ปัจจัยสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการในการทำธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการในการทำธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกรกฎาคม 2554 “แฟรนไชส์การศึกษา” ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับความสนใจทั้งในแง่การลงทุน และการเติบโตของธุรกิจ ทั้งธุรกิจที่มาจากต่างประเทศ และภายในประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากเป้าหมายที่สำคัญของการใช้บริการ ก็เพื่อเสริมสร้างความรู้และความสามารถของผู้เรียน พัฒนาศักยภาพทางด้านการเรียนและการทำงาน รวมถึงการควบคุมสภาวะทางอารมณ์ของผู้เรียนให้มีสมาธิ พัฒนาระบบความคิดให้เป็นลำดับขั้นมากยิ่งขึ้น จากสภาพสังคมในปัจจุบัน ที่การดำเนินชีวิตมีการแข่งขันสูงในแทบทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษา เป็นแรงผลักดันให้ผู้ปกครองพร้อมทุ่มเทให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาและแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดมาก่อนเรื่องอื่นๆ เพื่อวางแผนอนาคตที่ดีให้แก่บุตรหลาน ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่จะต้องพยายามพัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น การลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา กำลังเป็นที่นิยมของผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ(Start-up business) โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เนื่องจากบริษัทเจ้าของสิทธิ์หรือบริษัทแม่ส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในวงการการศึกษา มีมาตรฐานและผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล ประกอบกับแฟรนไชส์ยังมีการถ่ายทอดประสบการณ์ ขั้นตอนการประกอบธุรกิจ การออกแบบตกแต่งร้าน การจัดหาอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการฝึกอบรมพนักงานและบุคลากรให้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถเปิดกิจการและดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว และมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากกว่าเริ่มดำเนินธุรกิจด้วยตนเองส่งผลให้ในแต่ละปีมีผู้ประกอบการรายใหม่ได้ให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำหรับในประเทศไทยถือว่ายังมีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะการขยายสาขาเข้าสู่ตลาดต่างจังหวัด ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจจะลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา จึงควรศึกษาลักษณะและประเภทแฟรนไชส์การศึกษาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่นำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางการแข่งขันที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะข้างหน้า ดังนี้
ประเภทของแฟรนไชส์การศึกษา
แฟรนไชส์การศึกษาที่เปิดให้บริการในปัจจุบันนั้น มีความหลากหลายและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเภทหลักๆ ได้ ดังต่อไปนี้ สถาบันสอนวิชาสามัญ และกวดวิชา อาทิ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคม ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา เป็นต้น โดยมีกลยุทธ์ในการดึงดูดผู้เรียน ทั้งการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายรูปแบบ ที่มีตั้งแต่การสอนตามหลักสูตรในเบื้องต้น ตลอดจนเทคนิคการทำข้อสอบ รวมถึงแนะแนวข้อสอบ เพื่อใช้ในการสอบวัดผลปลายภาค และการสอบแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น วิธีการสอนมีทั้งการเรียนแบบตัวต่อตัว การเรียนเป็นกลุ่ม ตลอดจนการเรียนผ่านระบบโทรทัศน์วงจรปิด เป็นต้น ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาในลักษณะนี้ มีแนวโน้มการตัดสินใจเลือกเรียนของผู้เรียน จะขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของอาจารย์ผู้สอน และคุณภาพของหลักสูตรเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีการการันตีผลการเรียนจากจำนวนนักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกในแต่ละปี ทั้งการสอบตามหลักสูตรของโรงเรียน การสอบเอ็นทรานซ์ และการสอบคัดเลือกต่างๆ เพื่อเป็นการตอกย้ำความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของสถาบัน สถาบันเสริมทักษะ จำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
หลักสูตรเสริมทักษะด้านภาษา อาทิ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแบ่งออกได้ตามกลุ่มผู้เรียน ทั้งในระดับผู้ใหญ่ และสำหรับเด็ก ซึ่งผู้ที่สนใจเรียนด้านภาษาจะมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทักษะทางภาษาของตนให้เกิดความเชี่ยวชาญ เพื่อประโยชน์ในด้านการเรียนและการทำงานเป็นสำคัญ โดยที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดของธุรกิจกลุ่มนี้มีการขยายตัวสูง แต่ในปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว แต่จะคงมีการเติบโตอยู่ในส่วนของธุรกิจที่มีชื่อเสียงเท่านั้น ปัจจุบันได้มีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น เสริมกับการสอนในขั้นพื้นฐานที่มีอยู่แล้วในตลาด เช่น หลักสูตรการสอนออกเสียง หรือการสนทนาเพื่อให้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นต้นทั้งนี้ เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคม1
หลักสูตรการเสริมทักษะทางเลือกอื่น โดยส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันที่พัฒนาทักษะเฉพาะด้าน และมีความเฉพาะเจาะจง อาทิ การเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ จินตคณิต ภาษา ศิลปะ ดนตรี กีฬา ร้องเพลง คอมพิวเตอร์ เต้นรำ ทำอาหาร เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนจะเน้นการสร้างเสริมพัฒนาการทางสมอง ความคิดและความจำ โดยสถาบันเสริมทักษะทางเลือกเหล่านี้ ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวสูง กระจุกตัวอยู่ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่และย่านชานเมืองสำคัญ ส่วนใหญ่จะเน้นกลุ่มลูกค้าตั้งแต่วัยเด็กเล็กจนถึงวัยประถม เนื่องจากผู้ปกครองจะให้ความสำคัญในการส่งบุตรหลานเข้าเรียน เพื่อเสริมทักษะไปพร้อมกับการเรียนในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ทำให้เด็กมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีกระบวนการทางความคิดเป็นลำดับขั้นตอน มีสมาธิ มีเหตุมีผล รวมทั้งเป็นการเสริมความสามารถพิเศษให้แก่เด็ก เพื่อใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ปัจจุบัน สถานะของธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา มีจำนวนทั้งสิ้น 54 กิจการ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 87 ของแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาทั้งหมด เป็นแฟรนไชส์ประเภทสถาบันเสริมทักษะ ทั้งในส่วนของทักษะทางด้านภาษาและทักษะทางเลือกอื่นๆ ที่เหลืออีกร้อยละ 13 เป็นแฟรนไชส์ประเภทสถาบันสอนวิชาสามัญและกวดวิชา ซึ่งสามารถจำแนกประเภทตามมูลค่าการลงทุน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
จำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา
ที่มา: www.thaifranchisecenter.com (ข้อมูลล่าสุด 22/07/2554) รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย หมายเหตุ: มีจำนวน 2 กิจการที่ไม่เปิดเผยข้อมูลการลงทุน ซึ่งจัดอยู่ในประเภทของสถาบันเสริมทักษะด้านภาษา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคการลงทุนในธุรกิจแต่ละประเภท ดังนี้
สถาบันสอนวิชาสามัญ และกวดวิชา
จุดแข็ง (Strength) 1. ชื่อเสียงของบุคลากรผู้สอน และการการันตีผลการเรียนและผลการสอบ เป็นการตอกย้ำความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของสถาบัน 2.มีกลยุทธ์ในการดึงดูดผู้เรียน ทั้งการจัดการเรียนการสอนและวิธีการนำเสนอ เทคนิคการสอนที่หลากหลายรูปแบบ 3. สถาบันส่วนใหญ่มีมาตรฐานการเรียนการสอนที่เป็นที่ยอมรับ มีการรับรองหลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการ
จุดอ่อน (Weakness) 1. พฤติกรรมของเด็กนักเรียน จะมีความจงรักภักดีและเชื่อมั่นในแบรนด์ดังๆ เท่านั้น โดยส่วนใหญ่แล้วยังเป็นการเรียนแบบตามๆ กันอยู่ ในลักษณะของการบอกต่อ 2.การตัดสินใจของผู้เรียนขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของผู้สอน ดังนั้น ผู้สอนจะต้องมีทักษะความชำนาญเฉพาะด้าน หรือมีชื่อเสียงในวงการการศึกษาอย่างกว้างขวางและมีผลงานเป็นที่ยอมรับ ซึ่งค่อนข้างหายาก
โอกาส (Opportunities) 1.อัตราการแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาชั้นนำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนเด็กที่เรียนโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี คาดว่า ในปี 2554 เด็กนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนกวดวิชาจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 500,000 คน 2.การนำเสนอกลยุทธ์ที่เน้นครูผู้สอนที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ กำลังสร้างกระแสความนิยมในกลุ่มผู้เรียนวัยรุ่นมากขึ้น ด้วยลักษณะการถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบที่ทันสมัยและเข้าใจได้ง่าย เน้นสื่อการสอนที่น่าสนใจ หลักสูตรใหม่ๆ ที่เข้าใจไม่ยากและสนุก
อุปสรรค (Threats) 1. มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา รายใหญ่ๆ ซึ่งเป็นผู้นำในตลาด และมีชื่อเสียงยาวนาน 2. ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน และโครงสร้างของระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในรูปแบบใหม่อยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องการออกแบบ "เนื้อหาหลักสูตร” ส่งผลให้มีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น 3.การหาทำเลที่เหมาะสมในการเปิดกิจการค่อนข้างยาก เพราะคู่แข่งเปิดตัวอยู่ก่อนแล้ว หรือทำเลที่ดีมักมีราคาค่าเช่าหรือราคาขายที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะแหล่งศูนย์การค้า หรือแหล่งใกล้สถานศึกษา
สถาบันเสริมทักษะ
จุดแข็ง (Strength) 1. เป็นธุรกิจที่มีความแปลกใหม่ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี 2.รูปแบบการเรียนการสอน บรรยากาศในห้องเรียน เป็นธรรมชาติ ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย มีความสนุก ทำให้เกิดความประทับใจและสนใจที่จะเรียนรู้มากขึ้น 3.สถาบันเสริมทักษะแต่ละประเภทมีความชำนาญเฉพาะด้าน มีการสร้างจุดเด่นและความแตกต่าง เพื่อดึงดูดกลุ่มค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน
จุดอ่อน (Weakness) 1. การวัดประสิทธิผลในบางหลักสูตรไม่สามารถวัดผลได้ในระยะสั้น ทำให้ในบางสถาบันกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจำเป็นต้องเรียนอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป 2.ค่าใช้จ่ายในการเรียนการสอนค่อนข้างสูง ผู้ประกอบต้องสรรหากลยุทธ์ใหม่ๆ ในการดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง 3.บุคลากรต้องมีทักษะเฉพาะด้าน การฝึกอบรมต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดความชำนาญ อีกทั้งยังหายาก และมักจะถูกดึงตัวจากคู่แข่ง
โอกาส (Opportunities) 1. ฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครองระดับกลางถึงบน มีกำลังซื้อสูงในการจ่ายค่าเล่าเรียน เพื่อปูพื้นฐานการเรียนรู้ให้แก่เด็กตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคตของบุตรหลาน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเด็กเล็ก 2. ตลาดต่างจังหวัดยังมีโอกาสและทำเลที่น่าสนใจอยู่มาก เหมาะแก่การขยายสาขา เนื่องจากโดยส่วนใหญ่มักจะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯและแถวชานเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น 3.กลุ่มผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ให้ความสำคัญด้านภาษามากขึ้นเพื่อประโยชน์ในการทำงาน
อุปสรรค (Threats) 1. ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิขสิทธิ์ แฟรนไชส์จากต่างประเทศ 2.คู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกัน มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งในเรื่องทำเลที่ตั้ง หลักสูตร โปรโมชั่น เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ 3.บุคลากรในกลุ่มสถาบันเสริมทักษะทางเลือกที่มีกลุ่มกลุ่มลูกค้าเด็กเล็ก หากมีการเปลี่ยนงานบ่อยอาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ ตลอดจนทัศนคติของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์
ปัจจัยสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการในการทำธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา
ปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาให้ประสบผลสำเร็จและอยู่ได้ในระยะยาวนั้น ผู้ประกอบการควรจะคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ดังนี้ ผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจในธุรกิจการศึกษาอย่างถ่องแท้ เนื่องจากธุรกิจการศึกษาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ดังนั้น ประเด็นที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ คือ ควรมีความถนัดกับธุรกิจหรือรายวิชาที่จะเลือกลงทุน เพราะธุรกิจการศึกษาผู้ประกอบการจะต้องลงไปคลุกคลีมากกว่าธุรกิจอื่นๆ2 กล่าวคือ ผู้ประกอบการจะต้องสามารถให้คำปรึกษาในเรื่องของการศึกษาแก่กลุ่มผู้ปกครองได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านการบริการที่ดี นอกจากนี้ ปัจจัยความสำเร็จหลักๆ ยังขึ้นอยู่กับ การวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งที่ศักยภาพที่สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ หลักสูตร ความพร้อมของผู้ประกอบการ การสร้างตลาด คุณภาพการสอนของบุคลากรและการสร้างความพึงพอใจในการให้บริการ ตลอดจนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันกับคู่แข่งหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของลูกค้าอยู่เสมอ รวมทั้งควรมีการตรวจสอบผลตอบรับอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย กำไร ชื่อเสียงและภาพพจน์ ต้องมีการประชุมระหว่างผู้ประกอบการและบริษัทแม่อยู่เสมอ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันเป็นสำคัญ การเลือกประเภทธุรกิจการศึกษาและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลในประเภทธุรกิจที่จะลงทุนอย่างรอบคอบ รวมถึงกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างชัดเจน อาทิ
ผู้ประกอบการที่สนใจแฟรนไชส์ประเภทสถาบันสอนวิชาสามัญและกวดวิชา ควรเลือกแบรนด์ที่มีความเข้มแข็ง มีผลงานเป็นที่ยอมรับ สามารถพิสูจน์ผลลัพธ์ได้ ซึ่งอาจจะต้องมีมาตรฐานรับรองหลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการในหลักสูตรที่เปิดสอน เป็นต้น
ผู้ประกอบการที่สนใจแฟรนไชส์ประเภทสถาบันเสริมทักษะ ควรเลือกกลุ่มทักษะที่มีจุดเด่นหรือความชำนาญเฉพาะด้าน หากมีจุดขายที่แปลกใหม่และการนำเสนอที่แตกต่าง จะทำให้สามารถดึงดูดผู้เรียนได้มากขึ้น ประการสำคัญก็คือ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ต้องดูดีที่เชื่อถือ ได้รับการรับรองหลักสูตรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้าน ที่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษาความสำเร็จของแฟรนไชส์ในสาขาอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการของแฟรนไชส์ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ควบคู่ไปอีกทางหนึ่ง เพิ่มลดความเสี่ยงในการประกอบกิจการ การรักษามาตรฐานคุณภาพของบุคลากร บุคลากรในสถาบันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการนำไปสู่ความสำเร็จการในบริการจัดการธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา โดยในการคัดเลือกบุคลากรนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีความพิถีพิถันในการคัดเลือก ทั้งจากการคัดเลือกโดยบริษัทแม่และผู้ประกอบการเอง เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจของตนมากที่สุด โดยจะต้องมีการทดสอบระดับความรู้ความสามารถ ความชำนาญ ตลอดจนทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน โดยพนักงานจะต้องถูกฝึกให้ปฏิบัติตามขั้นตอนในแผนปฏิบัติงาน เพื่อให้การบริการเป็นมาตรฐานเดียวกัน ในขณะเดียวกัน ควรมีการตรวจสอบมาตรฐานการสอนของบุคลากรเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ และมีการปฏิบัติตามแนวทางที่บริษัทแม่กำหนดอย่างเคร่งครัด ประการสำคัญ คือ “ผู้ประกอบการควรสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้แก่บุคลากรให้อยู่กับสถาบันในระยะยาว” อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรระลึกอยู่เสมอว่า การมีบุคลากรที่ดี จะเป็นปัจจัยหลักที่สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี และในทางตรงกันข้ามหากบุคลากรขาดคุณสมบัติดังกล่าว ก็จะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของสถาบันและฐานลูกค้าไปได้เช่นกัน การรักษามาตรฐานคุณภาพแฟรนไชส์ เนื่องจากการขายธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา เป็นการขายระบบการจัดการธุรกิจ ไม่ใช่การขายสินค้า ดังนั้น สิ่งที่เป็นจุดเด่นหรือจุดขายที่สำคัญของธุรกิจนี้ คือ “ระบบงานที่มีมาตรฐาน” กล่าวคือ “มีการกำหนดวิธีการทำงานที่เป็นมาตรฐานและสอดคล้องกัน จนเป็นกระบวนการที่สามาถควบคุมและวัดผลได้” ซึ่งเป้าหมายของระบบงานจะมีหลายด้านไม่ว่าจะเป็น การจัดทำแผนกลยุทธ์ การควบคุมการจัดการ การควบคุมการปฏิบัติการ การควบคุมคุณภาพการให้บริการ เป็นต้น โดยถ้ามองในแง่ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ มาตรฐานก็คือ ไม่ว่าจะมาตรฐานการให้บริการที่สาขาใด สิ่งที่ได้รับต้องเหมือนกัน3 ซึ่งหากผู้ประกอบการขาดการรักษามาตรฐานแฟรนไชส์สาขาของตนแล้ว จะทำให้สูญเสียภาพลักษณ์ของสถาบัน รวมไปถึงลูกค้าที่จะเปลี่ยนไปใช้บริการสาขาอื่นๆ หรือคู่แข่งโดยทันที การบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดกำไรสูงสุด เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาต้องอาศัยเงินลงทุนค่อนข้างสูง ดังนั้น ประเด็นสำคัญในการบริหารธุรกิจให้เกิดกำไร จึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำการตลาดให้มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้ามาเรียนอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนมากและสม่ำเสมอ4 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้นอกเหนือจากคุณภาพของหลักสูตรและบุคลลากรเป็นสำคัญแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำการตลาดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น
ในช่วงก่อนเปิดสถาบัน ควรมีการทำการตลาดล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 เดือน โดยการประชาสัมพันธ์แนะนำสถาบันผ่านป้ายแบนเนอร์ โบว์ชัวร์ต่างๆ ตามแหล่งสถานศึกษาและศูนย์การค้าในบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนการนำเสนอโปรโมชั่นที่น่าสนใจแก่ลูกค้า เพื่อสร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักอย่างแพร่หลายเสียก่อน เช่น การทดลองเรียนฟรี (ระยะสั้น) การซื้อคอร์สหนึ่งแถมหนึ่ง เป็นต้น
ในระยะยาว ควรมีการทำโปรโมชั่นกระตุ้นลูกค้าเป็นระยะๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแฟรนไชส์กับลูกค้า เช่น การร่วมจัดโปรโมชั่นตามฤดูการศึกษา การคืนกำไรให้แก่ลูกค้าเก่าเพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษ เช่น การลดราคาคอร์สในราคาสมาชิก หรือการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กับพันธมิตรร่วมธุรกิจการศึกษาอื่นๆ เป็นต้น ควรมีติดตามระบบการศึกษาของภาครัฐอยู่เสมอ ผู้ประกอบการจะต้องมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโนบายการศึกษาของไทยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายภาครัฐที่มีต่อระบบการศึกษาของไทย เช่น ระบบการนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเรียนการสอน ข้อกำหนดในระบบรับเข้าศึกษาต่อในระดับต่างๆ โดยผู้ประกอบการอาจจะต้องพิจารณาการเพิ่มหลักสูตร หรือมีวิธีการปรับการเรียนการสอน หรือนำเทคโนโลยีต่างๆ มาเป็นส่วนสนับสนุนในการให้บริการควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น โดยสรุป ปัจจัยในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ประสบผลสำเร็จในระยะยาว ประเด็นสำคัญ คือ ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ให้ครอบคลุม ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกลงทุนในแฟรนไชส์แต่ละประเภท ความถนัดกับธุรกิจหรือรายวิชาที่จะเลือกลงทุน การวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งที่มีความเหมาะสมที่จะสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้เข้ามาเรียนอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนมากและสม่ำเสมอ ตลอดจนการคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในรูปแบบที่มี เอกลักษณ์ของแต่ละแฟรนไชส์ และประการสำคัญ ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้มีความแตกต่างจากคู่แข่ง อยู่เสมอ ภายใต้การรักษามาตรฐานการให้บริการของแฟรนไชส์ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจในการให้บริการ ตลอดจนเป็นการรักษาฐานลูกค้าเก่าและเป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ให้เพิ่มมาก ขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อที่จะทำให้สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น และสามารถนำพาธุรกิจให้ดำเนินไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต------------------------------------------------------------------------------------------------ 1 ผู้จัดการรายสัปดาห์ มกราคม 25502 ผู้จัดการรายสัปดาห์ มกราคม 25503 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า4 นิตยสารโอกาสธุรกิจ&แฟรนไชส์ เดือน สิงหาคม-กันยายน 2552 เรื่อง เปิดโผธุรกิจเด็ก ไอเดียเด็ด สร้างเงินได้แหล่งที่มาข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าบทวิเคราะห์อุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (www.sme.go.th)นิตยสารโอกาสธุรกิจ&แฟรนไชส์ (www. franchisefocus.com)ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย (www.thaifranchisecenter.com)www.franchise-vistion.com

http://www.ksmecare.com/Article/64/23453/%e0%b8%9b%e0%b8%b1%e0%b8%88%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%a2%e0%b8%aa%e0%b8%b9%e0%b9%88%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%aa%e0%b8%b3%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b9%87%e0%b8%88%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%98%e0%b8%b8%e0%b8%a3%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b9%81%e0%b8%9f%e0%b8%a3%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%8a%e0%b8%aa%e0%b9%8c%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%a8%e0%b8%b6%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%b2

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

K-SME Analysis ธุรกิจชานมไข่มุก จากไต้หวัน