22.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.1 ของมูลค่าการส่งออกของขวัญทั้งหมด แต่อัตราการขยายตัวในการส่งออกสูงถึงร้อยละ 23.5 (YoY) ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง หากเทียบกับการขยายการส่งออกไปยังตลาดหลักเดิม ทั้งนี้ อาเซียนเป็นตลาดที่มีความต้องการนำเข้าสินค้าในกลุ่มของขวัญ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขยายการนำเข้าสินค้าดังกล่าวในปี 2554 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีอัตราสูงถึงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยคาดว่าการนำเข้าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
ð     ความต้องการของสินค้าในกลุ่มของขวัญที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และระดับรายได้ต่อหัวของประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยรายได้ต่อหัวของประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ยกเว้นประเทศบูรไน) โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9-12 ต่อปี
ð     โอกาสในการขยายตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายในอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มของที่ระลึก และของชำร่วย โดยในช่วงที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายในอาเซียนโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 78 ล้านคน โดยประเทศที่มีโอกาสขยายตลาดสินค้าของขวัญสำหรับนักท่องที่ยวชาวต่างชาติได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรมองข้ามกลุ่มประเทศCLMV(กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม) ซึ่งกำลังเปิดประเทศรับการลงทุนตลอดถึงนักท่องเที่ยว ทำให้จำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางไปประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอัตราสูง และจะเป็นตลาดรองรับสินค้าของขวัญ ของชำร่วย ที่มีอนาคตสำหรับไทย
ð     นอกจากนี้ การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนในการขยายตลาดของไทบไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากAEC จะช่วยให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและวัตถุดิบระหว่างประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนได้สะดวก และเสรีมากขึ้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันสินค้าในกลุ่มของขวัญจากไทย แม้ว่าจะไม่ได้เป็นแหล่งนำเข้าหลักของประเทศในกลุ่มอาเซียน (เป็นแหล่งส่งออกอันดับ 8 ของอาเซียน) แต่อย่างไรก็ตาม จากโอกาสที่กล่าวมาข้างต้น อาจทำให้ไทยมีแนวโน้มที่จะสามารถขยายมูลค่าการส่งออกมายังตลาดอาเซียนได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน สำหรับสินค้าของขวัญของไทยซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดอาเซียน คือ สินค้าพวกประทีปโคมไฟ (คิดเป็นร้อยละ 83 ของมูลค่าส่งออกของขวัญไปยังอาเซียน) และสินค้าที่ใช้ในการตกแต่งสำหรับช่วงเทศกาลงานรื่นเริงต่างๆ (ร้อยละ 10)
พัฒนาสินค้า & ขยายตลาดส่งออก : สิ่งจำเป็นของผู้ประกอบการ...ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง
                ถึงแม้ว่าสินค้าของขวัญของไทย จะได้รับความนิยมของผู้ซื้อในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ค่อนข้างปานกลาง-สูง ในกลุ่มประเทศสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่ให้ความสนใจปัจจัยทางด้านรูปแบบ คุณภาพสินค้า มากกว่าปัจจัยทางด้านราคา อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ก่อตัวขึ้นในหลายประเทศทั้งยุโรป สหรัฐฯ ตลอดจนถึงญี่ปุ่น รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทำให้ภาคประชาชนของประเทศต่างๆ มีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ประกอบกับ ต้นทุนการผลิตของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าไทยเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปให้กับคู่แข่ง ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ปัจจัยดังกล่าว เป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการในธุรกิจของขวัญของไทย ต้องเร่งปรับตัว รับมือกับปัญหาและอุปสรรคทางการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยมีแนวทางการปรับตัวสรุปได้ ดังนี้
การปรับตัวด้านการผลิต
  • การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการกลุ่มของขวัญของไทย จำเป็นต้องมีการพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากไทยไม่สามารถเน้นใช้ปัจจัยทางด้านราคา เพื่อการแข่งขันหรือการขยายตลาดได้อีกต่อไป เพราะปัจจุบัน มีหลายประเทศที่มีต้นทุนการผลิตสินค้าที่ต่ำกว่า และกำลังกลายเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทย ทั้งในส่วนของจีน อินเดีย รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ฉะนั้น การจะดึงดูดให้ผู้ซื้อหันมาสนใจในสินค้าของไทยมากขึ้น จึงจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ที่ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาใส่เข้าไปในตัวสินค้าเดิม หรือสร้างสินค้าภายใต้รูปแบบและนวัตกรรมใหม่ ซึ่งผลตอบแทนที่จะได้ก็คือ การช่วยให้สินค้ามีความโดดเด่น น่าสนใจ เป็นที่จดจำของกลุ่มลูกค้า และช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขันได้ยั่งยืน นอกจากนี้ การพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องจะช่วยทำให้ธุรกิจมีกำไรต่อหน่วย และผลตอบแทนธุรกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อคุณค่าที่แฝงอยู่ในตัวสินค้า
  • การพัฒนาตราสินค้า ตราสินค้านั้นถือว่ามีประโยชน์ต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก ทั้งการสร้างความแตกต่างให้กับตัวสินค้าของธุรกิจกับสินค้าของคู่แข่ง การสร้างภาพลักษณ์ภายนอกให้รู้ว่า ผู้ที่ใช้สินค้าหรือเครื่องหมายตราสินค้านี้มีรสนิยมและฐานะอย่างไร การสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ซื้อว่าได้สินค้าตรงกับบริษัทผู้ผลิตที่ต้องการ นอกจากนี้ ผู้ผลิตที่มีเครื่องหมายตราสินค้าที่แข็งแกร่ง และมีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จะมีความสามารถหรืออำนาจต่อรองทางด้านราคาได้สูงกว่าสินค้าที่ไม่มีตราสินค้าของตนเอง ประการสำคัญ ยังช่วยให้สินค้านั้นมีความสามารถการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย
  • การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละตลาด การเรียนรู้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้ซื้อในแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะแตกต่างกันทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีการดำรงชีวิต ส่งผลทำให้แต่ละประเทศมีความต้องการหรือชื่นชอบในรูปแบบ สี ประเภทวัสดุที่ใช้ผลิต รวมทั้งลักษณะสินค้าที่แตกต่างกัน อาทิ ผู้ซื้อบางกลุ่มต้องการสินค้าที่เน้นวัสดุที่มาจากธรรมชาติหรือวัสดุที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม  ผู้ซื้อบางกลุ่มให้ความสนใจกับสินค้าที่เน้นศิลปะหรือบ่งบอกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้น การศึกษาพฤติกรรมของแต่ละตลาดอย่างถ่องแท้ จะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถผลิตสินค้าที่ตรงตามความต้องการของแต่ละตลาดได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยทำให้สินค้ามีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น
  การปรับตัวด้านการตลาด
  •  เร่งแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ ปัจจุบัน ไทยมีการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักอันได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่เป็นตลาดส่งออกดั้งเดิมมานาน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 70 ถือเป็นความเสี่ยงทางด้านการพึ่งพาตลาดสูง เพราะหากประเทศเหล่านี้ ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยในระดับที่รุนแรงพอสมควร ฉะนั้น การเร่งแสวงหาโอกาสทางตลาดที่มีศักยภาพ จะสามารถใช้ชดเชยตลาดหลักอย่างสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ที่กำลังเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลาดที่มีศักยภาพในการขยายตลาดในอนาคต ได้แก่ ตลาดจีน อินเดีย และอาเซียน
  •  การนำสินค้าไปนำเสนอในตลาดส่งออกใหม่ๆ เนื่องจาก จีน อินเดีย และอาเซียน เป็นตลาดส่งออกใหม่ที่สินค้าของขวัญของไทย เข้าไปทำตลาดยังไม่มากนัก ผู้ซื้อจากประเทศเหล่านี้ จึงยังไม่ได้รับทราบถึงรูปแบบและคุณภาพสินค้าของไทยเท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ขาย ได้มาพบกัน ผู้ประกอบการของไทย ควรให้ความสนใจเดินทางไปจัดงานแสดงสินค้า โฆษณาประสัมพันธ์และเผยแพร่ เพื่อสร้างการรับรู้ในตัวสินค้า รวมทั้งเพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของสินค้าไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแสดงสินค้าในประเทศที่มีขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรมาก เช่นจีน และอินเดีย ดังนั้น การรวมกลุ่มผู้ประกอบการ พร้อมๆกับความร่วมมือจากภาครัฐ เพื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้า จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้เป็นอย่างมาก
  • การขยายตลาดไปสู่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นอกเหนือจากตลาดผู้ซื้อที่เป็นคนท้องถิ่นในประเทศผู้นำเข้าแล้ว ผู้ประกอบการควรพิจารณาขยายตลาดของขวัญของที่ระลึก ไปสู่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติของประเทศนั้นๆด้วย และเนื่องจากผู้ซื้อที่เป็นคนในท้องถิ่นกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อาจมีรสนิยมและความชื่นขอบในรูปแบบสินค้าที่แตกต่างกัน ดังนั้น การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปจับตลาดผู้ซื้อทั้งสองกลุ่ม จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการออกแบบสินค้า ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการสินค้าของผู้ซื้อควบคู่กันด้วย

บทสรุป

ความต้องการสินค้า ของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้านในตลาดโลก แม้ว่าจะมีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น ตามจำนวนประชากรและกำลังซื้อของโลกที่ปรับสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้ก็นับว่ามีแนวโน้มการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตโดยประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า ที่เข้ามาแข่งขันในตลาดส่งออกหลัก จนทำให้ส่วนแบ่งตลาดของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลเป็นแรงผลักดันทำให้ผู้ประกอบการของไทย จำเป็นต้องลดการแข่งขันในตลาดที่เน้นปัจจัยทางด้านราคา และหันมาพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งรูปแบบและความหลากหลายของสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม ในขณะเดียวกัน ก็ควรเร่งแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆที่มีศักยภาพเพิ่มเติม เพื่อเป็นการรองรับในกรณีที่ตลาดดั้งเดิมมีปัญหา และยังช่วยขยายตลาดส่งออกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ประการสำคัญ เพื่อเรียนรู้และเข้าถึงความต้องการของลูกค้า ผู้ประกอบการไทยควรหาโอกาสเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การผลิตสินค้าสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงในแต่ละตลาด ซึ่งจะช่วยให้สินค้าไทยมีศักยภาพการส่งออกอย่างยั่งยืน



[1] กรมส่งเสริมการส่งออก
[2] สินค้ากลุ่มของขวัญประกอบไปด้วยสินค้า 8 ประเภท อันได้แก่ ของใช้ในเทศกาล,รูปแกะสลัก,กรอบรูปไม้,เทียนไข,ของชำร่วย,ดอกไม้ประดิษฐ์,ร่ม,ประทีปโคมไฟ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

K-SME Analysis ธุรกิจชานมไข่มุก จากไต้หวัน