งานสัมมนา AEC เชียงราย4จังหวัดภาคเหนือ

เชียงราย - กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ร่วมกับหอฯ 4 จว.ล้านนาตะวันออก เปิดเวทีติวเข้มผู้ประกอบการรับ AEC พร้อมระดมนักวิชาการ-ตัวแทนเอ็กซิมแบงก์ ขึ้นเวทีบรรยายยาว 90 ชม. ก่อนขนเถ้าแก่ที่ผ่านทดสอบร่วมเปิดบูทที่หลวงพระบาง-อุดมไชย 2 แขวงลาวที่เชื่อมเวียดนามได้

วันนี้ (2 ส.ค.54) ที่โรงแรมดุสิตไอแลนด์รีสอร์ท เชียงราย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนประกอบด้วย เชียงราย พะเยา แพร่และน่าน ร่วมกับหอการค้า 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้จัดเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ พบทูตพาณิชย์รุกตลาดประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) และจีน มีนายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และทูตพาณิชย์ประจำประเทศต่างในเอเชียใต้และภาคนักธุรกิจ นิสิตนักศึกษาเข้าร่วมเสวนาประมาณ 300 คน
ในการเสวนาได้มีการอภิปรายถึงความพร้อมในการเข้าสู่ตลาด AEC และตลาดจีน เพื่อส่งเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องสามารถทำการค้าและทราบกฎกติกาในการดำเนินธุรกิจการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะจะมีการเปิดการค้าเสรี AEC ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป ตลอดจนข้อดีเรื่องการยกเลิกการห้ามสินค้านำเข้า 15 รายการของประเทศพม่า และการค้าเชิงความสัมพันธ์กับกัมพูชา ที่ปัจจุบันยังมีความขัดแย้งกับประเทศไทยในเรื่องของดินแดนอยู่

นายสมชัย กล่าวว่า เชียงราย มีศักยภาพด้านการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม AEC และจีนตอนใต้ ปีละมหาศาล รวมทั้งมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว การผลิตพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ แต่ที่ผ่านมากลับไม่มียุทธศาสตร์หรือมาตรการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ประเทศอื่นๆ เตรียมความพร้อมแล้วในทุกด้าน โดยเฉพาะจีน ซึ่งทางไทยคงจะไม่แข่งขัน แต่อยากให้เป็นประเทศคู่ค้าหลัก เพราะจีนมีประชาชนมากเป็นตลาดปริโภคใหญ่ หากจีนเติบโตภาคธุรกิจไทยก็เติบโตไปด้วย

ด้านนายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า คาดหวังที่จะให้การเสวนานำไปสู่ขบวนการบูรณาการของภาคธุรกิจที่สามารถเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างประเทศในโซนเอเชียได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งการเพิ่มมูลค่าการค้า การเสริมศักยภาพการแข่งขันกับประเทศอื่นและการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ภาคธุรกิจและนิสิตนักศึกษา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของภาคการค้าการท่องเที่ยวในอนาคต

วันเดียวกันทางกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนทั้ง 4 จังหวัดดังกล่าว ได้จัดการอบรมโครงการส่งเสริมความรู้ผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้สำนักงานพาณิชย์แต่ละจังหวัดได้คัดเลือกผู้ประกอบการเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรจังหวัดละ 25 คนรวมทั้งหมด 100 คน ณ โรงแรมโพธิ์วดล เชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย กำหนดจัดการอบรมเป็นเวลา 90 ชั่วโมง โดยมีวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา วิทยากรจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า กรมส่งเสริมการส่งออก สำนักงานศุลกากรภาค 3 ภาคเอกชนที่มีประสบการณ์

นายเฉลิมพล กล่าวว่า ภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์ของจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 มีความชัดเจนที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและบริการในกลุ่ม GMS หรือกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและกลุ่ม BIMSTEC หรือกลุ่มประเทศความร่วมมือระหว่าง 7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย รวมทั้งยังมีโอกาสไปถึงกลุ่มประเทศอื่นๆ

ดังนั้น ภาคเอกชนจะต้องเร่งปรับตัวพัฒนาความรู้และทักษะทางการค้า เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และเตรียมพร้อมรองรับโอกาสทางการค้าที่จะขยายตัวดังกล่าว ซึ่งผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมจะได้ประโยชน์มาก อย่างน้อยๆ ต้องเขียนแผนธุรกิจของตัวเองได้

นายเฉลิมพล กล่าวอีกว่า ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการค้าอย่างมาก โดยเฉพาะการค้าชายแดนและระหว่างประเทศ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น รถไฟเด่นชัย-เชียงราย สะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เชื่อมกับ สปป.ลาว-จีน ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่สอง เป็นต้น ดังนั้น 90 ชั่วโมงของการอบรมจะมีข้อมูลครอบคลุมทุกด้าน

โดยเฉพาะ 8 หัวข้อหลักคือ การจัดทำแผนธุรกิจ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การเงิน การผลิตและการส่งออก การจัดการทั่วไปและการตลาด การทำธุรกิจเพื่อการส่งออก ธุรกรรมอิเล็คทรอนิคส์ การเจรจาการค้าและเทคนิคการเข้าสู่ตลาด GMS และ BIMSTEC และหลักสูตร Shipping หรือธุรกิจการจัดส่งสินค้า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจะต้องผ่านเกณฑ์อย่างน้อย 70% ขึ้นไป

"หลังการอบรมในเดือน ส.ค.เป็นต้นไป จะมีการทดสอบผู้ประกอบการด้วยการนำไปร่วมออกเปิดร้านหรือบูทสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่แขวงหลวงพระบางและแขวงอุดมไชย สปป.ลาว ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนามได้ด้วย" นายเฉลิมพล กล่าว

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลดหนังสือมานี มานะ ไฟล์ PDF ฟรี ขอบคุณ (ครูเชียงรายดอทเน็ต www.kruchiangrai.net)

รวมมุกขำขำ มุกตลก มุกงานเลี้ยง มุกพิธีกร

K-SME Analysis ธุรกิจชานมไข่มุก จากไต้หวัน