ขอรัฐบาลใหม่เอาใจใส่ AEC


ขอรัฐบาลใหม่เอาใจใส่ AEC

ศุกร์ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๔

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เชิญ ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์ พูด ‘สิทธิเด็กไทยกับประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2558’ ให้ผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียน และศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศ 350 คน เวลา 10.00-12.00 น. เสาร์พรุ่งนี้ ที่ชลพฤกษ์รีสอร์ท จ.นครนายก

กลับมาเยี่ยมเมืองไทยครั้งนี้ ผมทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยคุณนิติภูมิออกไปโน่นมานี่เกือบทุกวัน อย่างวันนี้ก็ตามไปฟังถึง 2 แห่ง ตอนเช้าที่พัทยา เรื่องผลกระทบ AEC ต่อเศรษฐกิจและการค้าของไทย ผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นเจ้าของโรงงานในจังหวัดระยอง ชลบุรี และสมุทรปราการ พอมาถึงตอนบ่าย ผมก็ไปตามไปฟังท่านพูดให้นายกเทศมนตรีและผู้นำองค์กรส่วนท้องถิ่น 200 คน ที่บางแสน

คำถามจากผู้มาฟังคำบรรยายทั้ง 2 งาน ทำให้ผมรู้เลยครับว่า ความกระหายใคร่รู้ของสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่อง AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นมีสูงมาก คำถามยอดฮิตก็คือ พวกผมนักอุตสาหกรรมจะต้องเตรียมตัวยังไง? นายกเทศมนตรีบางท่านกลัวถึงขนาดขอให้รัฐบาลใหม่หยุดเรื่อง AEC เอาไว้ก่อน ซึ่งผมขอเรียนย้ำซ้ำอีกครั้งว่า ถึงตอนนี้ เราหยุด AEC ไม่ได้หรอกครับ

เก็บตกจากการสนทนา ได้ความรู้ว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องอย่ากลัวเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะมาถึงอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม 2558 พวกเราต้องวิ่งเข้าหา AEC ต้องจับกลุ่มกันบรรยายอภิปรายเรื่อง AEC ให้กระหึ่มกันทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนคนไทยในทุกตรอกซอกมุมได้เข้าใจ AEC เมื่อเข้าใจอย่างละเอียดถ่องแท้ตั้งแต่ ก.ไก่จนถึง ฮ.นกฮูกแล้ว ผมว่าเราก็จะไม่เสียเปรียบประเทศไหน ชาติใดดอกครับ

ที่เยาวชนและผู้คนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนควรทราบก็คือ ความสำคัญของอาเซียน, อาเซียน+3 อาเซียน หรือแม้แต่อาเซียน+6 เรื่องการเปลี่ยนผ่านจาก AFTA ไปเป็น AEC เรื่องการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน เรื่องรายละเอียดการเปิดเสรีการค้าภาคบริการ เรื่องการถือหุ้นภายใต้ AFAS เรื่องผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อธุรกิจประเภทต่างๆ ฯลฯ

น่าเสียดายที่รัฐบาลที่ผ่านมาเอาเรื่องของ AEC ไปไว้ในบางกระทรวงที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ เราจึงเสียเวลาไปหลายปีกับโอกาสที่จะร่วมกันผลักดันให้ประชาชนคนไทยเข้าใจเรื่องอาเซียนและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ที่จริงเราน่าจะเผยแพร่เรื่อง AEC โดยผ่านกระทรวงทบวงกรมที่มีเครือข่ายระโนงโยงใยไปทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด อย่างกระทรวงมหาดไทย หรือผ่านสหกรณ์ประเภทต่างๆ ซึ่งมีสมาชิกและครอบครัวรวมแล้วมีมากกว่าสิบล้านคน หากท่านให้ความรู้ผู้คนผ่านกระทรวงทบวงกรมที่ผมเอ่ยชื่อไปแล้วและสหกรณ์นี่ ป่านนี้ ครูสมชาย กำนันสมหมาย ทนายสมศักดิ์ ผู้ใหญ่สมรักษ์ ปลัดสมคิด ก็คงเข้าใจ AEC กันมากกว่านี้ รัฐบาลท่านพลาดไปนิดตรงที่ใช้คนไม่เหมาะสมกับงาน

เรื่องที่ผ่านไปแล้วก็ไม่เป็นไรครับ เวลาที่เสียไป เอากลับมาไม่ได้ ที่เราต้องเร่งทำให้ประชาชนคนไทยเข้าใจกันใหม่ก็คือ อย่ากลัว AEC แต่ขอให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กแบเดิมๆ ให้ไปเป็นการบริหารแบบมืออาชีพ สู้กับผู้ประกอบการที่เป็นนักลงทุนในภูมิภาคได้ อีกเรื่องที่ต้องช่วยกันกระตุ้นผู้ประกอบการชาวไทยก็คือ ขอท่านอย่าทำงานคนเดียว ต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ เพื่อลดต้นทุน เพื่อสร้างพลังให้ยิ่งใหญ่ในด้านการตลาด

ผู้ประกอบการชาวไทยของเราบางท่าน ไปพบโอกาสอันยิ่งใหญ่ทางด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ ท่านก็งุบงิบๆ ทำคนเดียว กลัวผู้ประกอบการคนอื่นเข้าแข่ง ท่านทำคนเดียวเล็กๆ ไม่มีพลังต่อรอง ไม่มีพลังทางการตลาด สุดท้าย เมื่อท่านเจอกับผู้ประกอบการรายใหญ่จากประเทศอื่น ซึ่งมากันเป็นกองทัพ ท่านก็ไม่มีกำลังพอที่จะไปต่อกรด้วย สุดท้ายก็แพ้

รัฐบาลใหม่ควรจัดงบประมาณให้นักวิชาการไปทำวิจัยในเชิงลึก เอากันให้รู้อย่างแน่แท้จริงว่า หลังจาก 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ธุรกิจอะไรจะอยู่ได้ ธุรกิจอะไรจะล้มหายตายจากไป ศึกษากันให้มันรู้กันไปเลยว่า สำหรับธุรกิจ A นั้น ผู้ประกอบการชาวไทยมีจุดแข็งอะไร มีจุดอ่อนอะไร และผู้ประกอบการจากอีก 9 ประเทศในกลุ่มอาเซีย มีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไรในธุรกิจประเภทนี้

ผมอยากขอให้รัฐบาลใหม่คิดถึงผู้ประกอบการให้มากกว่านี้สักหน่อย ไม่ว่าผู้ประกอบการขนาดไหน ใหญ่ กลาง หรือเล็ก ล้วนเป็นทรัพยากรมนุษย์ชั้นสำคัญของประเทศ ที่รัฐบาลจะต้องลงทุนให้ความรู้ การลงทุนต้องทำทั้งผ่านสถาบันการศึกษา การอบรม สื่อมวลชน ฯลฯ

ที่ผ่านมา เราทั้งหลายพูดถึง AEC กันแต่ในเชิงรับ ผมก็จะขอให้รัฐบาลใหม่ท่านทำในเชิงรุกบ้าง ขอให้รัฐบาลสร้างเครื่องมือขนาดใหญ่ เพื่อเอาไปใช้ทะลุทะลวงให้โอกาสเปิดสำหรับประชาชนคนไทยได้ไปสู้ในประเทศอื่นบ้าง ต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของเราเป็นฝ่ายรุกบ้าง ไม่ใช่เป็นฝ่ายรอเขาบุกอย่างเดียว หากผู้ที่มีสื่อและงบประมาณอยู่ในมืออย่างรัฐบาลไม่กระตุ้นให้ประชาชนคนของตนตื่นตัว ผู้ประกอบการไทยก็คงจะวนอยู่กับสภาพ 3 ไม่ เหมือนอย่างที่อาจารย์ อัทธิ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้าน AEC ท่านเคยพูดไว้ ซึ่งก็คือ ไม่เชิงรุก ไม่ตื่นตัว และไม่รวมตัว

อีกไม่ถึง 4 ปีแล้วนะครับ ที่คนอาเซียนจะมีสินค้าและบริการราคาถูก แต่คุณภาพดี บริโภคกันมากขึ้น ผู้ประกอบการประเทศไหนผลิตสินค้าและบริการออกมาในราคาแพง คุณภาพไม่ดี ก็ขายไมได้ และต้องล้มหายตายจากไปจากตลาดแน่นอน ผมมีความเชื่อว่า ต่อไปในภูมิภาคของเราจะมีคำว่า ASEAN Standard เกิดขึ้น และสินค้าและบริการของผู้ประกอบการจากประเทศไหนผลิตออกมาไม่ได้มาตรฐาน ASEAN Standard สินค้าและบริการประเภทนั้นก็จะไม่ได้รับความนิยม

รัฐบาลควรสร้างหลักสูตร ‘การค้าการลงทุนในอาเซียนสำหรับ SMEs’ เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยสามารถออกไปค้าขายและลงทุนในอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาด้วยความหวังว่า รัฐบาลใหม่จะเอาใจใส่เรื่อง AEC และวางแผนป้องกันผลกระทบที่จะมาจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียสมบูรณ์หลัง 1 มกราคม 2558 ครับ.

http://www.norsorpor.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/n2550795/%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B9%83%E0%B8%AA%E0%B9%88%20AEC

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

K-SME Analysis ธุรกิจชานมไข่มุก จากไต้หวัน